‘บอลลูนสอดแนม’ ปมใหม่บั่นทอนสัมพันธ์สหรัฐฯ - จีน

10 ก.พ. 2566 - 09:18

  • หลังพบเห็นบอลลูนได้ไม่นานสหรัฐฯ ก็ยิงบอลลูนที่จีนอ้างว่าใช้เพื่อการสำรวจอากาศ ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก

  • เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่าบอลลูนนี้บินเหนือพื้นที่เปราะบางเพื่อเก็บข้อมูลด้านการทหารของสหรัฐฯ

  • นักวิเคราะห์คาด ปมบอลลูนสอดแนมอาจซ้ำเติม ‘เทควอร์’ ที่เป็นชนวนความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน

US-china-relation-spy-balloon-SPACEBAR-Thumbnail
รายงานการพบเห็นบอลลูนสอดแนมเคลื่อนตัวผ่านน่านฟ้าของประเทศแคนาดา ก่อนจะไปปรากฏอยู่ที่เมืองบิลลิงส์ รัฐมอนแทนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่แม้แต่ชาวเมืองยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน กำลังเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เย็นชาอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก 

รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ใช้อากาศยานที่มีคนขับติดตามบอลลูนนี้ไปทั่วน่านฟ้าสหรัฐฯ และพบว่าบอลลูนวนเวียนอยู่เหนือรัฐมอนแทนา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 1 ใน 3 ฐานยิงระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ฐานทัพอากาศมาล์มสตรอม ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าบอลลูนนี้บินเหนือพื้นที่เปราะบางเพื่อเก็บข้อมูล 

หลังพบเห็นบอลลูนได้ไม่นาน สหรัฐฯ ก็ยิงบอลลูนที่จีนอ้างว่าใช้เพื่อการสำรวจอากาศ ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติกนอกฝั่งเซาท์แคโรไลนาเมื่อวันเสาร์ (4 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจีนแถลงประณามทันทีว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและขอสงวนสิทธิ์ใช้วิธีการที่จำเป็นรับมือกับสถานการณ์แบบเดียวกันแต่ไม่ได้เผยรายละเอียดว่าหมายถึงอะไร 

หลังจากยิงบอลลูนจีนร่วงแล้ว หน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐฯ ก็ปิดกั้นเขตป้องกันความปลอดภัยชั่วคราว บริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งในรัฐดังกล่าว เพื่อปฏิบัติการกู้ซากบอลลูนสอดแนมจีน 

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ อธิบายว่าบอลลูนมีความสูงประมาณ 60 เมตร โดยมีส่วนของน้ำหนักบรรทุกเทียบได้กับขนาดเครื่องบินโดยสารในภูมิภาค และมีน้ำหนักหลายร้อยหรืออาจถึงหลายพันกิโลกรัม 

ในส่วนของทางการจีน ยืนยันหลายครั้งว่าบอลลูนนี้คือเรือเหาะของพลเรือนที่พลัดหลงเข้ามาในสหรัฐฯ เนื่องจากเหตุสุดวิสัย และเป็นอุบัติเหตุอย่างแท้จริง 

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยอมรับว่า เป็นความคิดของเขาที่ให้ยิงบอลลูนสอดแนมจีนให้ตกลงมา แต่เลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าประเด็นนี้จะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนย่ำแย่ลงหรือไม่ 

ส่วนจอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า บอลลูนสอดแนมที่บินเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ ไม่ได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งยังปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลปักกิ่งที่ว่า บอลลูนดังกล่าวมีจุดประสงค์ด้านอุตุนิยมวิทยา 

ขณะที่ คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐฯ ยังสงวนท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ และขึ้นอยู่กับจีนที่จะตัดสินใจว่าจะต้องการเดินหน้าความสัมพันธ์กับจีน หลังการประชุมระหว่างประธานาธิบดีไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาหรือเปล่า 

การพบเห็นบอลลูนในบรรยากาศชั้นสูงเหนือน่านฟ้าอเมริกาเหนือ กระตุ้นให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยกเลิกแผนเยือนปักกิ่ง โดยทริปนี้เป็นการสานต่อจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประชุมทวิภาคีร่วมกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพ.ย. ที่บาหลี อินโดนีเซีย 

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างต้องการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังจากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศชะงักงันมานานหลายปี และรัฐบาลไบเดนกังวลว่าความตึงเครียดจะบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้า ส่วนประธานาธิบดีสีต้องการฟื้นเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หลังจากเศรษฐกิจเสียหายหนักเพราะโควิด-19 ระบาด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3kXk7WySNzhn2kGxFXJmT8/0d57ae7629e91bf5081a54efe7d312c3/INFO_US-china-relation-spy-balloon_EDIT-03
*มีการใช้บอลลูนที่ระดับความสูงมากเพื่อสอดแนมและภารกิจอื่นๆ ทางทหาร ตั้แต่ครึ่งศตวรรษก่อน 
 
