ย้อนเรื่องราวสุดท้าทายของ ‘จาซินดา อาร์เดิน’ นายกฯ หญิงนิวซีแลนด์ที่จะลงจากเก้าอี้เดือนหน้า

19 ม.ค. 2566 - 09:30

  • นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกและได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ

  • “ฉันหวังว่าฉันจะฝากความหวังไว้กับชาวนิวซีแลนด์ว่า คุณสามารถเป็นคนใจดีแต่เข้มแข็ง เห็นอกเห็นใจแต่มีความมุ่งมั่น มองโลกในแง่ดีแต่มีสมาธิ และคุณสามารถเป็นผู้นำในแบบของตัวเองได้”

Jacinda-Ardern-New-Zealand-PM-SPACEBAR-Thumbnail

‘จาซินดา อาร์เดิน’ นายกฯ หญิงผู้ปลอบประโลมประเทศยามวิกฤต

หลังจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์คนปัจจุบัน จาซินดา อาร์เดิร์น ออกมาประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็สร้างความตกใจไม่น้อยในหมู่รัฐบาลและประชาชน และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา อาร์เดิร์นได้สร้างความประทับใจให้ประเทศไม่น้อย ทั้งยังพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 มาได้อย่างดีด้วย  

ทว่าการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศขณะที่อายุยังน้อยก็เป็นเรื่องที่ท้าทายและยากเช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งเธอ เคยให้คำมั่นว่า ‘จะมองโลกในแง่ดีอย่างไม่หยุดยั้งในฐานะผู้นำประเทศ’ โดยที่ผ่านมาเธอยอมรับว่าข้อเรียกร้องที่ไม่หยุดยั้งของงานที่ทำอยู่นั้นบั่นทอนกำลังใจจนทำให้เธอไม่มีแรงบันดาลใจที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป 

นับตั้งแต่รับหน้าที่ดำรงตำแหน่งเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก’ เมื่อเดือนตุลาคม 2017 ขณะอายุได้เพียง 37 ปี และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศนับตั้งแต่ปี 1856 อาร์เดิร์นได้กลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก  

แต่หลังจากได้รับการยกย่องในการนำพานิวซีแลนด์ให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ การสนับสนุนพรรคแรงงานของเธอและคะแนนนิยมของเธอกลับลดน้อยลง ความพยายามในการคว้าแชมป์สมัยที่ 3 ในครั้งนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่อาร์เดิร์นพร้อมจะทำเท่าใดนัก 

ต่อไปนี้คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และตกต่ำที่สุดตลอด 6 ปีที่ผ่านมาในยุคของอาร์เดิร์น 

รับมือกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในไครสต์เชิร์ช 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5VNoaKAkl4Z9YHgSN1nEHA/af2d477df660b44fe91ecafa4793c1f2/Jacinda-Ardern-New-Zealand-PM-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP / POOL / YOAN VALAT
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2019 ได้เกิดเหตุกราดยิงชาวมุสลิมที่มัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชทางใต้ของเกาะ คร่าชีวิตผู้คนไป 51 รายและบาดเจ็บอีก 40 ราย  

หลังจากนั้นไม่กี่วัน อาร์เดิร์นก็เคลื่อนไหวด้วยการปฏิรูปกฎหมายปืนอย่างเด็ดขาดและบังคับใช้อย่างรวดเร็วด้วยการแบนปืนยาวระบบกึ่งอัตโนมัติเลียนแบบปืนทหาร (MSSA) และปืนไรเฟิลจู่โจม พร้อมทั้งปลอบโยนครอบครัวของเหยื่อด้วยการสวมผ้าคลุมศีรษะ ซึ่งหลังจากภาพนี้ถูกปล่อยออกไปก็โด่งงดังไปทั่วโลก โดยในภายหลังอาร์เดิร์นอธิบายว่ามันเป็นการแสดงความเคารพต่อชุมชนมุสลิมโดยธรรมชาติ 

ผู้นำหญิงของนิวซีแลนด์ยังขอความร่วมมือทุกคนว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อของคนร้ายที่ลงมือก่อเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างชื่อเสียง สร้างความจดจำให้กับคนร้าย 

นอกจากนี้ อาร์เดิร์นยังร่วมมือกับประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระงับการส่งเสริมลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งทางออนไลน์ ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาที่รู้จักกันในชื่อ ‘Christchurch Call’ หรือการเรียกร้องให้ดำเนินการของไครสต์เชิร์ชเป็นการประชุมสุดยอดทางการ ซึ่งจากการร่วมมือในครั้งนั้นทำให้นายกรัฐมนตรีได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติในแง่ของความเห็นอกเห็นใจที่เธอแสดงออกมาหลังเหตุโจมตีดังกล่าว 

นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยในยุคที่โควิด-19 กำลังปะทุขึ้น 

ในยุคที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ นิวซีแลนด์เป็นอีกประเทศที่มีมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยอาร์เดิร์นได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อปิดพรมแดนของนิวซีแลนด์อย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวด แม้ว่าในขณะนั้นประเทศจะมีผู้ติดเชื้อเพียง 200 รายก็ตาม 

จากการตัดสินใจปิดประเทศตั้งแต่โควิดระบาดครั้งแรกๆ ทำให้นิวซีแลนด์มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเพียงไม่กี่รายในช่วง 2 ปีแรกของการระบาดใหญ่ และยังเป็นหนึ่งในประเทศไม่กี่แห่งในโลกที่ไม่มีการแพร่เชื้อไวรัสในชุมชน ซึ่งนั่นช่วยให้อาร์เดิร์นได้รับเสียงข้างมากและชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2020 โดยเป็นเสียงข้างมากครั้งแรกในรัฐสภานับตั้งแต่มีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนในปี 1996 

นายกรัฐมนตรีหญิงในเวทีโลก 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/748L8065H86VrVjje5WUBP/bf9cb16c409c466da58ebb0cdbbbacc8/Jacinda-Ardern-New-Zealand-PM-SPACEBAR-Photo02
Photo: Don EMMERT / AFP
อาร์เดิร์น เป็นที่รู้จักกันในฐานะหัวหน้ารัฐบาลหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก ณ ขณะนั้นเมื่อปี 2017 และเป็นผู้นำโลกคนแรกที่นำลูกน้อยของเธอเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติด้วย นอกจากนี้ เธอยังได้รับยกย่องว่าเป็น ‘ผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ’ และเป็นดาวเด่นของฝ่ายซ้ายทางการเมือง  

ในฐานะประเทศเล็กๆ ที่อยู่ท้ายสุดของโลก อาร์เดิร์นทำให้นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับอย่างที่ชาวนิวซีแลนด์ต้องการ “ผมจะบอกว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในต่างประเทศของนิวซีแลนด์” ไบรซ์ เอ็ดเวิร์ด นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวในปี 2019 

เผชิญหน้ากับโควิดอีกครั้งที่นำไปสู่จุดต่ำสุดในฐานะผู้นำรัฐบาล 

หลังจากประสบความสำเร็จกับการรับมือกับโควิด-19 ในระยะแรก แต่ทว่าเมื่อการระบาดกลับมาอีกครั้งรัฐบาลของอาร์เดิร์นกลับบริหารล้มเหลวในครั้งนี้ ทั้งการวางแผนและระบบขั้นตอนที่ผิดพลาดในการจัดการสถานที่กักกันผู้คนที่เดินทางกลับนิวซีแลนด์ โดยหนึ่งในกลุ่มที่ผิดหวังที่สุดกับการบริหารจัดการของรัฐบาลครั้งนี้ ก็คือ ชาวกีวีนับหมื่นคนที่ติดอยู่ต่างประเทศซึ่งไม่สามารถกลับมายังนิวซีแลนด์ได้เนื่องจากไม่มีสถานที่กักกัน 

ขณะเดียวกัน กฎข้อบังคับในการฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาลก็ทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคมที่อีกด้วย เนื่องจากชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย ซึ่งผลที่ตามมาคือ การประท้วงต่อต้านวัคซีนเป็นเวลาราว 3 สัปดาห์บริเวณรัฐสภาในกรุงเวลลิงตันเมื่อปีที่แล้ว (2022) และจบลงด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรงกับตำรวจ 

ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมยังเป็นปัญหาใหญ่ 

ภายหลังจากที่อาร์เดิร์นก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2017 พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นและปิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งในระยะแรกรัฐบาลผสมของเธอได้ยกเลิกแผนการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น เนื่องจากความกังวลจากความเสี่ยงทางการเมืองมากเกินไป ขณะที่โครงการสร้างบ้านราคาย่อมเยาหลายหมื่นหลังก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย 

อย่างไรก็ดี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของอาร์เดิร์นค่อนข้างล้มเหลวเอาอย่างมากๆ ส่วนหนึ่งเพราะการรับมือกับโควิดที่ล้มเหลว ทำให้รัฐบาลของเธอเหลือพื้นที่สำหรับการปฏิรูปภายในประเทศน้อยลง ขณะเดียวกันที่วิกฤตค่าครองชีพก็กำลังลุกลามไปทั่วโลกก็ยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก 

กระแสคลั่ง ‘Jacinda-mania' จบลงแล้ว 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6n6keLB0YjW2ZUXAvTBaio/e8b1a8aa265b010b9e4d8d031de061f3/Jacinda-Ardern-New-Zealand-PM-SPACEBAR-Photo03
Photo: Sanka Vidanagama / AFP
นับว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาลอาร์เดิร์นหลังรับมือและบริหารล้มเหลวสำหรับโควิด-19 ที่กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ การล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2021 ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมและการเงินอีก 

ทั้งนี้ อาร์เดิร์นเองก็ถูกตำหนิว่าเธอยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้อยู่หรือเปล่า? ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องเชื้อเพลิง ราคาอาหาร ค่าเช่าบ้าน ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการระบาดของโอมิครอน รวมไปถึงการบังคับฉีดวัคซีน การจำกัดฝูงชน และการควบคุมชายแดนทำให้ชีวิตของผู้คนต้องหยุดชะงักนั้นอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของอาร์เดิร์นก็ได้  

โควิดถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดโชคชะตาทางการเมืองของอาร์เดิร์น เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลของอาร์เดิร์นก็กำลังเข้าสู่ความเสื่อมโทรมทางการเมือง ทำให้คะแนนความนิยมเริ่มลดลงและสร้างความกดดันให้อาร์เดิร์นอย่างมาก และนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำอาร์เดิร์นประกาศวางมือลงจากตำแหน่ง 

ความในใจถึงชาวนิวซีแลนด์ 

อาร์เดิร์นในวัย 42 ปี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “6 ปีที่ผ่านมาเป็นความท้าทายในการทำงานและมันได้สูญเสียไปมากเพียงใด ฉันหวังว่าจะพบสิ่งที่ต้องการในขณะที่ดำรงตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อในช่วงเวลาดังกล่าว แต่โชคไม่ดีที่ฉันไม่พบ และฉันอาจสร้างความเสียหายให้กับนิวซีแลนด์หากยังเป็นนายกฯ ต่อไป” 

“การนำพาประเทศของคุณผ่านช่วงเวลาแห่งความสงบสุขก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง แต่อีกเป้าหมายหนึ่งก็คือการนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดีเช่นกัน”  

อย่างไรก็ดี อาร์เดิร์น กล่าวว่า เธอไม่ได้ลาออกเพราะเชื่อว่าพรรคแรงงานจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ เธอแค่คิดว่าจะลาออกก็เท่านั้น “เราต้องการรัฐบาลชุดใหม่เพื่อต่อสู้กับความท้าทายเหล่านั้น” เธอกล่าว 

นอกจากนี้ อาร์เดิร์น ยังระบุเพิ่มเติมว่าความสำเร็จของรัฐบาลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเคหะแห่งชาติ และการลดความยากจนในเด็กเป็นสิ่งที่เธอภาคภูมิใจเป็นพิเศษ โดยเธอหวังว่า ‘ชาวนิวซีแลนด์จะจดจำเธอในฐานะคนที่พยายามมีเมตตาเสมอ’ 

“ฉันหวังว่าฉันจะฝากความหวังไว้กับชาวนิวซีแลนด์ว่า คุณสามารถเป็นคนใจดีแต่เข้มแข็ง เห็นอกเห็นใจแต่มีความมุ่งมั่น มองโลกในแง่ดีแต่มีสมาธิ และคุณสามารถเป็นผู้นำในแบบของตัวเองได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์