นักวิทย์อธิบาย ‘เชื้อราซอมบี้’ ใน ‘The Last of Us’ มีจริงไหมและกระจายสู่คนได้หรือเปล่า?

26 ม.ค. 2566 - 10:12

  • เชื้อราที่เรียกว่า ‘คอร์ไดเซป (Cordyceps)’ รูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ด จริงๆ แล้วมนุษย์เราสามารถติดเชื้อจากมันและถูกครอบงำจิตใจเหมือนซอมบี้จริงไหม?

What-scientists-say-about-real-life-zombie-fungi-that-inspired-The-Last-of-Us-SPACEBAR-Thumbnail
หลายคนคงสงสัยว่าซีรีส์หรือหนังซอมบี้ที่เราดูกันทุกวันนี้ จริงๆ แล้วสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วฟื้น หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ศพที่กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างพวกมันมีอยู่จริงหรือเปล่า? 

ทว่ากระแสซอมบี้นั้นได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากซีรีส์วิดีโอเกมอย่าง ‘The Last Of Us’ ฉายผ่านช่องทาง HBO GO เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับไม่ใช่ไวรัสที่เปลี่ยนคนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ไร้สมอง แต่เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘คอร์ไดเซป (Cordyceps)’ ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ด ซึ่งเป็นเชื้อราที่เข้าไปครอบงำจิตใจและร่างกายมนุษย์และสั่งการให้พวกเขาเหล่านั้นแพร่กระจายเชื้อราชนิดนี้ไปยังชุมชนของผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ 

แล้ว ‘เห็ดซอมบี้’ ที่ว่านี้มันมีจริงหรือ? 

ผู้สร้างซีรีส์ ‘The Last of Us’ กล่าวว่า พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากสารคดีชุด ‘Planet Earth’ ของ BBC ซึ่งบรรยายถึงมดที่ติดเชื้อราจนเกิดอาการ ‘Hijacks Brains’ หรือภาวะสมองถูกปล้น จนทำให้มันถูกบังคับให้ปีนต้นไม้และห้อยลงมาเหนือพื้นป่า โดยเชื้อราจะซึมสู่ร่างกายของมดจากภายในสู่ภายนอก จากนั้นมดตัวนั้นจะปล่อยสปอร์จำนวนมากแพร่ไปยังตัวอื่นและเพื่อสร้าง ‘มดซอมบี้’ ต่อไป 

เมื่อ Planet Earth เปิดตัวฉายในปี 2006 ซึ่งในสารคดีอ้างว่า เชื้อรามดซอมบี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Cordyceps แต่จากการศึกษาทางพันธุกรรมได้จัดให้เชื้อรานี้อยู่ในกลุ่ม ‘ออฟฟิออคคอร์ไดเซป (Ophiocordyceps)’ อีกกลุ่มหนึ่ง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1T7re7ZxXv80QlyKToxEk8/0d2d8e2d020557eaf0c5ca12cb83fc3a/What-scientists-say-about-real-life-zombie-fungi-that-inspired-The-Last-of-Us-SPACEBAR-Photo01
Photo: Wikipedia / David P. Hughes, Maj-Britt Pontoppidan
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเชื้อรากลุ่ม Ophiocordyceps อีกกว่า 100 สายพันธุ์ที่แพร่เชื้อไปยังแมลงหลากหลายชนิด รวมถึงผีเสื้อ แมลงเม่า และแมลงปีกแข็ง โดยมีอย่างน้อย 35 สายพันธุ์ที่เชื้อรานี้เข้าไปสั่งการและควบคุมจิตใจของพวกมัน 

จูอาว์ อาราอูโจ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ด้านเห็ดราที่สถาบันพฤกษศาสตร์นิวยอร์กกล่าวว่า “เรารู้ว่ามีสัตว์ที่ติดเชื้อรานี้เพียงแค่ 35 ชนิดเท่านั้น แต่ประมาณการของเรานั้นมีมากกว่า 600 ชนิดซึ่งยังต้องรอคำอธิบาย” 

ดูคลิปสารคดีชุด ‘Planet Earth’ ได้ที่นี่ คลิกลิงก์ 
เมื่ออิงจากหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว เชื้อราชนิดนี้จึงมีอยู่จริงและสามารถเปลี่ยนแมลงให้กลายเป็นซอมบี้ได้จริงๆ ด้วย ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเป็นไปในทิศทางที่ดีเสียด้วย แต่ว่าเชื้อรานี้มันจะเป็นภัยคุกคามต่อเราหรือไม่? 

ข้อเท็จจริงระบุว่า มันเป็นเรื่องที่สบายใจได้สำหรับใครที่รับประทานถั่งเช่า หรือ Cordyceps มาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว พวกเขาจะไม่กลายเป็นคน
คลั่งหรอก เพราะมันเป็นสารสกัดยาจีนโบราณที่มีส่วนผสมของเห็ดรากลุ่ม Cordyceps ใช้รักษาโรคไตและโรคอื่นๆ ซึ่งแบรนด์เพื่อสุขภาพหลายแบรนด์ก็กำลังทำการตลาดกันอยู่มาก 

มนุษย์สามารถติดเชื้อจากเห็ดซอมบี้และมันควบคุมเราได้หรือไม่? 

แม้ว่าเห็ดซอมบี้จะมีอยู่จริงและมีอยู่มากมายด้วย แต่ อาราอูโจ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ก็ไม่กังวลว่าเชื้อ Ophiocordyceps จะแพร่เชื้อสู่ผู้คน 

ชาลิสสา เดอ เบกเกอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอูเทร็คท์ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า “พวกมันมีความจำเพาะต่อสายพันธุ์มาก” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6xlAYS2YJqPNKKmqeDF5iN/ce13d4eea3123ff3e5d7901a6c134a4b/What-scientists-say-about-real-life-zombie-fungi-that-inspired-The-Last-of-Us-SPACEBAR-Photo02
Photo: มดซอมบี้ที่ติดเชื้อจากเชื้อรา ‘Ophiocordyceps’ (Wikipedia / Lenapcrd)
Ophiocordyceps ที่รู้จักกันแต่ละชนิดจะเข้าครอบงำแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง และความจำเพาะนั้นเป็นดาบสองคม “พวกมันมีกลไกที่ประณีตมากในการโต้ตอบกับโฮสต์ของพวกมัน และทำสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ เช่น การเปลี่ยนพฤติกรรม แต่พวกมันไม่สามารถกระโดดจากสปีชีส์หนึ่งไปยังอีกสปีชีส์หนึ่งได้ด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับสิ่งมีชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกันทางไกลอย่างมนุษย์” เดอ เบกเกอร์ อธิบาย 

ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อ Ophiocordyceps นั้นเห็นได้จากการโต้ตอบกับเชื้อราที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นอันตราย เนื่องจากผู้คนในบางส่วนของเอเชียใช้ยาแผนโบราณชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ถั่งเช่า’ (Ophiocordyceps sinensis) และนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเชื้อรานี้ก็ไม่ติดเชื้อจากมันด้วย 

“ผมสูดดมสปอร์ของ Ophiocordyceps ตลอดเวลา เพราะฉันทำงานอย่างใกล้ชิดกับพวกมัน” อาราอูโจ (ผู้ซึ่งยังไม่เป็นซอมบี้) กล่าว 

หากถามว่าเรามีสิทธิที่จะติดเชื้อรานี้ไหม? คำตอบก็คือ ‘ไม่’ อย่างที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า ทุกสิ่งในร่างกายมนุษย์แตกต่างจากแมลงมาก เชื้อราเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดการกับแมลงโดยเฉพาะในช่วงหลายล้านปี ซึ่งแต่ละชนิดรู้วิธีจัดการกับแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น 

แต่จากฉากใน The Last of Us อ้างอิงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เชื้อราที่เป็นอันตรายทนต่ออุณหภูมิที่ร้อนขึ้นได้ เป็นผลให้เชื้อราเหล่านี้สามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ไปยังมนุษย์เลือดอุ่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งนั่นเป็นข้อกังวลที่แท้จริงหรือไม่? 

การติดเชื้อราส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือถ้าคุณเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง สปอร์บางชนิดอาจเข้าไปในปอดของคุณและทำให้เกิดปัญหาได้ แต่เชื้อราส่วนใหญ่ไม่สามารถเติบโตได้ที่อุณหภูมิร่างกายของเรา เพราะเชื้อราส่วนใหญ่ชอบอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้น 

นอกจากนี้ การทดลองบางอย่างยังแสดงให้เห็นว่าเชื้อราอาจปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ แน่นอนว่าการติดเชื้อราอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราอาจจะปลอดภัยจาก Ophiocordyceps แต่ เดวิด ฮิวจ์ส หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับซีรีส์วิดีโอเกม กล่าวว่า “เรามีบทเรียนที่ต้องเรียนรู้จาก The Last of Us ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีอยู่ต่อมนุษยชาติ…ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” โดยงานวิจัยของเขานั้นไม่ได้มีการอ้างถึงมดซอมบี้ 

เชื้อรากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

The Last of Us ชี้ประเด็นที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจกระตุ้นให้เชื้อราปรับตัวให้เข้ากับที่อยู่อาศัยที่ร้อนขึ้น แน่นอนว่ามันเคยเกิดขึ้นจริง เมื่อเชื้อรา ‘แคนดิดา ออริส (Candida auris)’ เป็นเชื้อดื้อยาซึ่งถูกค้นพบในผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นเป็นรายแรกปี 2009 และหลังจากนั้นก็พบว่ามันแพร่กระจายไปกว่า 30 ประเทศ 

“ในโลกที่ร้อนขึ้น เชื้อราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นด้วย และคุณลองจินตนาการดูว่าถ้าอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเติบโตสูงขึ้นและใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายของเรามากขึ้น…ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตมนุษย์จะมีการติดเชื้อราในมนุษย์มากกว่าที่เราเห็นในตอนนี้” เดอ เบกเกอร์กล่าว 

ดิมิทริออส คอนโตยานนิส รองหัวหน้าแผนกอายุรศาสตร์ประจำห้องแล็บการแพทย์มหาวิทยาลัยเทกซัส และหัวหน้าศูนย์วิจัยเชื้อราวิทยา กล่าวว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่การระบาดของเชื้อราจะเป็นวงกว้าง…มันขึ้นอยู่กับว่าการติดเชื้อรามีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายในมนุษย์อย่างไร” 

นอกจากนี้ คอนโตยานนิส ยังตั้งข้อสังเกตว่าโรคเชื้อรานั้นรักษาได้ยากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเชื้อราสร้างจากเซลล์ยูแคริโอตและมีโครงสร้างเซลล์พื้นฐานเหมือนกันกับมนุษย์ ซึ่งทำให้ยากต่อการหาวิธีการรักษาและอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นในอนาคตอาจทำให้มีการติดเชื้อรามากขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 

ขณะที่ ฮิวจ์ส กล่าวว่า เขาหวังว่าผู้ที่มีส่วนร่วมกับซีรีส์  The Last of Us จะเห็นความคล้ายคลึงกันกับความท้าทายในชีวิตจริงที่โลกของเราเผชิญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามด้านสุขภาพใหม่ๆ ที่จะมาพร้อมกับมัน “สิ่งทั้งหมดคือการศึกษาตามเวลาจริงในสิ่งที่เราให้ความสนใจและสิ่งที่เราดำเนินการ” เขากล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์