สื่อนอกชี้ ‘3 ความเป็นไปได้’ การโหวต ‘ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของไทย’

13 ก.ค. 2566 - 06:16

  • เปิด 3 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ในการโหวตนายกฯ คนที่ 30 ของไทย 13 กรกฎาคม 2023

  • ดูเหมือนว่าเส้นทางการเมืองในฐานะรัฐบาลของ ‘พิธา’ จะยากซะเหลือเกิน แล้วอุปสรรคครั้งล่าสุดที่เขาต้องเผชิญจะขัดขวางการเป็นนายกฯ ได้หรือไม่?

How-thai-pm-vote-may-unfold-as-pita-fights-odds-against-old-guard-SPACEBAR-Thumbnail

อนาคตว่าที่ ‘นายกฯ คนที่ 30’ ของประเทศไทย 

THE STATES TIMES รายงานว่า พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้แล้วสำหรับวันชี้ชะตาใครจะได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของแดนสยามแห่งนี้ หลังจากผ่านศึกเลือกตั้งแห่งชาติกันมาอย่างดุเดือด แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางนี้จะยากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกล 
 
ความคืบหน้าล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเส้นทางของนักการเมืองหัวก้าวหน้าในการเป็นนายกฯ คนต่อไปนั้นเต็มไปด้วยความท้าทายที่นอกเหนือไปจากชัยชนะเหนือวุฒิสภา (สว.) อนุรักษนิยม 250 คนในรัฐสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
 
ทั้งนี้ พบว่า อุปสรรคที่พิธาต้องเผชิญอีกครั้งก็คือ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อตัดสินว่าเขาละเมิดกฎการเลือกตั้งด้วยการถือหุ้นในบริษัทสื่อหรือไม่? แต่ยังไม่ชัดเจนว่าศาลจะรับคดีหรือไม่? และหากยอมรับ ศาลจะส่งคำตัดสินเมื่อใด? 
 
หากศาลตัดสินว่าพิธามีความผิด เขาอาจถูกตัดสิทธิ์ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติและเสี่ยงต่อโอกาสในการดำรงตำแหน่งนายกฯ  
 
“นี่เป็นการตอกย้ำว่ารัฐสภาแห่งนี้ไม่เห็นด้วยกับพิธา หากเขาได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขัน เขาไม่น่าจะชนะการโหวตเป็นนายกฯ” ปีเตอร์ มัมฟอร์ด หัวหน้าที่ปรึกษาจาก Eurasia Group ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว 
 
 
มัมฟอร์ดยังกล่าวอีกว่า “ความท้าทายของประเทศในขณะนี้หนักหนากว่าเมื่อ 5 หรือ 6 ปีที่ผ่านมามาก คนไทยต้องการรัฐบาลเสถียรภาพที่มีความชอบธรรมในการปกครอง ผมหวังว่ามันจะไม่ใช่การขัดขวางในทางการเมือง เพราะนั่นจะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายอย่างหนักหน่วง”  
 
การประท้วงกำลังก่อตัวขึ้นทั่วประเทศโดยผู้สนับสนุนพิธาในจังหวัดต่างๆ ได้ประกาศแผนการรวมตัวกันชุมนุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และวางแผนเดินขบวนไปที่รัฐสภาในวันพฤหัสบดีนี้เพื่อกดดันวุฒิสภาให้สนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ 
 
ต่อไปนี้คือ 3 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้… 

‘พิธา’ เป็น ‘นายกฯ คนที่ 30’

ทว่าหากพิธาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างน้อย 65 คนจาก สว.อนุรักษนิยมก็จะสามารถรวบรวมคะแนนได้เกิน 376 เสียงจากเดิมที่มีอยู่ 313 เสียง ซึ่งนั่นหมายความว่าพิธาจะชนะโหวตและได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย และอายุน้อยที่สุดในรอบเกือบ 8 ทศวรรษด้วยวัยเพียง 42 ปี 
 
อุปสรรคสำคัญของเขาในรัฐสภาก็คือ นักการเมืองอนุรักษนิยมต่างก็คัดค้านวาระการเดินหน้าแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยซึ่งลงโทษบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และราชวงศ์ 
 
หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้น พิธาจะดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ครอบคลุม สส.ทั้งจากพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 1 และ 2 ในการเลือกตั้ง 

ถ้าหาก ‘พิธา’ ถูกขัดขาล่ะ?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5WJpuxMqG5LwbltaneKa5C/6ceb5da52bc3ea4a9e7ccf7953da145e/How-thai-pm-vote-may-unfold-as-pita-fights-odds-against-old-guard-SPACEBAR-Photo01
และนี่เป็นสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับนักวิเคราะห์หลายคน… 
 
มีการคาดการณ์ว่า สว. ส่วนใหญ่จะปฏิเสธการโหวตพิธาเป็นนายกฯ หรืองดออกเสียงในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ขณะที่สมาชิกสภาล่าง หรือ สส. ราว 188 คนที่ไม่ได้สนับสนุนพิธาก็ไม่น่าจะโหวตให้เขาเช่นเดียวกัน 
 
ด้าน ภูมิใจไทย พรรคอันดับ 3 ในการเลือกตั้งแถลงว่าพวกเขาจะไม่รับรองผู้สมัครจากพรรคที่พยายามแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 
 
แต่ทว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ยังมีความโชคดีอยู่ว่า ภายใต้กฎปัจจุบันจะไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งที่รัฐสภาสามารถประชุมใหม่เพื่อเลือกนายกฯ ได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่มีกำหนดว่าจะต้องโหวตอีกครั้งเมื่อใด  
 
ทั้งนี้ หากพิธาไม่ได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 376 เสียงในวันพฤหัสบดีนี้ก็คาดว่าเขาอาจจะลองลงแข่งขันอีกครั้งในรอบถัดไป ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2023 
 
คงต้องดูกันต่อไปว่าจะมีสักกี่ครั้งที่พันธมิตรโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนพิธาและเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาล หรือว่าพรรคจะหาทางแยกตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยม ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นตัวแปรหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีศักยภาพในครั้งนี้ 
 
ในรายงานเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ โฮลดิงส์ (Nomura Holdings) กล่าวว่า อัตราต่อรองของพรรคเพื่อไทยในการเป็นผู้นำรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็น 60% จาก 55% ขณะที่โอกาสของพรรคก้าวไกลลดลงเหลือ 30% จาก 35% 

ทางตัน? เลื่อนโหวตนายกฯ ไปเรื่อยๆ 

สถานการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติอาจเลื่อนการโหวตนายกฯ เพื่อรอความชัดเจนเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่พิธากำลังเผชิญอยู่ 
 
ความเสี่ยงที่พิธาจะถูกตัดสิทธิ์นั้นอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีขอบเขตในการเลื่อนการลงคะแนนในการเสนอชื่อของเขา 
 
และนั่นหมายความว่ายังไง? มันอาจจุดชนวนให้ผู้สนับสนุนพิธาและพรรคก้าวไกลออกมาประท้วงครั้งใหญ่ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2020 เมื่อพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น (ก่อนจะตั้งพรรคใหม่เป็น ‘ก้าวไกล’) ถูกยุบและผู้นำพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี 
 
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการประท้วงและความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น พันธบัตร และตลาดสกุลเงินของไทยด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์