รังสิตมันร้าย! ไม่ใช่แค่ชื่อเพลง แต่ยังเป็นวาทะที่โซเชียลหยิบมาเสียดสีปรากฎการณ์จากข่าว แก๊งโอริโอ้ สู่ แก๊งสาดน้ำซุป สองเหตุการณ์ความรุนแรงจากแก๊งวัยรุ่นที่เกิดขึ้นย่านรังสิต จ.ปทุมธานี
ทั้งสองเหตุการณ์ มีความคล้ายคลึงกันในลักษณะของการใช้ความรุนแรงผสมกับการข่มขู่บังคับ เพื่อให้เหยื่อปฏิบัติตามคำสั่ง รวมถึงมีการบันทึกภาพขณะเกิดเหตุความรุนแรงเอาไว้ด้วย ทั้งภาพจากเหยื่อ ผู้ก่อเหตุ ผู้เห็นเหตุการณ์ และกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ได้
นอกจากนี้ ทั้งสองเหตุการณ์ยังถูกจุดประเด็นมาจาก โซเชียล และได้รับการช่วยเหลือจาก กัน จอมพลัง นักเคลื่อนไหวด้านสังคม ที่เข้ามาช่วยติดตามคดี และทำให้คดีมีความคืบหน้าเร็วกว่าปกติ แรงกดดันจากสังคมและพลังโซเชียล ที่ลุกขึ้นมาทำให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องปกติ
อย่าปล่อยให้ความชินชา กลายเป็นเชื้อเพลิงของความรุนแรง
“ผมดีใจที่กฎหมายบ้านเมืองทำงานได้รวดเร็ว ทฤษฎีพฤติกรรมของคนถ้าจะให้ได้ผลเร็ว พฤติกรรมอะไรก็ตามถ้าคุณจะต้องลงโทษ จับปุ๊บลงโทษ คนจะกลัว แต่ถ้าให้ยั่งยืนพอกลัวแล้ว เราต้องทำให้เห็นว่าคนที่ทำดี ต้องได้ดีด้วย สร้างแรงจูงใจเชิงบวกว่าแจ้งแล้วได้รับคำชื่นชมที่ไม่นิ่งนอนใจ และพอช่วยกันเยอะๆ คนที่ทำผิดมันก็ไม่กล้า”
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าว
นี่เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะช่วยลดพฤติกรรมความรุนแรงในสังคม ที่ นายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยกับสเปซบาร์ พร้อมอธิบายว่า การที่คนในสังคมไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรง ไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ และพร้อมลุกขึ้นมาช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นกระบอกเสียงให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเป็นธรรม คือสิ่งที่จะช่วยให้สังคมจะดีขึ้น

ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในสังคมไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เปิดเผยกับสเปซบาร์ว่า จากการเก็บข้อมูลความรุนแรงที่ปรากฎในข่าว บ่งชี้ว่า ความรุนแรงในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเหตุผลมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันเรามีกล้องอยู่ทุกที่ เกิดเหตุอะไรก็เห็นได้ง่ายขึ้น บางคนเคยยอมถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ยอมแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มสูงขึ้น
สีแรกที่แต้มผ้าคือครอบครัว
นพ.ศรุตพันธุ์ ย้ำว่ารูปแบบการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากในการปลูกฝังความคิดและสร้างตัวตนของเด็ก เช่น หากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทะเลาะกันให้เด็กเห็น หรือขึ้นเสียงใส่กัน เด็กก็จะจำว่าการตีกัน ทำร้ายกัน คือวิธีแก้การปัญหา
พอโตมาเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กจะเริ่มรู้สึกว่าต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม เด็กบางคนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเด่น ก็อาจหันหน้าเข้าสู่หนทางของการเป็นหัวโจก หวังให้คนมาซูฮก และได้รับการยอมรับจากเพื่อน
“ เริ่มต้นเราอาจเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย อาจเห็นว่าพฤติกรรมความรุนแรงตั้งแต่เด็กอาจไม่หนัก เช่น ตีมด มันจะพัฒนาขึ้นจากตีมด เป็นตีหมา ตีแมว ไปทำร้ายคน ไปฆ่าคนมันจะมาแบบนี้ค่อยๆ เพิ่มระดับขึ้น ”
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ นพ.ศรุตพันธุ์ ยกขึ้นมาอธิบายให้เห็นภาพว่า ความรุนแรงที่ผู้ใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หากไม่มีการปลูกฝังหรือสั่งสอนในทางที่ถูกที่ควร สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร้ายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
พฤติกรรมเลียนแบบ และอันตรายจากโลกออนไลน์ที่กำลังออกสู่ชีวิตจริง
นอกจากนี้ นพ.ศรุตพันธุ์ แสดงความเป็นห่วงเรื่อง พฤติกรรมเลียนแบบเชิงลบในเรื่องของความรุนแรง (Copycat) ที่เริ่มพบเห็นมากขึ้น เช่น เห็นเพื่อนไปทำร้ายคนอื่น แล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เจ๋ง ก็จะทำตาม ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเรียนรู้จากสื่อที่นำเสนอพฤติการณ์ความรุนแรงที่ปรากฎในข่าว จึงอยากขอสื่อว่าอย่านำเสนอที่ลงลึกไปในรายละเอียดของพฤติกรรม เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ
อีกปัญหาสังคมที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต นพ.ศรุตพันธุ์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องการนำโลกในออนไลน์มาสู่ชีวิตจริง เช่น พฤติกรรมความรุนแรงต่างๆ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้โทษเกม แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าคนที่แยกแยะเรื่องเกมกับชีวิตจริงไม่ได้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
“ถ้าเขาโตมาแล้ว ครอบครัวไม่ได้สอนสิ่งที่ถูกให้เขา สังคมไม่ได้สอนสิ่งที่ถูกให้เขา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กแย่ลงในอนาคต ถ้าเราเลี้ยงว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ดี เขาก็จะเรียนรู้ในสิ่งที่ดีไป”
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าว
นพ.ศรุตพันธุ์ ยังฝากทิ้งท้ายว่า ความรุนแรงโดยน้ำมือมนุษย์ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และควรถูกควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น อย่าพยายามทำให้เป็นความเคยชิน เพราะ ความรุนแรงน้อยๆ จะก่อความรุนแรงที่ยิ่งใหญ่ มันเป็น Butterfly Effect