เปิดปม 2 นายพลรัฐประหารซูดานชิงอำนาจกันเองจนเกิดเหตุปะทะใหญ่กลางเมืองหลวง

19 เม.ย. 2566 - 09:40

  • เมื่อเรื่องของ ‘อำนาจ’ ไม่เข้าใครออกใคร จนนำไปสู่การปะทะกันของกองทัพระหว่าง 2 นายพลรัฐประหารซูดาน

  • ต้นตอของเหตุปะทะที่แท้จริงคืออะไร? ทำไมถึงบานปลายขนาดนี้? แล้วอนาคตของซูดานจะเป็นอย่างไรต่อไป?

Sudan-crisis-Rival-generals-Burhan-Dagalo-conflict-SPACEBAR-Hero
เมื่อผู้นำรัฐประหารของซูดานทั้ง 2 คนถึงจุดแตกหักขัดแย้งกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจจนเกิดการปะทะกลางเมืองขึ้นมาระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในกรุงคาร์ทูม ซึ่งดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 4 แล้ว หลังจากเปิดฉากการต่อสู้ขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 2,600 ราย (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่) 

‘การแย่งชิงอำนาจ’ ปมขัดแย้งระหว่าง 2 นายพล

ความตึงเครียดก่อตัวขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ระหว่างนายพลที่มีอำนาจมากที่สุด 2 คนของซูดาน ซึ่งเมื่อ 18 เดือนก่อนในปี 2021 พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดานและ พล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดาโกล รองผู้บัญชาการกองทัพซูดานซึ่งบัญชาการกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ได้ร่วมกันบงการรัฐประหารเพื่อขัดขวางการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่ประชาธิปไตย  

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่าง 2 ผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธได้ปะทุขึ้นหลังจากที่ผู้บัญชาการกองทัพซูดานต้องการรวม RSF เข้ากับกองทัพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูการปกครองพลเรือนนั่นเอง  

นายพลทั้งสองซึ่งมีกองกำลังหลายหมื่นนายประจำการอยู่ในเมืองหลวงต่างก็ออกมาบอกว่าจะไม่เจรจาหรือหยุดยิง แม้ว่าจะมีแรงกดดันทางการทูตจากทั่วโลกก็ตาม ซึ่งนับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประเทศที่อยู่ทางแยกระหว่างโลกอาหรับและแอฟริกา โดยเมื่อ 4 ปีก่อนได้ยุติการปกครองของเผด็จการที่ปกครองมาอย่างยาวนาน และมีบางส่วนที่ผ่านการประท้วงอย่างสงบของประชาชนส่วนใหญ่มาแล้ว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5k2wYmEK2t2dxPsp2EuO17/8eff4de2047e39d9e86bd48f1a02f344/Sudan-crisis-Rival-generals-Burhan-Dagalo-conflict-SPACEBAR-Photo01
Photo: Handout / Satellite image ©2023 Maxar Technologies / AFP
แม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจะมีการเจรจาเพื่อกลับไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่หยุดชะงักไปเพราะการทำรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2021 

ภายใต้แรงกดดันระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค กองกำลังติดอาวุธและ RSF ได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นในเดือนธันวาคมกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยและพลเรือน แต่ข้อตกลงนายหน้าระหว่างประเทศให้เพียงโครงร่างกว้างๆ ทำให้ประเด็นทางการเมืองที่ยุ่งยากที่สุดไม่สงบลงเสียที 

ระหว่างการเจรจาที่ซับซ้อนเพื่อบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายนั้น ความตึงเครียดระหว่างบูร์ฮานและดาโกลได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดประเด็นที่ว่า RSF จะรวมเข้ากับกองทัพได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้ควบคุมเครื่องบินรบและอาวุธได้ดีที่สุดกว่ากัน 

ดาโกลซึ่งคุม RSF ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมระหว่างความไม่สงบของชนเผ่าและการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ก็พยายามสร้างตัวเองให้เป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งยังตำหนิบูร์ฮานโดยกล่าวว่าผู้นำทางทหารไม่เต็มใจที่จะสละอำนาจ 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์แย้งว่าดาโกลกำลังพยายามล้างบาปชื่อเสียงของกองกำลังกึ่งทหารของเขา ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อกองทหารรักษาการณ์ที่โหดเหี้ยมไปพัวพันกับความโหดร้ายในความขัดแย้งดาร์ฟูร์ 

ทำไมสถานการณ์ถึงบานปลาย?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา RSF เริ่มส่งกองกำลังไปรอบๆ เมืองเมโรนี ทางตอนเหนือของเมืองหลวง ซึ่งเมืองนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ โดยมีสนามบินขนาดใหญ่ ทำเลใจกลางเมือง และเขื่อนไฟฟ้าที่ปลายน้ำในแม่น้ำไนล์ ในวันต่อมา RSF ยังได้ส่งกองกำลังเพิ่มเติมเข้าไปในเมืองหลวงและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้นำกองทัพ 

จากนั้นในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา การสู้รบปะทุขึ้นที่ฐานทัพทางตอนใต้ของคาร์ทูม โดยต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ริเริ่มความรุนแรง ตั้งแต่นั้นมากองทัพและ RSF ได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธหนัก รวมทั้งรถหุ้มเกราะและปืนกลติดรถบรรทุกในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นของเมืองหลวงและเมืองออมดูร์มานที่อยู่ติดกัน ขณะที่ทางกองทัพเองก็ได้โจมตีฐานทัพของ RSF ด้วยการโจมตีทางอากาศ 

การปะทะกันลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ รวมถึงเมืองชายฝั่งทางยุทธศาสตร์อย่างเมืองพอร์ทซูดานในทะเลแดงและภูมิภาคตะวันออกบนพรมแดนเอธิโอเปียและเอริเทรีย นอกจากนี้ยังมีรายงานการสู้รบในภูมิภาคดาร์ฟูร์ที่ถูกทำลายด้วยสงคราม รวมถึงสถานที่ของสหประชาชาติก็ถูกโจมตีและปล้นสะดมด้วย  

‘ซูดาน’ กำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3SrLJLk3AuUf7MHb2IyQDF/b1f8f0eef28017a7f71d05ccfed33cc2/Sudan-crisis-Rival-generals-Burhan-Dagalo-conflict-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP
การต่อสู้จะจบลงอย่างไรนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ์ในการควบคุมสถานที่สำคัญ และต่างฝ่ายต่างเรียกร้องให้อีกฝ่ายยอมจำนน โดยการปะทะกันที่รุนแรงนี้อาจทำให้นายพลทั้งสองกลับมาเจรจากันได้ยากขึ้น 

ในขณะที่การประมาณการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการทำให้กองกำลังติดอาวุธของซูดานอยู่ที่ประมาณ 210-220,000 นายที่เชื่อว่า RSF มีจำนวนประมาณ 70,000 นาย แต่ได้รับการฝึกฝนที่ดีกว่าและมีอุปกรณ์ที่ดีกว่า 

ทั้งนี้ มหาอำนาจระหว่างประเทศต่างก็แสดงความตื่นตระหนก โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับวิกฤตในซูดานเมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา นอกเหนือจากความกังวลเกี่ยวกับพลเรือนแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะมีแรงจูงใจอื่นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากซูดานมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ 

แต่สิ่งที่แน่นอนและชัดเจนสำหรับการปะทะครั้งนี้ก็คือ ‘ความทุกข์ยากของชาวซูดาน’ นั่นเอง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์