วินาทีนี้คงไม่มีอะไรเดือดไปกว่าอุณหภูมิโลกอีกแล้ว หลายประเทศโดยเฉพาะทางฟากฝั่งเอเชีย ออสเตรเลียต่างเผชิญกับสภาพอากาศ ‘ร้อน’ ที่ไม่เป็นใจเท่าใดนัก อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño / ฝั่งเอเชียและออสเตรเลียแล้งจัด แต่อเมริกาใต้ฝนตกหนัก) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ส่งผลให้อุณหภูมิร้อนขึ้นในแต่ละปี
ตามข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Highlights) ระบุว่า “ปี 2023 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุด เป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1850 และโค่นปี 2016 โดยมีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ถึง 1.18 องศาฯ และสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.35 องศาฯ แนวโน้มที่น่าตกใจนี้ทำให้โลกเข้าใกล้เกณฑ์ภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงเกิน 1.5 องศาฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เตือนมานานหลายปีแล้ว
SPACEBAR พาไปส่อง 10 ประเทศที่ ‘So Hot’ ที่สุดในโลกชนิดที่เรียกว่าตลอดทั้งปีเคยได้สัมผัสกับ ‘ความหนาวเย็น’ บ้างไหม? จากการจัดอันดับทั้งหมด 30 ประเทศของเว็บไซต์ ‘Insider Monkey’ สำหรับประเทศไทยไม่น้อยหน้าเพราะอากาศร้อนแรงแทบจะทั้งปีขนาดนี้คว้าอันดับที่ 23 ไปครอง มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26.8 องศาฯ

1. บูร์กินาฟาโซ / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 29.3 องศาฯ

‘บูร์กินาฟาโซ’ ครองตำแหน่งประเทศที่ ‘ร้อนที่สุดในโลก’ ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อน (tropical savanna) จึงทำให้ประเทศนี้มีฤดูร้อนที่แห้งแล้ง และมีฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม
2. มาลี / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 29.2 องศาฯ

‘มาลี’ คว้าอันดับ 2 ของโลก ตีตื้นแข่งกับบูร์กินาฟาโซ มีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อน มีฤดูร้อนที่แห้งแล้ง และมีฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเหมือนกัน
3. กาตาร์ / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 29.1 องศาฯ

ประเทศที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ มีสภาพอากาศแบบทะเลทราย (desert climate) ทำให้ดินแดนแห่งนี้ต้องเผชิญกับฤดูร้อนที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน อีกทั้งอากาศยังร้อนแล้งจัดด้วย โดยอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนอาจสูงถึง 45 องศาฯ ส่วนในฤดูหนาวอากาศจะเย็นลง อุณหภูมิอาจลดลงต่ำกว่า 5 องศาฯ
สำหรับปริมาณน้ำฝนเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าภาคใต้ถึง 30% นอกจากนี้ กาตาร์ยังได้รับอิทธิพลจากลมชามาลจึงทำให้เกิดพายุทรายและฝุ่นตลอดทั้งปี
4. เซเนกัล / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 29.0 องศาฯ

ดินแดนแห่งนี้มีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อน ฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนแห้ง และร้อนควบคู่ไปกับฤดูฝนที่กินเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ภูมิภาค ‘มาตัม’ ขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่อบอุ่นและมีฝนตกชุกที่สุดในประเทศ ในขณะที่ ‘ดาการ์’ เป็นภูมิภาคที่หนาวที่สุด
ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคมถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเดินทางเนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนลดลงในช่วงเวลานี้
5. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 28.9 องศาฯ

‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีภูมิอากาศแบบทะเลทรายเป็นส่วนใหญ่ ในฤดูร้อนจะร้อนและแห้ง แต่ในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์จะเป็นฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศได้รับปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่ในแต่ละปี
6. มอริเตเนีย / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 28.9 องศาฯ

ประเทศแถบแอฟริกาแห่งนี้มีภูมิอากาศแบบทะเลทราย ในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนและแห้ง ขณะที่ฤดูฝนจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
7. บาห์เรน / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 28.8 องศาฯ

ประเทศตะวันออกกลางอย่าง ‘บาห์เรน’ เป็นอีกหนึ่งดินแดนที่มีภูมิอากาศแบบทะเลทราย ในฤดูร้อนจะร้อนและแห้ง มีฤดูฝนระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
8. เบนิน / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 28.7 องศาฯ

ดินแดนจากแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้มีอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อน ในฤดูร้อนจะร้อนและแห้ง และมีฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับภาคเกษตรกรรมของประเทศด้วย
9. แกมเบีย / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 28.5 องศาฯ

อีกหนึ่งประเทศจากดินแดนแอฟริกาตะวันตกมีฤดูแล้งที่ยาวนาน (พฤศจิกายนถึงพฤษภาคม) และฤดูฝนระยะสั้น (มิถุนายนถึงตุลาคม) ในฤดูแล้งมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18-30 องศาฯ แต่ในช่วงฤดูฝนอยู่ที่ 23-33 องศาฯ
10. กินี-บิสเซา / อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี = 28.1 องศาฯ

‘กินี-บิสเซา’ ประเทศจากแอฟริกาตะวันตกมีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อน อากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี แต่อุณหภูมิผันผวนเล็กน้อย มีฤดูร้อนที่ร้อนและแห้ง และมีฤดูฝนตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,024 มิลลิเมตร