ความในใจจาก ‘ลุงเจียง’ ถึงหนุ่มสาวจีน “ลื้อยังเยาว์ ยังเขลา ยังทึ่ง”

1 ธ.ค. 2565 - 08:47

  • “Too young too simple, sometimes naive” คือหนึ่งในคำพูดของเจียงเจ๋อหมินที่หนุ่มสาวชาวจีนจดจำได้มากที่สุด

jiang-zemin-china-too-young-too-simple-sometimes-naive-SPACEBAR-Thumbnail
ถามว่าคนรุ่นใหม่ในจีนจดจำอะไรในตัว เจียงเจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีนมากที่สุด? หนึ่งในนั้นคงจะเป็นประโยคหนึ่งที่เขาเคยพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษว่า “Too young too simple, sometimes naive” 

แปลง่ายๆ ว่า “อ่อนต่อโลกเกินไป ฉาบฉวยเกินไป บางครั้งไร้เดียงสาเกินไป” 

ประโยคนี้ เจียงเจ๋อหมิน ไม่ได้ตั้งใจสื่อสารไปถึงคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ แต่มันมาจากตอนที่ เจียงเจ๋อหมิน ‘สั่งสอน’ ผู้สื่อข่าวชาวฮ่องกงคนหนึ่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2000 

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตอนนั้นฮ่องกงเพิ่งกลับคืนสู่จีนได้ไม่กี่ปี มีผู้บริหารคนแรกคือ ต่งเจี้ยนหวา ซึ่งผ่านกระบวนการมาตามรัฐธรรมนูญฮ่องกง แต่คนฮ่องกงก็ยังเชื่อว่า ต่งเจี้ยนหวา เป็นแคนดิเดตของรัฐบาลที่ปักกิ่ง พูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกเลือกมาปกครองฮ่องกง 

สื่อฮ่องกงจึงมักจะตั้งแง่กับ ต่งเจี้ยนหวา และรัฐบาลจีน เวลาซักถามผู้นำรัฐบาลจีนคนสำคัญๆ ก็มักจะถามประเด็นนี้ ถามเซ้าซี้จนกระทั่งวันหนึ่ง เจียงเจ๋อหมิน ที่จัดงานแถลงข่าวร่วมกับ ต่งเจี้ยนหวา ทนไม่ไหว 

ต้องบอกก่อนว่าในยุคนั้น ผู้นำระดับประธานาธิบดีจีนยังออกมาให้ข่าวด้วยตัวเอง และต่อปากต่อคำกับนักข่าวกันซึ่งๆ หน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนในยุคของ เจียงเจ๋อหมิน มี ‘เสรีภาพ’ มากกว่ายุคหลังๆ  

ในเหตุการณ์นั้น นักข่าวจากฮ่องกงที่ชื่อ จางเป่าหวา ถามซักไซร้จนถึงกับใช้คำว่า ต่งเจี้ยนหวา ได้รับการแต่งตั้งโดยอาศัย ‘ราชโองการ’ จากรัฐบาลปักกิ่ง  

เธอจงใจใช้คำในภาษาจีนว่า ‘ราชโองการ’ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าปักกิ่งไม่ผิดอะไรกับราชสำนัก และผู้บริหารฮ่องกงคือข้าหลวงที่ถูกส่งมา ไม่ใช่คนที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย  

เจียงเจ๋อหมิน ได้ยินเข้าก็ไม่สบอารมณ์ ลุกขึ้นมาจากเก้าอี้แล้วตรงดิ่งมาที่แถวนักข่าว พร้อมกับเทศนาเสียยกใหญ่ว่า  

“คณรู้ทฤษฏีตะวันตกเป็นอย่างดี แต่ท้ายที่สุด คุณยังเด็กเกินไป เข้าใจไหม! ผมบอกคุณแล้วว่าผมช่ำชองในเรื่องนี้ มีประเทศตะวันตกใดบ้างที่ผมไม่เคยไป?! คุณต้องเข้าใจว่า ไมค์ วอลเลซ (Mike Wallace ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันที่ เจียงเจ๋อหมิน เคยให้สัมภาษณ์ด้วย) จากสหรัฐอเมริกามีประสบการณ์มากกว่าคุณมาก! เราคุยกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง! ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อควรปรับปรุงความรู้ของคุณ เข้าใจไหม?!”  

“จะยังไงก็ตาม คุณมีข้อได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าที่ไหนหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้น คุณจะวิ่งไปที่นั่นเร็วกว่านักข่าวตะวันตกมาก แต่คำถามของคุณง่ายเกินไป บางครั้งก็ไร้เดียงสา! เข้าใจไหม?! ผมขอโทษ วันนี้ผมขอคุยกับคุณในฐานะคนแก่ที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ประธานาธิบดี ผมไม่ใช่มืออาชีพด้านสื่อเช่นกัน อย่างไรก็ตามผมได้เห็นมาก จำเป็นต้องสอนประสบการณ์ชีวิตบางอย่างให้กับคุณ”  

เจียงเจ๋อหมิน พูดร่ายยาวมากกว่านี้ แต่ในภายหลังผู้คนมักจะจดจำแค่คำ 3 คำในการปะทะคารมคราวนั้น คือคำว่า “Too young too simple, sometimes naive” 

จะว่าไปแล้วมันเหมือนเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อ และผลก็คือสื่อมวลชนฮ่องกงไม่พอใจ หลังจากนั้นยังมีการประท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้คนในฮ่องกงจดจำเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากัน และนักข่าวสาวคนนั้นคือ จางเป่าหวา ก็กลายเป็นไอคอนของวงการสื่ออยู่พักหนึ่ง 

แต่เราจะเห็นว่าแม้ เจียงเจ๋อหมิน จะทำท่าทีเหมือนคุกคามสื่อ แต่อย่าลืมว่าไม่มีผู้นำจีนคนไหนก่อนหน้านี้และหลังจากนี้ที่จะมาปะทะคารมอย่างใกล้ชิดเท่ากับ เจียงเจ๋อหมิน อีกแล้ว  

มันสะท้อนว่ายุคสมัยของ เจียงเจ๋อหมิน มีความผ่อนคลายและเป็นกันเอง เสรีภาพของสื่อมีมากเสียจนต่อล่อต่อเถียงกับผู้นำจีนโดยตรงได้โดยไม่มีพิธีรีตอง และผู้นำจีนก็ไม่ได้ใช้อำนาจของตนบดขยี้สื่อเพียงเพราะรู้สึกไม่พอใจ 

สิบกว่าปีต่อมา จางเป่าหวา ก็ยังยอมรับว่ากรณีนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่าจีนในสมัย เจียงเจ๋อหมิน มีเสรีภาพมากแค่ไหน  

ความจริง แม้ว่าในเหตุการณ์นั้น เจียงเจ๋อหมิน จะหลุดปากว่าเขาโกรธ แต่ถ้าดูบรรยากาศการโต้เถียงแล้วมันไม่ได้เต็มไปด้วยอารมณ์คุกรุ่นหรือเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการเผชิญหน้า แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกันผู้ใหญ่กำลังสั่งสอนรุ่นเยาว์มากกว่า   

อย่างที่ เจียงเจ๋อหมิน บอกเองว่า “ผมได้เห็นมาก จำเป็นต้องสอนประสบการณ์ชีวิตบางอย่างให้กับคุณ” มันจึงให้ความรู้สึกเหมือนญาติผู้ใหญ่ติติงด้วยอารมณ์เอ็นดูแต่ก็เคืองๆ มากกว่า  

ความรู้ในเชิงบวกต่อเหตุการณ์ “Too young too simple, sometimes naive” ยิ่งชัดเจนขึ้นในระยะหลัง เมื่อคลิปของเหตุการณ์นี้ถูกนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียจีน จนทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ เจียงเจ๋อหมิน ขึ้นมา  

เพราะคนรุ่นใหม่ในจีนรู้สึกว่า เจียงเจ๋อหมิน เป็นผู้นำที่เข้าถึงได้ง่าย แลดูมีเมตตา และคล้ายกับญาติผู้ใหญ่มากกว่าผู้นำจีนรุ่นหลังๆ ที่วางท่าทีเย็นชาเกินไป และในระยะหลังดูน่ายำเกรง 

คนรุ่นใหม่และคนรุ่นที่เติบโตมาในยุค เจียงเจ๋อหมิน จึงเริ่มคิดถึงเขาในฐานะผู้นำจีนที่เข้าถึงได้ ใกล้ชิดประชาชน และเป็นกันเอง วาระการบริหารของ เจียงเจ๋อหมิน ในช่วงทศวรษที่ 90 จนถึงต้นทศวรรษที่ 2000 เป็นยุคสมัยที่ทุกอย่างสดใสงดงามเหมือนคนหนุ่มสาวที่อยากทำอะไรก็ทำ และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกห้ามปรามจากอำนาจเบื้องบน 

“Too young too simple, sometimes naive” จากคำตำหนิ กลายเป็นคำที่สะท้อนยุคสมัยของ เจียงเจ๋อหมิน เป็นยุคสมัยที่คนเราต่างก็เป็นคนหนุ่มสาวที่ยังอ่อนต่อโลก ยังเป็นคนง่ายๆ ฉาบฉวยแต่ก็ไม่มีจริตมารยา และไร้เดียงสาแต่ก็น่าเอ็นดู 

ดูเหมือนว่ายุคสมัยแบบนั้นได้ตายไปแล้วพร้อมๆ กับ เจียงเจ๋อหมิน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์