ทำความรู้จัก ‘นาฬิกาวันโลกาวินาศ’ สิ่งที่ทำนายอนาคตว่าโลกใกล้ถึงจุดหายนะหรือยัง

24 ม.ค. 2566 - 09:56

  • นาฬิกาเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดเพียงใด ซึ่งมีเวลาเที่ยงคืนเป็นจุดที่ทำลายล้างในทางทฤษฎี

What-is-Doomsday-Clock-2023-SPACEBAR-Hero

ทำความรู้จัก ‘นาฬิกาวันโลกาวินาศ’

‘นาฬิกาวันโลกาวินาศ’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1947 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูและมี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ร่วมด้วย เป็นนาฬิกาเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเปรียบการนับถอยหลังมหันตภัยทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้น และแสดงให้เห็นว่าโลกใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดเพียงใด ซึ่งมีเวลาเที่ยงคืนเป็นจุดที่ทำลายล้างในทางทฤษฎี 

ในวันอังคาร (24 ม.ค.) นักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณูจะรีเซ็ตนาฬิกาวันโลกาวินาศ โดยพวกเขาเชื่อว่ามนุษยชาติใกล้จะถึงกาลอวสานเพียงใดในปี 2023 เนื่องจากภัยคุกคามที่มีอยู่ อาทิเช่น สงครามนิวเคลียร์ ความตึงเครียดทางการเมือง อาวุธและเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่โรคระบาด 

นอกจากนี้ พวกเขายังกล่าวว่า การรีเซ็ตเข็มนาฬิกาประจำปีควรถูกมองว่าเป็น ‘การเดินทางย้อนกลับสู่อดีต’ โดยการตัดสินใจรีเซ็ตในแต่ละปีจะดำเนินการโดยคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของแถลงการณ์นักวิทยาศาสตร์ปรมาณู (Bulletin of the Atomic Scientists) ร่วมด้วยคณะกรรมการผู้สนับสนุน ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้งหมด 13 คน 

สำหรับปี 2023 แถลงการณ์ระบุว่า พวกเขาจะย้อนไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภัยคุกคามทางชีวภาพ การแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ วิกฤตสภาพอากาศต่อเนื่อง สงครามไซเบอร์ และเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน 

ทั้งนี้ เข็มนาฬิกาเคยถูกตั้งไว้ที่ 100 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืนตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 โดยเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เที่ยงคืนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (ทำลายสถิติเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดที่เคยตั้งไว้คือ 2 นาทีก่อนถึงเที่ยงคืนในปี 1953 เมื่อสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตทดสอบอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ และอีกครั้งหนึ่งในปี 2018 จากความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์และอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และเดินต่อไปเรื่อยๆ ในปี 2022 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแต่เดิมนาฬิกาจะถูกตั้งไว้ที่ 7 นาทีก่อนถึงเที่ยงคืน 

“ดูเหมือนว่านาฬิกายังคงเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของอารยธรรมมากที่สุด เพราะโลกยังติดอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายอย่างยิ่ง” แถลงการณ์ระบุเมื่อปีที่แล้ว (2022) 

ส่วนช่วงเวลาที่ถูกตั้งไกลจากเที่ยงคืนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ก็คือ 17 นาทีก่อนถึงเที่ยงคืนในปี 1991 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดสงครามเย็น 

อย่างไรก็ดี เข็มนาฬิกาอาจจะขยับเข้าใกล้หรือห่างจากเที่ยงคืน (จุดหายนะ) มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและเหตุการณ์การเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ประเมิน 

ตั้งนาฬิกาอย่างไร? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4cGpRAcTCtHwZaqiMXL1wt/21a0c5af343df2c593e26dd117965ebf/What-is-Doomsday-Clock-2023-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP / Adrian DENNIS
ปัจจุบันนาฬิกาวันโลกาวินาศมีอายุราว 76 ปีแล้วตั้งอยู่ที่สำนักงาน Bulletin ในมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ  

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในชิคาโกในนามของแถลงการณ์นักวิทยาศาสตร์ปรมาณู (Bulletin of the Atomic Scientists) จะทำการอัปเดตเวลาเป็นประจำทุกปีโดยอิงตามเหตุการณ์ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดหายนะต่อโลกและมนุษยชาติ  

ในแต่ละปีจะมีการรวมตัวของคณะกรรมการนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ รวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล 13 คน เพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์โลกและกำหนดตำแหน่งที่จะวางเข็มนาฬิกาในปีนั้นๆ 

และทุกเดือนมกราคม นักวิทยาศาสตร์จะประเมินว่าโลกใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดเพียงใดในมุมมองของพวกเขา โดยใช้ความรู้คำนวณว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเพื่อเลื่อนนาฬิกาให้เข้าใกล้หรือไกลออกไปจากเที่ยงคืน  

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว Bulletin จะตระหนักถึงภัยคุกคามสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่กระจายของนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน รวมถึงความปลอดภัยทางชีวภาพและไซเบอร์  

“ภัยคุกคามแต่ละอย่างเหล่านี้มีศักยภาพในการทำลายล้างอารยธรรมและทำให้โลกเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ไม่ได้” แถลงการณ์จาก Bulletin ระบุ  

ตอนนี้เวลาของโลกใกล้ถึงจุดจบแล้วหรือยัง? 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7d8y6kEfuGTqfahQON1dlI/7afc46bfcd319f2172c23ceab4f07f57/What-is-Doomsday-Clock-2023-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP / EVA HAMBACH
หลังจากประกาศรีเซ็ตเวลาใหม่ในปี 2023 ก็พบว่า ในตอนนี้เข็มหน้าปัดนาฬิกาโลกาวินาศยังคงตั้งอยู่ที่ 100 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เที่ยงคืนที่สุดเท่าที่เคยมีมาอย่างที่เคยกล่าวไว้แล้วข้างต้น  

ในปีนี้ การตั้งค่าเข็มนาฬิกาได้สะท้อนให้เห็นเป็นครั้งแรกของโลกหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้รื้อฟื้นความกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์ว่าอาจจะเกิดขึ้น 

“ความเสี่ยงของการยกระดับจากสงครามแบบเดิมไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นเรื่องจริง ไม่มีใครรู้ว่าปูตินเห็นข้อได้เปรียบทางทหารหรือยุทธศาสตร์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงหรือไม่ หรือตรงกันข้ามเขาอาจจะขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อจุดประสงค์ในการบีบบังคับก็ได้” ชารอน สควอสโซนี ประธานร่วมของ Bulletin กล่าว 

ทุกวันนี้ภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ยังคงอยู่ แต่ภัยคุกคามอื่นที่ใหญ่พอๆ กัน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เป็นเรื่องยากมากที่จะมีความรู้สึกที่ชัดเจนก่อนและหลังเที่ยงคืนว่านั่นหมายถึงอะไร เพราะสำหรับสภาพอากาศแล้ว…มีจุดเปลี่ยนที่คุณไม่สามารถย้อนกลับมาได้ และคุณจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบเหล่านั้นจนกว่าจะผ่านไปหลายปี แต่มันจะยากมากหากสามารถกู้คืนได้” ราเชล บรอนสัน ผู้อำนวยการของ Bulletin 

อย่างไรก็ดี Bulletin ได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่านาฬิกาไม่ได้มีไว้เพื่อทำให้ผู้คนหวาดกลัว แต่เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาลงมือทำ 

ในปี 2022 ท่ามกลางสงครามรัสเซียยูเครนได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกมากมายโดยเฉพาะเชื้อเพลิงและพลังงาน นอกจากนี้ยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือใช้ โดยขีปนาวุธลูกดังกล่าวเป็นขีปนาวุธที่ยิงได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 อีกด้วย 

เคนเน็ตต์ เบนเนดิกต์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิคาโกซึ่งเป็นผู้นำในหัวข้อภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ในรายงานของ The Global Challenges Foundation กล่าวว่า “ความเสี่ยงทางนิวเคลียร์จากสงครามมีมากกว่าวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเสียอีก” 

ทั้งนี้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ หรือมีการคาดการณ์ไว้เราก็อาจทำได้แค่ป้องกันแม้จะไม่ 100% ก็ตาม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในปีต่อๆ ไปนาฬิกาวันโลกาวินาศจะขยับเข้าใกล้หรือไกลออกไปจากเวลาเที่ยงคืน และนั่นก็เป็นสิ่งที่เราก็คาดไม่ถึงเช่นเดียวกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์