*กองทัพญี่ปุ่นใช้บอลลูนชนิดนี้ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยออกแบบมาให้บินในกระแสลมกรด (jet stream air current) ทิ้งระเบิดใส่ดินแดนสหรัฐฯ 
 
*หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มสำรวจด้วยบอลลูนสอดแนมภายใต้ภารกิจ ‘โปรเจกต์ เจเน็ต’ ส่งบอลลูนจำนวนมากไปถ่ายรูปดินแดนของโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 50 
 
*บอลลูนสอดแนมลอยลำด้วยก๊าซฮีเลียม ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กล้อง เรดาร์ เซนเซอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร 
 
*บินที่ความสูงราว 24,000-37,000 ม. เหนือเส้นทางการบินพาณิชย์ และแทบไม่เคยบินสูงกว่า 12,000 ม. 
 
*ขณะที่เครื่องบินขับไล่ปกติจะบินสูงไม่เกิน 20,000 ม. แต่เครื่องบินสอดแนมอย่าง U-2 มีเพดานบินที่ 24,000 ม. หรือมากกว่านั้น 
 
*ไม่สามารถควบคุมทิศทางการลอยที่แม่นยำ แต่นำทางหยาบๆ ไปยังจุดหมายได้ ด้วยการเปลี่ยนระดับความสูง เพื่อเกาะกระแสลมที่แตกต่างกัน 

จ้าวตง นักวิจัยอาวุโสประจำสำนักงานจีนของมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ และนักวิจัยรับเชิญของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ให้ความเห็นว่า หนทางการสร้างสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนครั้งใหม่น่าจะยังคงเป็นไปตามแผน 

คอลลิน โก๊ะห์ นักวิจัยด้านความมั่นคงจากวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม ของสิงคโปร์คาดการณ์ว่า จีนจะตอบโต้กองเรือลาดตระเวนสหรัฐฯ อย่างทรงพลังแต่จะไม่เผชิญหน้า และแม้แต่ในช่วงสงบ กองทัพจีนสอดแนมการลาดตระเวนของกองทัพสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะในทะเลท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องไต้หวันและทะเลจีนใต้ 

แต่การส่งบอลลูนเพื่อสอดแนมเพื่อน ไม่ใช่เรื่องแปลกในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะเมื่อสามปีก่อน เอกสารที่กองทัพสหรัฐฯ ยื่นต่อคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) หรือ FCC ระบุว่า มีการส่งบอลลูนเพื่อทำการทดสอบและการสอดแนมทั่วพื้นที่ของ 6 รัฐ ทางตะวันตกกลาง โดยใช้บอลลูนทดลองที่ลอยอยู่ในระดับสูง และมีบอลลูนไร้คนขับจำนวน 25 ลูกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกปล่อยขึ้นจากพื้นที่ชนบทในรัฐเซาธ์ ดาโกตา ลอยเป็นระยะทาง 250 ไมล์ ผ่านพื้นที่ที่ครอบคลุมบางส่วนของรัฐมินนิโซตา ไอโอวา วิสคอนซิน และมิสซูรี ก่อนไปสิ้นสุดในพื้นที่ตอนกลางของรัฐอิลลินอยส์ 

ฟ็อกซ์ นิวส์รายงานเมื่อเดือนส.ค. ปี 2018 ว่าเดอะ การ์เดียน สื่อดังของอังกฤษ เป็นรายแรกที่รายงานข่าวและลงรายละเอียดว่า บอลลูนเหล่านี้ติด “เรดาร์ไฮเทค” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อติดตามยานพาหนะของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนและทุกสภาพอากาศ ขณะเคลื่อนที่อยู่ในระดับความสูงจากพื้นดิน 65,000 ฟุต 

เอกสารที่ออกในนามของ Sierra Nevada Corporation บริษัทด้านการบินและอวกาศและการป้องกันประเทศระบุด้วยว่า การปล่อยบอลลูนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาระบบการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาและยับยั้งการค้ายาเสพติดและภัยคุกคามความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ 

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ไอเอ็นจี คาดการณ์ว่า ปมบอลลูนสอดแนมอาจซ้ำเติม “เทควอร์” และในระยะสั้นและอาจส่งผลเสียต่อสกุลเงินหยวน โดยทั้งสองฝ่ายน่าจะห้ามส่งออกเทคโนโลยีเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ซัพพลายเชนปั่นป่วนรอบใหม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์