ภัยเงียบที่ (อาจ) เกิดขึ้นหลังเหตุกราดยิง!
หลังจากเกิดเหตุกราดยิงใจกลางห้างดังสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาที่ไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้สูญเสียและครอบครัวเท่านั้น แต่มันยังทิ้งร่องรอยและปมในใจให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดยสำหรับผู้รอดชีวิต ครอบครัวของเหยื่อ และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อาจได้รับผลกระทบทางจิตที่อาจรุนแรงและยาวนาน
แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่ไม่ค่อยพบเจอเหตุความรุนแรงจากปืนบ่อยนักหรือไม่เคยได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุความรุนแรงก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกกลัว โกรธ หรือทำอะไรไม่ถูก นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า การเสพสื่ออย่างต่อเนื่องหลังเกิดเหตุร้ายก็สามารถนำไปสู่ความเครียดเฉียบพลันได้เช่นเดียวกัน
“มันส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของเราเกี่ยวกับความเปราะบางและความเสี่ยง” เอริกา เฟลิกซ์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว
และนั่นอาจเป็นผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับเราแบบไม่รู้ตัว โดยจะพบบ่อยที่สุดในหมู่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิง ซึ่งก็คือ ‘ภาวะซึมเศร้า’ และ ‘โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนขวัญ’ (PTSD) หรืออาการภาวะทางจิต ‘PTSD’
โรเบิร์ตส์ หัวหน้าโครงการภาวะแทรกแซงการบาดเจ็บทางตอนใต้ของเนวาดา (the Trauma Intervention Program) เผยว่า การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการประสบหรือเห็นเหตุการณ์กราดยิงอาจนำไปสู่ผลกระทบทางจิตใจที่ร้ายแรง เช่น ความทุกข์ทรมาน ความวิตกกังวล ทั้งนี้ อาการ PTSD อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล”
“คนหนึ่งอาจมีอารมณ์ความรู้สึกและเศร้าจริงๆ แต่อีกคนหนึ่งอาจมีความกลัวอย่างมาก ส่วนคนอื่นๆ อาจดูไร้อารมณ์ นั่นก็เพราะว่าคนเหล่านั้นคงตกใจมาก” โรเบิร์ตส์กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ศูนย์ดูแล PTSD ของกระทรวงทหารผ่านศึกแห่งฯ ระบุว่า “พบ PTSD ประมาณ 28% ของผู้ที่เคยพบเห็นเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกัน ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงจะมีอาการเครียดเฉียบพลันด้วย”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุขภาพบอกว่า “ความทุกข์ทรมานระลอกสองอาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์รุนแรง…เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีความทรงจำอันแสนสาหัสเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ แต่เมื่อความทรงจำเหล่านั้นล่วงล้ำ ผลลัพธ์อาจเป็น PTSD ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยที่ทำให้คนเรารู้สึกวิตกกังวล โดดเดี่ยว หดหู่ และมักจะหันไปพึ่งการรักษาตัวเองในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาอาการ”
“เราทุกคนอาศัยอยู่ในโลกที่เราคิดว่ามันเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย และทันใดนั้น เมื่อมันไม่ปลอดภัย เราก็เริ่มรู้สึกหวาดกลัวจนเกินไป” รามู โคมันดูริ จิตแพทย์กล่าว
แล้วจะจัดการกับผลกระทบทางจิตจากเหตุความรุนแรงได้อย่างไร?

ดร.เมแกน แอล.แรนนีย์ แพทย์ฉุกเฉินและคณบดีฝ่ายวิชาการของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์แนะนำว่า
- “สิ่งสำคัญคือต้องยอมว่าตัวเองรู้สึกเศร้าโศก แทนที่จะเก็บเอาไว้
- ตัดการเชื่อมต่อจากสื่อเป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้ตัวเองบอบช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- หางานอดิเรกที่ได้สัมผัสธรรมชาติ เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เดินป่า เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามคิดเชิงบวกและให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ
- กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ
- เข้ารับคำแนะนำจากแพทย์”