การจะเป็นสโมสรฟุตบอลทีมหนึ่งต้องประกอบด้วยชิ้นส่วนจิ๊กซอว์หลายๆ ชิ้นมาประกอบกัน เพื่อเป็นทีมหนึ่งทีม เริ่มตั้งแต่แฟนบอล, ทีมงานสตาฟฟ์, นักกีฬา และ ประธานสโมสร ซึ่งแต่ละส่วนต่างก็ล้วนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อจะช่วยกันพาสโมสรให้เจริญเติบโตไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยถ้าในลีกใหญ่ๆ ของโลก ก็จะทำงานกันแบบนี้ แต่ใครที่ติดตามฟุตบอลไทยน่าจะพอทราบว่าตำแหน่ง ประธานสโมสร ต่างจากลีกอื่นๆ เพราะอย่างแรกเลย เรามักจะเห็นเจ้าของทีม มาปรากฎตัวอยู่บนม้านั่งสำรอง คอยปลุกใจผู้เล่นและทีมงานเหมือนกับโค้ช นอกจากนี้ยังออกหน้าสื่อบ่อยครั้ง อย่างเช่น ภาพโปรโมตก่อนเตะ, การฝึกซ้อมของทีม, ภาพที่แสดงถึงอารมณ์ร่วมตอนแข่งเหมือนกับแฟนบอล รวมไปถึงการสัมภาษณ์หลังเกม เป็นต้น
ทั้งหมดที่เราบอกไปแสดงให้เห็นว่า ประธานสโมสร ของทีมฟุตบอลไทยนั้นเปรียบเสมือนกับ ‘สัญลักษณ์’ หรือ ตราสโมสรอีกแบบหนึ่ง เพราะพวกเขาต่างก็เป็นที่รักของแฟนบอล ทำให้แฟนบอลรู้สึกได้ว่าพวกเขารักและทุ่มเทให้กับสโมสรอย่างแท้จริง วันนี้เราเลยจะพาไปหาคำตอบกันว่า ทำไมเจ้าของทีมฟุตบอลไทยต้องมาอยู่ข้างสนาม ถ้าพร้อมแล้ว ติดตามได้เลยครับ
เงินเขา เขาก็อยากให้มันคุ้มค่า
ข้อแรกต้องบอกกันว่าตำแหน่ง ประธานสโมสร ของทีมฟุตบอลในบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นมาจากคนรวยหรือนักการเมืองที่มีเงินทุนหนาพอที่อยากจะลงทุนทำทีมฟุตบอลสักทีมหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการเป็นคนบ้ากีฬาชนิดนี้ หรืออยากจะเพิ่มอำนาจทางการเมืองในอนาคต ดังนั้นการนำเงินไม่ใช่น้อยมาลงทุนในสิ่งที่แทบจะไม่ได้ทำกำไรให้เลยด้วยซ้ำ พวกเขาก็ย่อมอยากใช้ให้มันคุ้มค่ามากที่สุดทุกบาททุกสตางค์ เพราะถ้าเราลองดูกันจริงๆ เช่น นักเตะต่างชาติ บางทีเหมือนทีมในไทยก็โดนย้อมแมวขายมาเยอะ เขาก็เลยต้องลงมาดูแลด้วยตัวเอง จนบางทีมีการแทรกแซงโค้ชอย่างที่เราเข้าใจกันด้วย เนื่องจากพวกเขาเลือกทีมก่อนเสมอ ซึ่งถ้าเรามองในแง่ดี อนาคตถ้าลีกบ้านเราแข็งแกร่งเป็นระบบเหมือนพวกญี่ปุ่นหรือเกาหลี นักเตะต่างชาติมีคุณภาพกว่านี้ และทีมได้กำไร พวกเขาก็อาจจะขึ้นไปนั่งบนห้องวีไอพีเหมือนลีกอื่นๆ ก็ได้
ความใส่ใจในทีม แสดงถึงการใส่ใจในธุรกิจเช่นกัน

แน่นอนว่าประธานสโมสร หรือ เจ้าของทีมฟุตบอล ส่วนใหญ่เป็นคนมีเงินอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าพวกเขาจะมีธุรกิจอื่นๆ ในมืออยู่แล้วด้วย การที่เจ้าของทีมเหล่านี้ลงมาดูแลแทบทุกภาคส่วนของทีมตั้งแต่ การมาให้กำลังใจนักเตะทั้งตอนซ้อมและตอนแข่ง, การลงเงินเพื่อซื้อตัวผู้เล่น รวมไปถึงใช้จ่ายเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ ของสโมสร ให้ทีมได้สิ่งที่ดีที่สุด นั่นแสดงถึงความเอาใจใส่ ซึ่งมันก็จะเป็นภาพสะท้อนไปยังธุรกิจที่มีอยู่ด้วยว่า พวกเขาก็ใส่ใจเช่นกัน ตัวอย่างที่เราเห็นกันบ่อยมากสุดก็คือ ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี กับวลี “เชื่อแป้ง”
สร้างฐานเสียงและอำนาจ เพื่อต่อยอดทางการเมือง
ประเด็นสุดท้ายคือสิ่งที่มันอยู่เคียงคู่กับวงการกีฬามาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศเราหรือทั้งโลก คำว่า “แยกกีฬาออกจากการเมือง” ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง อย่างในบ้านเราก็เห็นภาพชัดมาตลอด ประธานสโมสรหลายๆ คนเริ่มต้นด้วยฟุตบอล จากนั้นเวลาผ่านไปสัก 3-4 ปี ก็จะทยอยลดบทบาทตัวเอง แล้วเดินหน้าสู่สายการเมืองแบบเต็มตัว อย่างเช่น วราวุธ ศิลปะอาชา อดีตประธานสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี, ‘มาดามฮาย’ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช จากสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด, ‘มาดามออม’ ศรีโสภา โกฏคําลือ จากสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ส่วนที่เห็นได้ชัดมากๆ ก็คือทีม ‘ปราสาทสายฟ้า’ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับการพัฒนาสโมสรที่ต่อเนื่องไปจนถึงการเปลี่ยงแปลงเมืองบุรีรัมย์จากเมืองทางผ่านให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในจังหวัด แปรเปลี่ยนเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคภูมิใจไทยในจังหวัดบุรีรัมย์ และภาคอีสานในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา