เกิดมา ‘รวย’ ยังไงก็ ‘ประสบความสำเร็จ’ จริงหรือ?

3 เม.ย. 2566 - 03:05

  • Geogetown Center on Education and the Workforce (CEW) ระบุว่า ‘Born Win, Schooled to Lose’ แค่เกิดมารวยก็เหมือนเป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จ มากกว่าผลการเรียนเสียอีก

  • คาร์เนเวล และทีมงาน ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก National Center for Education Statistics (NCES) เพื่อติดตามผลการเรียนของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงวัยผู้ใหญ่

  • เด็กอนุบาลที่ยากจนที่มีคะแนนดีมีโอกาส ‘น้อย’ ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย จบวิทยาลัย หรือได้รับค่าจ้างที่สูงกว่า เพื่อนร่วมชั้นที่ร่ำรวยแม้พวกเขาเหล่านี้จะมีผลการเรียนไม่ดี

Better-to-be-born-rich-than-smart-SPACEBAR-Thumbnail

เกิดมารวยก็เหมือนเกิดมาพร้อมกับโอกาส (?)

ไม่ใช่แค่ใน ‘สังคมไทย’ ที่จะพบเห็นผู้คนที่ประสบความสำเร็จ โดยที่พวกเขาเหล่านั้นมีพื้นฐานครอบครัวที่ดีมาตั้งแต่แรก ก่อนหน้านี้เรามักจะเห็นหลายๆ วาทะกรรมจากไลฟ์โค้ชหลายๆ คนที่บอกว่า เพียงแค่ ‘ขยัน’ ขยันเข้าไปให้มากๆ ก็จะประสบความสำเร็จในสักวันหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงใหญ่โตมากว่า เราต้องขยันไปถึงไหนกันนะ ถึงจะประสบความสำเร็จ?  

จนกระทั่งการศึกษาที่ออกมาล่าสุดบ่งชี้แล้วว่า แค่เกิดมารวยก็ knock everything แล้ว 

Geogetown Center on Education and the Workforce (CEW) ระบุว่า ‘Born Win, Schooled to Lose’ แค่เกิดมารวยก็เหมือนเป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จ มากกว่าผลการเรียนเสียอีก  

“การจะประสบความสำเร็จในอเมริกา การเกิดมาแล้วรวยย่อมดีกว่าความฉลาด” แอนโทนี คาร์เนเวล ผู้อำนวยการ CEW กล่าวกับ CNBC พร้อมเสริมว่า คนที่มีพรสวรรค์มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งที่เราพบในการศึกษานี้คือ คนที่มีความสามารถแต่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาส จะไม่ได้ทำในสิ่งที่คนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยทำ 

คาร์เนเวล และทีมงาน ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก National Center for Education Statistics (NCES) เพื่อติดตามผลการเรียนของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยประเมินสติปัญญาตามผลการทดสอบทางคณิตศาสตร์ที่ได้มาตรฐาน จากนั้น นักวิจัยจะจัดกลุ่มนักเรียนตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยพิจารณาจากรายได้ครัวเรือน ความสำเร็จทางการศึกษาของผู้ปกครอง และศักดิ์ศรีในอาชีพของผู้ปกครอง (การวัดสถานะทางสังคม อำนาจ และความสามารถในการหารายได้ที่กำหนดโดยดัชนีทางเศรษฐกิจและสังคม)

สิ่งที่พวกเขาพบคือเด็กอนุบาลที่ยากจนที่มีคะแนนดีมีโอกาส ‘น้อย’ ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย จบวิทยาลัย หรือได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าเพื่อนร่วมชั้นที่ร่ำรวยแม้พวกเขาเหล่านี้จะมีผลการเรียนไม่ดี 

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่า 25% ที่มีคะแนนสอบเป็น 25% แรก มีโอกาสเพียง 31% ที่จะได้รับการศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย และทำงานที่ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านบาท) ในช่วงอายุ 25 ปี ขณะที่เด็กที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่า 25% ที่มีคะแนนสอบต่ำที่สุด 25% มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายเดียวกันนี้ถึง 71%  

แม้ว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ขัดสนจะเอาชนะอุปสรรคระหว่างทางจนกระทั่งได้รับใบปริญญา แต่พวกเขาก็ยังต้องเจอกับความท้าทายหลายรูปแบบเช่นกัน  

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เด็กที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาสมีโอกาสเพียง 76% ที่จะมีสถานะเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้นเมื่ออายุ 25 ปี ขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยมีโอกาสสูงถึง 91% ที่จะรักษาสถานะเหล่านี้ได้ในช่วงวัยเดียวกัน

ปัจจัยอีกหลายล้านอย่าง ที่ทำให้คนไม่ประสบความสำเร็จ

คาร์เนเวลกล่าวว่า ผู้คนมักจะตำหนิโรงเรียน และก็ผิดที่ไม่ช่วยเหลือคนที่ฉลาด แต่มันก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชั้นเรียน เพศ และทุกอย่างตั้งแต่หนังสือในบ้านไปจนถึงการเรียนรู้ของพวกเขาในชั้นเรียน ซึ่งการได้เปรียบและเสียเปรียบนี้มันซับซ้อนมาก 

การศึกษาได้เจาะลึกเข้าไปที่การใช้จ่ายสำหรับเสริมพัฒนาการเด็กของครอบครัวที่ร่ำรวย และได้พบว่าพวกเขาใช้เงินไปประมาณ 8,600 ดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 3 แสนบาท) ต่อปี ขณะที่กลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ต่ำใช้เพียงแค่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ (57,000 บาท) ต่อปีเท่านั้น 

“เมื่อเราเฝ้าติดตามเด็กเหล่านี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้พบว่าเด็กทุกคนสะดุด แต่ความต่างของการสะดุดนี้คือ มีคนที่สะดุดและลุกขึ้นอีกครั้ง และคนที่สะดุดแต่ไม่ล้ม ซึ่งผมเชื่อว่าหากมีทรัพยากรและการสนับสนุนก็จะสามารถช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสได้” คาร์เนเวลกล่าวพร้อมกับเสริมว่า แม้บางคนจะโต้แย้งว่าการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป แต่อยากให้มองอีกมุมหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘การสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในด้านทุนมนุษย์ และความสามารถของมนุษย์ มันมีค่าเท่ากับต้นทุนที่เสียไป’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์