‘ไซยาไนด์ มัลลิกา’ ฆาตกรต่อเนื่องที่ใช้ไซยาไนด์เป็นอาวุธสังหาร

26 เม.ย. 2566 - 08:00

  • ไซยาไนด์ มัลลิกา ติดคุกคดีฆ่าผู้หญิง 7 คน

  • ไซยาไนด์ มัลลิกา วางยาเหยื่อ โดยเลือกเหยื่อจากตระกูลร่ำรวย

Indias-First-Convicted-Female-Serial-Killer-SPACEBAR-Thumbnail
ในบ้านเราคดีภรรยาตำรวจวางยาไซยาไนด์วางยาสังหารเพื่อนสนิทกำลังเป็นข่าวครึกโครม ในอินเดียก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ที่สร้างความสะเทือนขวัญไปทั่วประเทศเช่นกัน 
 
ในเขตชานเมืองของบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ผู้หญิง 5 คนถูกพบเป็นศพในช่วง 3 เดือน โดยที่ไม่มีร่องรอยบนร่างกาย ไม่มีร่องรอยของการถูกทำร้าย ทั้งทางเพศและร่างกาย แต่เมื่อทำการชันสูตรศพก็ได้พบกับสาเหตุการเสียชีวิตในร่างกายของพวกเธอ นั่นคือ  ‘ไซยาไนด์’  
 
คุณคิดว่าใครเป็นคนก่อการฆาตกรรมเหล่านี้? อะไรคือแรงจูงใจในการก่อเหตุ? คนส่วนใหญ่จะนึกภาพผู้ชายที่มีแรงจูงใจชั่วร้ายที่อยู่เบื้องหลังการสังหารผู้หญิงเหล่านี้ หรือแท้จริงแล้ว อาจจะเป็น ‘ผู้หญิง’ ด้วยกันเองก็ได้ที่เป็นผู้ลงมือ 
 
เคมปามมะ (Kempamma) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Cyanide Mallika’ เป็นฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรกของอินเดียที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ในช่วงปี 1998 และ 2007 เธอถูกสงสัยว่ามีส่วนทำให้ผู้หญิง 6 คนในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เสียชีวิต เชื่อกันว่าเธอเงียบหายไปเป็นเวลา 7 ปีหลังจากการฆาตกรรมครั้งแรกของเธอ แม้จะไม่ใช่เรื่องดี แต่สำหรับเรื่องนี้ต้องขอบคุณความคิดแบบ ‘ปิตาธิปไตย’ ของอินเดีย ที่ทำให้หาข้อเท็จจริงได้ว่า เหยื่อเหล่านี้ถูกฆ่าโดยผู้หญิงคนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสงสัยอยู่เป็นเวลานาน

นี่ไม่ใช่เรื่องราวสยองขวัญ แต่นี่คือเรื่องราวของความ ‘โลภ’ และความ ‘ทะเยอทะยาน’ 

เรื่องราวของผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีแรงบันดาลใจอย่างเหลือเชื่อจนไม่มีสิ่งใดมาขวางทางความฝันของเธอได้ แม้แต่ชีวิตมนุษย์! 
 
เคมปามมะ เกิดในปี 1970 อาศัยอยู่ในชานเมืองบังกาลอร์กับครอบครัวที่สั่งสอนให้เธออยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่เคมปามมะมีจิตใจที่ทะเยอทะยานอยู่เสมอ เธอมักจะหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตของเธอมั่งคั่งมากขึ้น แน่นอนว่าเธอมักจะใช้เส้นทางที่สั้นที่สุดเพื่อมุ่งหน้าไปที่เป้าหมายของเธอโดยไม่สนใจสิ่งที่ต้องเจอระหว่างทาง 
 
สมัยวัยรุ่นเคมปามมะแต่งงานกับช่างตัดเสื้อ เธอกลายเป็นแม่คนหลังจากนั้นไม่นานและมีลูกทั้งหมด 3 คน  เคมปามมะไม่พอใจกับการถวายชีวิตที่เหลือของเธอให้กับสามี เธอยังคงมีความต้องการ (ความมั่งคั่ง) มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เธอมีอาชีพเป็นคนรับใช้ที่บ้านหลังหนึ่ง เธอตัดสินใจที่จะร่ำรวยชั่วข้ามคืน และเริ่มขโมยของจากบ้านที่เธอทำงานเป็นคนรับใช้  
 
