
ผ่านไปแล้วสามวันสำหรับศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 หรือ ยูโร 2024 นี่คือการแข่งขันกีฬาลูกหนังชิงความเป็นเบอร์หนึ่งแห่งทวีปยุโรปครั้งที่ 17 โดยหลังจากนี้ก็จะแข่งกันไปเรื่อยๆ จนถึงนัดชิงชนะเลิศในวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งเต็งแชมป์รอบนี้เป็นทางทัพ ‘สิงโตคำราม’ ทีมชาติอังกฤษ ที่ถูกวางไว้ให้เป็นเบอร์ 1 ที่จะคว้าแชมป์
ส่วนเรื่องของการแข่งขันปีนี้ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า (UEFA) ก็ได้ออกมาบอกแล้วว่า ยูโร 2024 จะเป็นมาตรฐานใหม่ของทัวร์นาเมนต์กีฬาที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น
เราจะพาไปดูว่าพวกเขาดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยจะแบ่งออกเป็นหลายส่วน เรื่องแรกที่น่าสนใจและขอหยิบยกมาพูดถึงคือเรื่องของ ‘การเดินทาง’ ที่ในครั้งนี้ทางประเทศเยอรมนี รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ใช้สนามการแข่งขันทั้งหมด 10 สนามจาก 10 เมือง กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ของทั้งประเทศ
จากที่เห็นอาจจะดูเหมือนต้องเดินทางเยอะ แต่ในรายละเอียดแผนการดำเนินงานที่ยูฟ่าวางไว้นั้นค่อนข้างน่าสนใจ และเป็นแนวคิดที่น่าจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้พอสมควร จะเป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกัน

หลายเมืองแต่แบ่งโซนชัดเจน
การวางแผนแรกคือ ท่ามกลางจำนวนเมืองเจ้าภาพที่มากถึง 10 เมือง แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย พวกเขาทำการแบ่งโซนเมืองไว้อย่างชัดเจนเป็นทั้งหมด 3 โซนด้วยกัน
โซนแรกเป็น North-East ประกอบด้วย 3 เมืองคือ ฮัมบูร์ก, เบอร์ลิน และ ไลป์ซิก
ต่อด้วยโซนที่สอง Centre-West ประกอบด้วย 4 เมืองคือ เก็ลเซินเคียร์เชิน, ดอร์ทมุนด์, โคโลญจน์ และ ดุสเซลดอร์ฟ
และโซนสุดท้าย Centre-South ประกอบด้วย 3 เมืองคือ แฟรงค์เฟิร์ต, สตุ๊ตการ์ท และ มิวนิค
ถ้าถามว่าการแบ่งโซนแบบนี้จะช่วยอะไร?
คำตอบก็คือ ช่วยลดเรื่องของการเดินทางไปได้เยอะพอสมควร เพราะแต่ละเมืองที่จัดไว้ในแต่ละโซนไม่ได้ไกลกันมาก อย่างน้อยๆ ก็จะช่วยลดการเดินทางด้วยเครื่องบินที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% ของการแข่งขัน ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส ในรอบแบ่งกลุ่ม หลายทีมใช้วิธีเดินทางไปแข่งขันตามสนามต่างๆ โดยทางอากาศมากถึง 75% แต่ที่เยอรมันด้วยระยะทางที่ใกล้กว่า ตัวเลขการเดินทางโดยเครื่องบินจะลดลงเหลือแค่ 25% โดยเปลี่ยนเป็นการเดินทางด้วยรถไฟหรือรถบัสแทน

โปรแกรมการแข่งขันช่วยลดการเดินทาง
เรื่องถัดมาคือการวางโปรแกรมการแข่งขันตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มที่มีการออกแบบไว้เพื่อลดการเดินทางระหว่างเมืองเจ้าภาพทั้ง 10 เมือง เช่นเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปเมื่อแปดปีที่แล้วในยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศสในรอบแบ่งกลุ่ม ไม่เคยมีทีมไหนที่เล่นในสนามแห่งเดียวกันเกินหนึ่งนัด แต่สำหรับศึกยูโร 2024 ครั้งนี้จะมีทั้งหมดเจ็ดชาติที่ลงเล่นในสนามเดิมมากกว่าหนึ่งนัด ได้แก่
สวิตเซอร์แลนด์ ลงเล่นในเมืองโคโลญจน์ 2 นัด
ฮังการี ลงเล่นในเมืองสตุ๊ตการ์ท 2 นัด
เซอร์เบีย ลงเล่นในเมืองมิวนิค 2 นัด
ออสเตรีย ลงเล่นในเมืองเบอร์ลิน 2 นัด
สโลวาเกีย ลงเล่นในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต 2 นัด
ตุรกี ลงเล่นในเมืองดอร์ทมุนด์ 2 นัด
เช็ก ลงเล่นในเมืองฮัมบูร์ก 2 นัด
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเยอรมนี ที่แม้จะเป็นเจ้าภาพแต่ก็ไม่ได้ลงเล่นในสนามที่ใหญ่ที่สุดเสมอไป แต่พวกเขาเลือกเล่นในสนามที่อยู่โซน Centre-South ทั้ง 3 นัด สอดคล้องกับที่ทางเบสแคมป์ของพวกเขาอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ทั้งหมดเพื่อลดการเดินทางของแต่ละทีมและแฟนคลับแต่ละชาติให้น้อยลง รวมไปถึงบางทีมก็จะใช้การเดินทางด้วยรถไฟหรือรถบัสด้วย

ลดราคาตั๋วรถไฟ เพิ่มโปรโมชั่น รณรงค์ให้แฟนบอลใช้ขนส่งสาธารณะ
ประเด็นสุดท้ายของเรื่องการเดินทางก็คือ ทุกคนที่ดูการถ่ายทอดสดกันมาตลอดตั้งแต่เริ่มแข่งน่าจะเห็นอยู่แล้วว่า BYD คือหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของการแข่งขันยูโร 2024 แน่นอนว่าการเดินทางหลักๆ บนถนนในทัวร์นาเมนต์นี้จะใช้ยานพาหนะไฟฟ้าจาก BYD ทั้งหมด โดยจะช่วยลดมลภาวะไปได้ส่วนหนึ่งแน่นอน
อีกทั้งยังมีการสร้างแรงจูงใจต่างๆ เพิ่มเพื่อให้แฟนบอลหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาตั๋วรถไฟทางไกลแบบ ไป-กลับ เพื่อใช้เดินทางภายในประเทศเยอรมนีสำหรับผู้ถือตั๋วการแข่งขัน ส่วนคนจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็สามารถนำตั๋วเข้าชมการแข่งขันมาใช้เป็นส่วนลดในการซื้อตั๋วรถไฟ InterRail ได้ด้วย
นอกจากนี้ เมื่อแฟนบอลเดินทางถึงเมืองเจ้าภาพก็สามารถนำตั๋วเข้าชมการแข่งขันแมตช์นั้นๆ มาใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ฟรีอีก 36 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละสนามที่ใช้แข่งก็มีบริการขนส่งสาธารณะอย่างเช่น รถไฟ รายล้อมอยู่รอบสนามอยู่แล้วด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยยังมีพาร์ทอื่นๆ อีกที่ทางยูฟ่าพยายามจัดทำขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของทัวร์นาเมนต์กีฬาสีเขียวให้ศึกยูโร 2024 ที่ประเทศเยอรมนี ให้เป็นต้นแบบของการแข่งขันกีฬา ที่มีความยั่งยืนให้แก่ทัวร์นาเมนต์อื่นๆ ในอนาคต
สำหรับครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไรรอติดตามกัน