โชคดีที่ในระยะหลังมานี้บรรดาบริษัทและพนักงานทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว หรือ Work-Life Balance มากขึ้น จนบางองค์กรทดลองปรับเปลี่ยนไปทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน โดยที่พนักงานยังได้รับเงินเดือนเท่าเดิม
ตัวอย่างเช่น บริษัทในอังกฤษได้ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กลุ่มใหญ่ที่สุดในโลกเป็นเวลา 6 เดือน มีพนักงานเข้าร่วมกว่า 3,300 คน ใน 70 บริษัท โดยใช้โมเดล 100-8-100 นั่นก็คือ นายจ้างจ่ายเงินเดือนเต็ม 100% เวลาการทำงานลดลงเหลือ 80% โดยยังคงรักษาผลิตภาพ (productivity) ไว้ที่ 100% เหมือนเดิม
แล้วถ้าเราได้ทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์จริงๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง?
Work-Life Balance ดีขึ้น
ข้อดีของการทำงานน้อยลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ work-life balance ดีขึ้น พนักงานจะได้มีเวลาว่างไปทำสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เดินทางท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา หรือศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ทำอาหาร หรือทำงานบ้านซึ่งกินเวลาส่วนใหญ่ของช่วงสุดสัปดาห์
ฌ็อง เอ็มมานูเอล เดอ เนเว (Jan-Emmanuel De Neve) นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่าการมี work-life balance คือการมีเวลาทำสิ่งที่อยากทำ และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความพึงพอใจให้ตัวเอง ซึ่งหนึ่งในการจะมี work-life balance ได้ก็คือการมีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์
การทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วันของไอซ์แลนด์ระหว่างปี 2015-2019 พบว่า สวัสดิภาพของพนักงาน 2,500 คนที่เข้าร่วมดีขึ้นในแง่ของสุขภาพและความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต
ลดความเครียด
การทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ของบริษัท Prospect Guardian พบว่า พนักงานเครียดน้อยลงเมื่อมีวันหยุดเพิ่มขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งในทางกลับกันย่อมหมายความว่า พนักงานเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นในวันที่เข้าออฟฟิศทำงานด้วยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนทำงานวัยหนุ่มสาวรู้สึกเครียดในที่ทำงานมากกว่าเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่า และมากกว่า 1 ใน 4 เผยว่า พวกเขาจะเดินหน้าทำงานต่อไป แม้ว่าตัวเองจะเครียดอยู่ก็ตาม และนั่นอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้
HSE หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพจากการทำงานของพนักงานของอังกฤษเคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2016/17 อังกฤษต้องสูญเสียวันทำงานไป 12.5 ล้านวัน อันเนื่องมาจากความเครียด จากการทำงาน ความหดหู่ และความวิตกกังวล
บริษัท Perpetual Guardian ในประเทศนิวซีแลนด์ได้ทำการทดลองเพิ่มวันหยุดให้พนักงานในแต่ละสัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ช่วยลดความเครียดและเพิ่มความพอใจในการทำงาน และยังมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม 20% ซึ่งปัจจุบันการทำงาน 4 วันได้กลายเป็นนโยบายของบริษัทนี้ไปแล้ว
ลดค่าใช้จ่าย
เมื่อวันทำงานน้อยลงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหารการกินก็ย่อมลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้สำหรับพนักงานที่มีลูกเล็กก็ช่วยลดค่าเลี้ยงดูลูกได้อีกด้วย องค์กรไม่แสวงกำไร 4 Day Week Global กล่าวว่า พนักงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการดูแลบุตรมากเท่าตอนที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ สำหรับพนักงานที่มีลูก 2 คนจะประหยัดเงินได้โดยเฉลี่ย 3,232.40 ปอนด์ต่อปี (138,408 บาท) หรือประมาณ 269.36 ปอนด์ต่อเดือน (11,531 บาท)ไม่ต้องรอคอยวันศุกร์อย่างใจจดใจจ่อ
ทุกวันนี้เหล่ามนุษย์เงินเดือนต่างรอคอยวันศุกร์อย่างใจจดใจจ่อเพื่อที่จะได้พักผ่อนในวันเสาร์-อาทิตย์ เห็นได้จากวลี T.G.I.F (Thank God It’s Friday) ที่มักจะนำมาใช้กันทุกวันศุกร์
มีเวลาให้ครอบครัว และสัตว์เลี้ยงที่เรารักมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ที่เราต้องทำงานอย่างหนักหน่วงตลอดทั้งสัปดาห์ กว่าจะได้กลับมาพูดคุยกับคนที่เรารัก หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงของเรามันก็แทบจะไม่มีเวลาในส่วนนั้นแล้ว แม้ว่าเราจะรู้อยู่เต็มอกว่าการทำแบบนั้นจะช่วยเติมเต็มพลังใจให้เราอย่างมาก นอกจากความเครียดจากงานที่มีจะหมดไปแล้ว ยังได้ใช้เวลาเล็กๆ น้อยๆ ในวันนั้นๆ ไปกับการพูดคุยกับคนในครอบครัว โยนลูกบอลเล่นกับน้องหมา หรือจกพุงน้องแมว แค่นี้ก็รู้สึกผ่อนคลายความเหนื่อยล้ามากขึ้นแล้ว
เมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น ไอเดียก็บรรเจิดมากขึ้น
ความคิดเห็นนี้อาจจะดูเวอร์ แต่เมื่อเราลองถอยหลังออกมาจากงานรายวันที่หนักหน่วง หย่อนร่างตัวเองลงบนเก้าอี้ตัวโปรดในที่เงียบๆ จิบเบียร์เย็นๆ สักกระป๋อง ค่อยๆ ปล่อยให้ความคิดในหัวล่องลอยไปเรื่อยๆ เราอาจจะได้ไอเดียในการทำงานใหม่ๆ ที่ตัวเราเองก็ยังคาดไม่ถึงเลยก็ได้ลดคาร์บอนฟุตปรินต์
ผลการศึกษาเมื่อปี 2019 โดยบริษัทวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า การปรับเปลี่ยนมาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดของประเทศลดลงเกือบ 20% หรือราว 127 ล้านเมตริกตัน ภายในปี 2025 หรือเทียบเท่ากับการนำรถส่วนตัวทั้งหมดออกจากท้องถนนในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับในรัฐยูทาห์ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 6,000 เมตริกตันต่อปีแนวคิดการทำงานแบบนี้ สามารถทำได้กับทุกงานหรือไม่?
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดลดวันทำงานมองว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้กับทุกภาคส่วน งานบางประเภทต้องการการทำงานแบบ 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ใช้ไม่ได้จริงกับสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ งานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉุกเฉิน เครือข่ายขนส่งสาธารณะ และการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังถูกมองว่าไม่เหมาะกับพนักงานทุกคน เนื่องจากบางคนชอบโครงสร้างการทำงานแบบ 5 วันมากกว่า หรือบางคนชอบทำงานล่วงเวลา
ส่วนใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนเป็นบริษัทตะวันตก ยุโรป ในเอเชียมองเรื่องนี้อย่างไร
ผลการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของบริษัทวิจัย Milieu พบว่าพนักงานในสิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทยหลายคนสนใจการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยกว่า 3 ใน 4 หรือราว 76% ของชาวสิงคโปร์ให้ความสนใจอย่างมากต่องานที่มีวันหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน
ลดวันทำงานก็ต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันสิ
หลายคนอาจกังวลว่าขนาดมี 5 วันยังทำงานไม่ทัน ถ้าหยุดเพิ่มอีก 1 วันมีหวังงานท่วมหัวแน่นอน จุดนี้อาจไม่จำเป็นเสมอไป ตัวอย่างเช่นโครงการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ของเบลเยียมกำหนดให้พนักงานมีชั่วโมงการทำงานต่อวันเท่ากับที่เคยทำต่อวันในการทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เคยทำวันละ 8 ชั่วโมงก็ยังคงทำและยังไฟเขียวให้พนักงานไม่ต้องสนใจข้อความที่ส่งมาหลังเวลางานโดยไม่มีการลงโทษใดๆส่วนโครงการทดลองลดวันทำงานในสหราชอาณาจักรกำหนดให้พนักงานทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆ ยังคงเดิม
ประสิทธิภาพการทำงานยังโอเคอยู่ไหม
ช่วงครึ่งทางของการทดลองลดวันทำงานในสหราชอาณาจักรผลปรากฏว่า 88% ของบริษัทที่เข้าร่วมรายงานว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นไปด้วยดีสำหรับธุรกิจของพวกเขา ขณะที่ 46% บอกว่า ผลิตภาพของธุรกิจคงอยู่ในระดับเดิม และ 34% ระบุว่า ดีขึ้นเล็กน้อยบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองในสหราชอาณาจักรจะถูกขอให้ทำแบบสำรวจโดย 35 บริษัทจาก 41 บริษัทระบุว่า พวกเขามีแนวโน้ม หรือมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเดินหน้าทำงานสัปดาห์ละ 4 วันต่อไป และ 6 บริษัทรายงานว่า ผลิตภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แคลร์ แดเนียลส์ ซีอีโอ Trio Media หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองลดวันทำงานเผยว่า จนถึงตอนนี้การทดลองทำงาน 5 วันประสบความสำเร็จมากสำหรับเรา ผลิตภาพยังคงสูง สุขภาพของคนในทีมดีขึ้น ผลประกอบการทางธุรกิจของเราในด้านการเงินดีขึ้น 44%
แล้วในอนาคตจะทำได้จริงๆ ไหม
กรณีศึกษาไอซ์แลนด์บอกว่าเป็นไปได้ และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบรุดหน้า กุดมุนดูร์ ฮารัลดส์สัน นักวิจัยจาก Alda เผยว่า เส้นทางการลดวันทำงานของไอซ์แลนด์บอกเราว่าไม่เพียงแต่มันจะเป็นไปได้ในการทำงานน้อยลงในยุคสมัยใหม่เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าก็เป็นไปได้เช่นกันอย่างไรก็ดี นิชชี รัสเซลล์ กรรมการผู้จัดการ Waterwise ยอมรับว่า การทดลองในช่วงแรกไม่ง่าย “เราทุกคนต้องลงมือทำมัน บางสัปดาห์ก็ง่ายกว่าสัปดาห์อื่นๆ แต่ที่ผ่านมามันดีต่อสุขภาพเรามาก และพวกเราก็มีผลิตภาพมากขึ้นแล้ว”
