ท่ามกลางสงครามที่มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ หลังกองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสต่างก็ยิงอาวุธใส่กันไม่หยุด ขณะเดียวกันก็มีรายงานเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ที่ผ่านมาว่า “ปาเลสไตน์กล่าวหาอิสราเอลว่าใช้ ‘ระเบิดฟอสฟอรัสขาว’ (White Phosphorus Bomb) ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นทางตะวันตกของฉนวนกาซา”
ความกังวลเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้หลังจากที่ปาเลสไตน์กล่าวหาว่าอิสราเอลหันไปใช้อาวุธที่ถูกจำกัดภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law) ซึ่งเป็นกฎในการจำกัดผลกระทบของความขัดแย้งด้วยอาวุธ
สำนักข่าว Anadolu Agency รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวทางการแพทย์เมื่อวันพุธ (11 ต.ค.) ที่ผ่านมาว่า “ผู้คนหลายร้อยคนในฉนวนกาซาประสบปัญหาระบบทางเดินหายใจและหายใจลำบาก”
ทว่าอิสราเอลไม่ได้ออกมาตอบโต้ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว และในตอนนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แล้วฟอสฟอรัสขาวที่ว่านั้นคืออะไรกัน? ทำไมถึงถูกจำกัดการใช้?
‘ฟอสฟอรัสขาว’ คืออะไร?
‘ฟอสฟอรัสขาว’ เป็นสารเคมีคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองใส มีกลิ่นฉุนคล้ายกระเทียม และเป็นสารเคมีที่ติดไฟได้ง่ายซึ่งจะเผาไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็วและสว่างจ้าเมื่อสัมผัสกับออกซิเจน เพราะความร้ายกาจของมันจึงทำให้กองทัพทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ นำไปใช้เป็นอาวุธก่อความไม่สงบเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น ให้แสงสว่างแก่เป้าหมายระหว่างการโจมตีในเวลากลางคืน หรือเพื่อสร้างความเสียหายให้กับศัตรู
ปฏิกิริยาเคมีดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความร้อนจัด (ประมาณ 815 องศาเซลเซียส) และกองทัพทั่วโลกมักใช้มันในการก่อม่านควันสีขาวซึ่งสามารถสร้างความรำคาญแก่ศัตรู และทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาได้
ผลกระทบร้ายแรงไม่น้อย…
เมื่อติดไฟแล้ว สารนี้จะดับยากมาก เนื่องจากมันเกาะติดกับพื้นผิวต่างๆ รวมทั้งผิวหนังและเสื้อผ้าด้วย ทั้งยังซึมเข้าสู่ร่างกายด้วยการสูดดม หรือกินได้อีกด้วย ดังนั้น มันจึงเป็นอันตรายต่อพลเรือน เพราะอาจทำให้เกิดการไหม้อย่างรุนแรงที่เจาะลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อและกระดูก รวมถึงภาวะหายใจล้มเหลว ติดเชื้อ ช็อก หรือแม้แต่การล้มเหลวของอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับ และไต ในกรณีร้ายแรงก็อาจถึงแก่ชีวิตได้
“การบาดเจ็บจากไฟไหม้ไม่ว่าจะได้รับโดยตรงจากการกระทำของเพลิงไหม้หรือเป็นผลจากเพลิงไหม้ที่เกิดจากสารดังกล่าวนั้นล้วนสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก และต้องใช้ทรัพยากรพิเศษสำหรับการรักษาพยาบาล ซึ่งอยู่นอกเหนือการเข้าถึงของประเทศส่วนใหญ่” สหประชาชาติกล่าวในปี 1972
นอกจากนี้ ไฟที่เกิดจากระเบิดฟอสฟอรัสขาวยังสามารถทำลายโครงสร้างและทรัพย์สินของพลเรือน สร้างความเสียหายต่อพืชผล และทำลายปศุสัตว์ได้
เป็นสารที่นำมาใช้ในสนามรบได้…แต่ห้ามใช้ในพื้นที่พลเรือนเป็นอันขาด!
ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ระบุว่า “ฟอสฟอรัสขาวยังเคยถูกนำมาใช้ในการสู้รบในอดีต ซึ่งรวมถึงสงครามโลก ในอัฟกานิสถาน ซีเรีย และฉนวนกาซาด้วย” โดยถูกนำมาใช้ในทางทหารครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1800
ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้จัดให้ฟอสฟอรัสขาวเป็น ‘อาวุธก่อความไม่สงบ’ ‘อาวุธเพลิง’ และ ‘อาวุธแห่งความสยดสยอง’ จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1980 สหประชาชาติจึงออกกฎห้ามใช้อาวุธก่อความไม่สงบกับพลเรือนและกองทัพที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าฟอสฟอรัสขาวจะสามารถใช้ในสนามรบได้ แต่ก็เป็นสิ่งต้องห้ามโดยสิ้นเชิงโดยเฉพาะเขตที่ตั้งถิ่นฐานของพลเรือนภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หากว่ามีการใช้ในพื้นที่ดังกล่าวจะถือว่าเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’
อิสราเอลเคยใช้ ‘ฟอสฟอรัสขาว’ มาก่อนหรือไม่?

ตามรายงานฮิวแมนไรท์วอทช์อ้างว่า “อิสราเอลใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ฟอสฟอรัสขาวอย่างกว้างขวางในการปฏิบัติการทางทหาร 22 วันในฉนวนกาซาที่เรียกว่า ‘ปฏิบัติการแคสต์ลีด’ (Operation Cast Lead) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2008 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2009
“ยุทธโธปกรณ์ฟอสฟอรัสขาวไม่ได้สังหารพลเรือนมากที่สุดในฉนวนกาซา เนื่องจากผู้คนเสียชีวิตจากขีปนาวุธ ระเบิด ปืนใหญ่แบบเล็ง กระสุนรถถัง และการยิงด้วยอาวุธขนาดเล็ก” รายงานระบุ
อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งว่าการใช้สิ่งเหล่านี้ในละแวกใกล้เคียงที่มีประชากรหนาแน่นถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อพลเรือน
ขณะที่ การสอบสวนของสหประชาชาติเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสระบุว่า “มีหลักฐานที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าอาจมี ‘การก่ออาชญากรรมสงคราม’ ”
ทั้งนี้ คณะกรรมการสืบสวนระดับสูง (COI) ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2021 เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งหมด และกล่าวว่าได้รวบรวมและรักษาหลักฐานอาชญากรรมสงครามสำหรับความขัดแย้งในปัจจุบันที่กระทำโดยทุกฝ่ายไว้แล้ว
“การจับพลเรือนเป็นตัวประกัน และใช้พลเรือนเป็นเกราะป้องกันมนุษย์ถือเป็นอาชญากรรมสงครามนอกจากนี้ ยังเป็นความกังวลอย่างยิ่งต่อการที่อิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซาซึ่งจะทำให้พลเรือนเสียชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย และถือเป็นการลงโทษแบบเหมารวม (collective punishment)” แถลงการณ์ระบุ