‘อุตคีอาวิก’ ดินแดนแห่งความมืด ดวงอาทิตย์ตกแล้วไม่ขึ้นไปอีก 64 วัน

2 ม.ค. 2568 - 03:00

  • เมืองอุตคีอาวิกในรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความมืด หรือ polar night

  • ช่วงฤดูหนาวแกนโลกจะเอียง 23.5 องศา ทำให้ซีกโลกเหนืออยู่ห่างจากดวงอาทิตย์

alaskan-town-experience-64-days-of-darkness-polar-night-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่เพียงแต่มีฤดูหนาวที่หนาวสุดขั้ว อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนธันวาคมต่ำกว่าศูนย์องศา แต่เมืองอุตคีอาวิก (Utqiaġvik) ของอะแลสกายังมีค่ำคืนอันแสนยาวนานในช่วงฤดูนี้ เพราะชาวเมืองจะไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นไปอีก 64 วัน!  

เมืองอุตคีอาวิก เดิมชื่อเมืองบาร์โร (Barrow) มีประชากรราว 5,000 คน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของสหรัฐฯ ในรัฐอะแลสกา อยู่เหนืออาร์กติกเซอร์เคิลไปทางเหนือราว 531 กิโลเมตร และกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความมืด หรือ polar night (สถานที่ที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์นานกว่า 24 ชั่วโมง) โดยคนที่นี่เห็นพระอาทิตย์ตกครั้งสุดท้ายของปี 2024 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน และจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นอีกครั้งในช่วงบ่ายวันที่ 22 มกราคม และจะตกอีกครั้งใน 48 นาทีหลังจากนั้น 

polar night เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาวอะแลสกา เนื่องจากแกนโลกเอียง 23.5 องศา ทำให้ซีกโลกเหนืออยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ จนแถบอาร์กติกเซอร์เคิลมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์จะอยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้า ส่วนในซีกโลกใต้ก็เกิดเช่นกัน แต่เป็นช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน แถบอะแลสกา-แคนาดา กรีนแลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซียก็พบปรากฏการณ์ polar night ส่วนแอนตาร์กติกาเป็นสถานที่แห่งเดียวที่มี polar night ในซีกโลกใต้  

เลโอนิด เปตรอฟ นักวิทยาศาสตร์จาก Goddard Space Flight Center ของนาซาเผยว่า ยิ่งอยู่เหนือสุดหรือใต้สุดของซีกโลก polar night ยิงเกิดนานขึ้น “ในซีกโลกใต้ ฤดูที่ดวงอาทิตย์ขึ้น หรือช่วงกลางวันยาวนาน 24 ชั่วโมง เกิดขึ้นราว 6 เดือน ขณะที่แถบศูนย์สูตรมีกลางวัน 12 ชั่วโมง โดยมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตลอดทั้งปี” 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าเมืองอุตคีอาวิกจะตกอยู่ในความมืดมิดตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่ที่เกิดปรากฏการณ์ polar night เนื่องจากยังมีช่วงเวลาที่ยังพอมีแสงรำไรที่เรียกว่า civil twilight หรือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้า 6 องศา ซึ่งจะคงอยู่ราว 3 ชั่วโมงในช่วงเหมายัน (winter solstice) ถึง 6 ชั่วโมงในช่วงวันแรกและวันสุดท้ายของ polar night ทำให้ชาวบ้านที่นั่นยังพอมองเห็นได้เหมือนช่วงกลางวันปกติ

ช่วงที่มืดสนิทจะเกิดก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าไกลพอที่แสงจะไม่ส่องมาถึงเมืองอุตคีอาวิก

และเมื่อช่วงค่ำคืนมาถึงก็จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการดูแสงเหนือ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในปีที่แล้ว เนื่องจากช่วงการระเบิดของดวงอาทิตย์เข้าสู่จุดสูงสุด ทำให้พายุสนามแม่เหล็กโลกเข้มข้นถูกพัดเข้ามาที่โลก เราจึงเห็นแสงเหนือได้มากขึ้น

alaskan-town-experience-64-days-of-darkness-polar-night-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Shutterstock/Gacfox

แม้ว่าจะไม่ได้เห็นแสงอาทิตย์นานถึง 64 วัน แต่ชาวเมืองก็ยังรู้สึกว่าช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง และยังเฉลิมฉลองกันอีกในวันแรกที่ดวงอาทิตย์กลับมาขึ้นอีกครั้ง

“มันคือช่วงเวลาที่พวกเรารอคอย มันเป็นช่วงเวลาที่สวยงาม ฉันคิดว่าคนทั่วไปไม่เข้าใจ พวกเขาคิดว่าโอ้พระเจ้า หลายวันที่ไม่มีดวงอาทิตย์มันคงน่าหดหู่ใจ แต่ไม่เลย ทุกคนต่างตื่นเต้นกับมันมากจนคุณแบบว่า 'ใช่แล้ว นี่คือสิ่งที่เราจะต้องผ่านไปด้วยกัน'”

คริสเตน อัลเบิร์ก ที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองอุตคีอาวิกเผยกับ AccuWeather

นอกจาก polar night เมืองอุตคีอาวิกยังมีปรากฏการณ์ polar day หรือ “พระอาทิตย์เที่ยงคืน” ที่มีแสงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม ซึ่งเกิดจากการที่แกนโลกเอียงซีกโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ 

Photo by Wikipedia/Floyd Davidson

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์