ต่อมาเธอตัดสินใจก่อตั้งกองทุนการกุศลใกล้บ้าน แม้ว่าแท้จริงแล้วกองทุนนี้จะทำเพื่อช่วยให้เธอบรรลุเป้าหมายส่วนตัวก็ตาม ซึ่งเธอก็ดันทำสำเร็จ แต่บริษัทของเธอก็ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ครอบครัวของเธอมีหนี้สินล้นตัว เธอถูกสามีไล่ออกจากบ้านด้วยความโกรธแค้น และในปี 1998 สามีก็ทิ้งเธอไปในที่สุด 
 
ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับเคมปามมะต้องคิดวิธีการหาเงินแบบใหม่ เธอจึงหันมาใช้วิธีหลอกลวง ‘ผู้หญิง’ โดยกำหนดเป้าหมายเป็นหญิงที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีเท่านั้น  
 
หลังจากที่เธอทำงานเป็นคนรับใช้มาระยะหนึ่ง เธอก็ขยับเข้าไปทำงานที่ร้านช่างทอง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอเข้าใกล้ความสำเร็จแต่อย่างใด จึงเหลือเพียงตั๋วเที่ยวของเธอนั่นก็คือ ‘ไซยาไนด์’ เธอจึงเริ่มเรียนรู้วิธีการใช้ยาพิษนี้

สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า ‘ไซยาไนด์’ คือ ‘มัลลิกา’ 

เคมปามมะจะเดินทางไปที่วัดทุกวัน และคอยเฝ้ามองคนที่มาวัดทุกวันเป็นประจำ รวมทั้งคอยสังเกตคนที่ดูเหมือนจะ ‘มีความทุกข์’ เธอจะรับบทนางจิตใจดีและเข้าหาพวกเธอ รับฟังปัญหาของพวกเธอ คอยเวลาที่เหมาะสม และคอยช่วยแก้ปัญหาให้ด้วยพิธีกรรม ‘มันดาลา ปูจา’ (mandala pooja) ซึ่งเธอหลอกเหยื่อทุกคนด้วยคำสัญญาว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้  
 
เคมปามมะจะให้เหยื่อสวมเสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงที่เหยื่อมี และไปที่วัดชานเมืองซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จัก จากนั้นเธอก็จะให้เหยื่อหลับตา และอธิษฐาน โดยที่เหยื่อเองก็ไม่รู้เลยว่านี่จะเป็นคำอธิษฐานครั้งสุดท้ายของพวกเธอ หลังจากนั้นเคมปามมะจะเสิร์ฟน้ำที่ผสมกับไซยาไนด์ให้เหยื่อดื่ม ซึ่งเธอจะบอกนี่คือ ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’  
 
ส่วนที่มาของฉายาของเธอที่ทุกคนต่างเรียกว่า ไซยาไนด์ มัลลิกา เพราะเธอแนะนำชื่อนี้กับเหยื่อคนสุดท้ายว่า ‘มัลลิกา’ ท้ายที่สุดเธอก็ถูกจับกุม และถูกตัดสินประหารชีวิตในปี  2012 แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตที่เรือนจำ โดยที่เธอเป็นคนแรกในรัฐกรณาฏกะที่ถูกตัดสินประหารชีวิต

เมื่อพูดถึงโรคจิตและฆาตกรต่อเนื่อง เรามักเชื่อว่าสัญชาตญาณการฆ่าของพวกเขาถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่แรกเกิด แต่กับไซยาไนด์ มัลลิกานั้นต่างออกไป...

ไซยาไนด์ มัลลิกา ยังคงเป็นปริศนา แม้ว่าเราจะพยายามพิสูจน์ความโหดร้ายของการฆาตกรรมอยู่เสมอด้วยการย้อนเวลากลับไปเพื่อค้นหาบางสิ่งที่ผิดพลาดอย่างน่าสยดสยองในช่วงหลายปีแห่งการก่อร่างสร้างตัวของฆาตกร แต่ชีวิตในวัยเยาว์ของไซยาไนด์ มัลลิกาไม่ได้ให้เงื่อนงำเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีรายละเอียด หรือมีเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นเท่านั้น  

 
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฆาตกรรมแล้ว ทำให้เราเชื่อว่าเธอได้รับแรงจูงใจจากผลประโยชน์ทาง ‘การเงิน’ เพียงอย่างเดียว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์