จากกรณีที่ประเทศไทยพบการแพร่กระจายของ ‘ปลาหมอคางดํา’ ปลาเอเลียนสปีชีส์ (หรือสัตว์น้ำต่างถิ่น) ในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวทำลายระบบนิเวศทางน้ำอย่างรุนแรง จนสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรถึงขนาดที่บางจังหวัดประกาศว่าจะกำจัดไม่ให้มีการแพร่พันธุ์กันเลยทีเดียว
นอกจากปลาหมอคางดำตัวร้ายแล้ว SPACEBAR พาดู 7 สายพันธุ์ปลาวายร้ายที่รุกรานและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมากที่สุดในโลก
1. ปลาดุกด้าน

ปลาดุกด้าน (walking catfish) เป็นสายพันธุ์รุกรานในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถ ‘เดิน’ บนพื้นดินแห้งได้โดยใช้ครีบและหางเพื่อดิ้นจากแหล่งน้ำหนึ่งไปยังอีกแหล่งน้ำหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถหายใจในอากาศและสามารถดำรงชีวิตโดยที่ไม่ได้อยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน
ปลาสายพันธุ์นี้สามารถอพยพไปยังพื้นที่อื่นและตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ แถมพวกมันยังปรับตัวได้ดี และทนต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย
หากอยู่ในบ่อเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นๆ มันก็จะกินปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อด้วย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องสร้างรั้วกั้นรอบบ่อเลี้ยงปลาเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาดุกด้านกินปลาที่เลี้ยงไว้จนหมด
2. ปลาคาร์ปธรรมดา

ปลาคาร์ปธรรมดา หรือปลาไน (Common Carp) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่แม้จะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในป่า แต่ก็เป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายและรุกรานมากที่สุดในโลกเช่นกัน
ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในยุโรปและเอเชียตะวันออก พบได้ทุกที่ยกเว้นขั้วโลกเหนือ-ใต้ และเอเชียเหนือ โดยทั่วไปมันจะหาอาหารด้วยการคุ้ยตะกอนที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นการทำลายพืชใต้น้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์สายพันธุ์อื่น นอกจากนี้ ปลาคาร์ปยังกินไข่ปลาชนิดอื่นส่งผลให้ประชากรปลาท้องถิ่นลดลง
เอเลียนสปีชีส์ชนิดนี้แพร่หลายไปทั่ว และสร้างความเสียหายอย่างมากจนต้องกำจัดพวกมัน เช่น การนำปลาบลูกิลล์มากินไข่ปลาคาร์ป หรือจงใจทำให้ปลาคาร์ปสัมผัสกับเชื้อไวรัส ‘koi herpes virus’ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปลาคาร์ป เป็นต้น
3. ปลากระพงแม่น้ำไนล์

ปลากระพงแม่น้ำไนล์ (Nile Perch) เป็นปลาท้องถิ่นของเอธิโอเปีย และเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศในแอฟริกาตะวันออก
ในทะเลสาบวิกตอเรีย ปลาชนิดนี้ทำให้ปลาท้องถิ่นกว่า 200 สายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ มันยังกินทุกอย่างตั้งแต่สัตว์จำพวกกุ้ง หอย ไปจนถึงแมลงและปลาชนิดอื่นๆ
ทั้งนี้พบว่า ปลาตัวเมียเพียงตัวเดียวสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 15 ล้านฟอง ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้เวลามากนักในการครอบครองพื้นที่ และนั่นทำให้ปลาวายร้ายชนิดนี้เป็นหนึ่งในเอเลียนสปีชีส์ที่รุกรานระบบนิเวศมากที่สุด
4. ปลาเทราต์สายรุ้ง

ปลาเทราต์สายรุ้ง (rainbow trout) เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมและเป็นปัญหาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามา ปลาชนิดนี้เป็นปลาท้องถิ่นทางตะวันตกของสหรัฐฯ แต่ในปัจจุบันก็สามารถพบได้ทั่วโลก
ปลาเทราต์สายรุ้งเป็นสัตว์นักล่าที่ปรับตัวได้และแย่งอาหารกับปลาสายพันธุ์อื่นๆ จนทำให้ปลาบางชนิด เช่น ปลาเทราต์ทองคำแคลิฟอร์เนียและปลาน้ำจืดหลังค่อมถึงขั้นสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังสามารถแพร่พันธุ์ในลำธารได้อย่างง่ายดาย ทำให้ประชากรสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังลดลง ส่งผลกระทบต่อสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร
5. ปลากระพงปากกว้าง

ปลากระพงปากกว้าง (Largemouth Bass) เป็นปลาน้ำจืดมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ และยังพบได้ในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นักตกปลาชื่นชอบมากทีเดียว
ความร้ายกาจของมันก็คือ มันชอบกินกุ้งแม่น้ำ แมลง กบ และปลากระพงปากกว้างตัวอื่นๆ เพราะความอยากอาหารสูงของมันและอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร จึงทำให้ปลาท้องถิ่นชนิดอื่นๆ ค่อยๆ สูญพันธุ์ไปในที่สุด
6. ปลาสิงโต

ปลาสิงโต (Lionfish) ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่รุกรานโลกมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในน่านน้ำของอินโด-แปซิฟิกและทะเลแดง
ปลาชนิดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องครีบยาวที่มีพิษและความอยากอาหารที่ไม่รู้จักพอ ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ปลาสิงโตอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร มันเป็นภัยคุกคามต่อระบบแนวปะการังที่เปราะบางอยู่แล้ว รวมถึงสายพันธุ์ปลาที่มีความสำคัญทางการค้า เช่น พวกปลากะพงแดง ปลาเก๋า และปลากระพง
นักพายเรือและนักดำน้ำในฟลอริดาจึงได้รับอนุญาตให้ล่าปลาสิงโตได้เพื่อที่จะควบคุมปริมาณปลานักล่าเหล่านี้
7. ปลาช่อนเหนือ

ปลาช่อนเหนือ (Northern Snakehead) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน รัสเซีย และเกาหลี เป็นปลาที่แข็งแรงและบึกบึนอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ปลาชนิดนี้สามารถหายใจเหนือน้ำ และอาศัยอยู่โดยไม่ได้อยู่ในน้ำได้นานถึง 4 วันหากพวกมันตัวเปียกน้ำ
ปลาช่อนถือเป็นเอเลียนสปีชีส์อีกชนิดหนึ่งที่รุกรานระบบนิเวศ เพราะมันกินทุกอย่างตั้งแต่ปลา กบ สัตว์จำพวกกุ้ง กั้ง ปู ไปจนถึงแมลงตัวเล็กๆ