จะล้ำเกินไปแล้ว! AI ลอกเลียนแบบลายมือมนุษย์ได้เหมือนเป๊ะ

26 ก.พ. 2567 - 03:00

  • ล่าสุดพัฒนาการของ AI ล้ำไปถึงขั้นที่ว่าสามารถลอกเลียนแบบลายมือมนุษย์ได้เหมือนเป๊ะจนแทบแยกไม่ออก

  • ทีมวิจัยหวังว่าข้อความจากการเขียนของ AI จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการหรือได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจับปากกาเขียนได้ แต่ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ AI นี้จะถูกนำไปใช้ในการโกงหรือหลอกลวงต้มตุ๋น

ai-can-now-imitate-human-handwriting-fraud and fake documents-concerned-SPACEBAR-Hero.jpg

ลำพังปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่าง ChatGPT ที่สามารถร่างจดหมาย เล่าเรื่องตลก หรือให้ความเห็นทางกฎหมายก็ว่าล้ำแล้ว แต่ล่าสุดพัฒนาการของ AI ล้ำไปถึงขั้นที่ว่าสามารถลอกเลียนแบบลายมือมนุษย์ได้เหมือนเป๊ะจนแทบแยกไม่ออก จนเกิดความกังวลว่าวันหนึ่ง AI อาจถูกใช้ในการปลอมแปลงเอกสารต่างๆ  

ด้านล่างนี้คือตัวอย่างลายมือของ AI และลายมือของคน พอจะเดาได้มั้ยว่าอันไหนเป็นของใคร

ai-can-now-imitate-human-handwriting-fraud and fake documents-concerned-SPACEBAR-Photo01.jpg

ถ้าเดาว่าด้านซ้ายเขียนโดย AI ด้านขวาเขียนโดยคนละก็ นั่นคือคำตอบที่ถูกต้อง!  

ด้านขวาคือตัวอย่างลายมือของคน 6 คนที่ทางทีมนำมาเป็นตัวอย่างให้ AI ศึกษา ส่วนด้านขวาคือการลอกเลียนแบบลายมือของแต่ละคนโดย HWT  

 AI สุดล้ำที่ว่านี้มีชื่อว่า HWT ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์โมฮาเหม็ดบินซาเอ็ด (MBZUAI) ในกรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่า “ลายมือ” ของ HWT ดูเหมือนของจริงมากกว่าที่ AI ที่มีอยู่ในขณะนี้เคยทำได้ 

ทีมผู้สร้างนำลายมือทั้งของ HWT และของคนไปโชว์ให้ผู้เข้าร่วม 100 คนดู ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมไม่สามารถแยกได้ว่าลายมือไหนเป็นของใคร  

ก่อนหน้านี้การเลียนแบบลายมือคนจะพัฒนาขึ้นโดยใช้โมเดลแมชชีนเลิร์นนิงที่เรียกว่า generative adversarial network (GAN) หรือการสร้างภาพโดยใช้ AI เทคนิคนี้ได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้เพื่อนำมาใช้ในการสร้างใบหน้าปลอม หรือทำเพลงใหม่ โดยการเรียนรู้จากตัวอย่างที่มีอยู่ 

ลายมือที่สร้างขึ้นด้วย GAN สามารถจับลักษณะลายเส้นโดยภาพรวมได้ เช่น ความเอียง ความกว้างของตัวอักษร แต่ไม่สามารถเลียนแบบวิธีการที่คนคนหนึ่งขียนตัวอักษร รวมทั้งเส้นเล็กๆ ที่เรียกว่า การผูกลายเส้นเป็นตัวอักษร 

สำหรับ HWT นักวิจัยใช้ “การจำแนกภาพ” (vision transformers)  ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งของภาพที่ห่างจากกันจริงๆ แล้วมีความเชื่อมโยงกัน 

ฟาฮัด ข่าน ผู้เขียนงานวิจัยเผยว่า “เพื่อเลียนแบบสไตล์การเขียนของใครบางคน เราต้องการดูข้อความทั้งหมด จากนั้นเราจึงจะเริ่มเข้าใจว่าผู้เขียนเชื่อมโยงอักขระอย่างไร ผู้เขียนเชื่อมโยงตัวอักษรอย่างไร หรือเว้นวรรคคำอย่างไร” 

ทีมวิจัยคิดว่า ข้อความที่เกิดจากการเขียนของ AI อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการหรือได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจับปากกาเขียนได้ และอาจนำมาใช้สร้างข้อมูลจำนวนมากๆ เพื่อปรับปรุงความสามารถของโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงในการประมวลผลการเขียนด้วยลายมือ 

อย่างไรก็ดี ฮิชาม โชลัคคัล หนึ่งในทีมวิจัย ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ AI นี้จะถูกนำไปใช้ในการโกงหรือหลอกลวงต้มตุ๋น “สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าคุณสามารถใช้ AI เพื่อสร้างลายมือที่ตรงกับสไตล์ของแต่ละบุคคลได้ เราต้องการทราบว่าคุณได้ให้ตัวอย่างของลายมือของมครบางคนกับโมเดลหรือไม่ หากโมเดลสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสไตล์การเขียนของบุคคลนั้นๆ แล้วเขียนออกมาตามสไตล์การเขียนของบุคคลนั้นๆ” 

เบื้องต้นแม้ว่าการวิจัยจะโฟกัสไปที่การเขียนภาษาอังกฤษ แต่ขณะนี้นักวิจัยกำลังจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับภาษาอื่นๆ อาทิ อาหรับ 

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ใน arXiv เว็บไซต์เผยแพร่งานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ซึ่งหมายความว่ายังไม่ได้รับการอ่านและตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ (peer-reviewed)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์