เปิดเรื่องราวทางการทูตที่ใช้ ‘สัตว์’ เชื่อมความสัมพันธ์

28 เม.ย. 2566 - 10:41

  • รู้ไหม? สัตว์ชนิดใดบ้างที่ทำหน้าที่เป็น ‘สัตว์ทูตสันถวไมตรี’ มาก่อน

  • เปิดเรื่องราวทางการทูตที่ใช้สัตว์เชื่อมความสัมพันธ์ทางการเมือง

Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Thumbnail
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าประวัติศาสตร์การทูตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างช้านานในการสร้างสัมพันธมิตรอันดีงาม คลายความตึงเครียด การเจรจาต่อรอง หรือแม้แต่การสร้างข้อตกลงระหว่างกัน 

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะดำเนินการแบบใด ซึ่งปัจจุบันมักจะเป็นการส่งตัวแทนอย่างรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือบุคคลสำคัญระดับประธานาธิบดีเลยก็มี และโดยส่วนใหญ่ก็มักเป็นการจัดประชุมนานาชาติก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง 

แต่ทว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่าระหว่างประเทศก็นับว่าเป็นการทูตอีกแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน อย่างที่เรามักจะได้ยินกันคุ้นหูเมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัยว่า ‘เครื่องราชบรรณาการ’ ที่มีทั้งเงินทอง ต้นไม้เงินทอง สิ่งของมีค่าของรัฐนั้นๆ เป็นต้น เพื่อผูกมิตรไมตรีหรือแสดงความเครพ 

ในปัจจุบันก็ยังพบว่ามีการแลกเปลี่ยนทางการทูตหรือผูกมิตรไมตรีด้วยวิธีนี้อยู่ แต่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นมีหลากหลาย ในที่นี่จะยกตัวอย่างการทูตที่ใช้ ‘สัตว์’ เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์นั่นเอง มาดูกันว่ามีสัตว์ชนิดใดบ้าง? ที่ช่วยผูกมิตรและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือบางตัวก็ช่วยเปลี่ยนประวัติศาสตร์ประเทศไปเลยก็มี

‘โกมี’ & ‘ซงกัง’ ครั้งหนึ่งเคยเป็นของขวัญสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/VTLGP9s2vVKZNJPdqihyP/a9f698e926c450c05efa5a86b2bd1d3c/Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Photo01
Photo: Cheong Wa Dae / Twitter : Bloomberg Quicktake
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5BF4Sw9VtfJy0lEyzGLG7O/c65047ccd4213e63205237e49b1cd07d/Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Photo02
Photo: Cheong Wa Dae / Twitter : Bloomberg Quicktake
เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่งเกาหลีเหนือและใต้เกือบจะกลับมาปรองดองกันอีกครั้งนับตั้งแต่ความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็น ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีมุนถึงกับเอ่ยว่า ‘เขามั่นใจว่าสงครามเกาหลีจะยุติในไม่ช้า’ 

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2018 เมื่อผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ได้มอบสุนัขพันธุ์พุงซาน (Pungsan) จำนวน 2 ตัวเป็นของขวัญให้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจอิน ในขณะนั้น หลังการประชุมสุดยอดที่กรุงเปียงยางในปี 2018 เพื่อส่งเสริมสันติภาพท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ถดถอยบนคาบสมุทรเกาหลี 

โกมีและสุนัขอีกตัวชื่อซงกัง เดินทางมาเกาหลีใต้พร้อมอาหารเกือบ 7 ปอนด์ และกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของประธานาธิบดีมุนตั้งแต่นั้นมา ในภายหลังเจ้าโกมีก็คลอดลูกออกมาทั้งหมด 6 ตัว ซึ่งเป็นตัวผู้ 3 ตัวและตัวเมีย 3 ตัว 

ทั้งนี้ประธานาธิบดีมุนได้แชร์รูปภาพสุนัขเหล่านี้บน Twitter พร้อมระบุว่า “เนื่องจากระยะเวลาตั้งท้องของสุนัขประมาณ 2 เดือน และโกมีต้องมาหาเราตอนตั้งท้อง…ผมหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีจะเป็นแบบนี้”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7kY7TwEuWT0cSuSUeikAM/57153bbe3fcac1d42dec12ab783793f2/Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: Cheong Wa Dae / Twitter : Bloomberg Quicktake
ไม่กี่วันหลังจากลูกสุนัขเกิด เกาหลีใต้ก็ส่งเครื่องบินทหารที่เต็มไปด้วยส้มเขียวหวานไปยังเปียงยาง โดยก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือเองก็ได้ส่งเห็ดสนข้ามพรมแดนหลังจากการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำทั้งสองมาแล้ว 

อย่างไรก็ดี ในปีนั้นมุนได้พบกับคิมถึง 3 ครั้ง และทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างเขากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ อีกด้วย 

แต่ทว่าความหวังที่จะรวมเกาหลีกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งคงฝันสลาย เมื่ออดีตประธานาธิบดีมุนปฎิเสธที่จะเลี้ยงสุนัขเหล่านี้ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2022) โดยอ้างว่าขาดการสนับสนุนทางการเงินสำหรับสุนัขจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยมปัจจุบันที่นำโดยประธานาธิบดี ยุน ซอกยอน  

“ทั้งโกมี และซงกัง ถูกย้ายไปยังสวนสัตว์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองควังจูทางตอนใต้เมื่อเดือนธันวาคม 2022” เจ้าหน้าที่สวนสัตว์กล่าว 

“โกมีและซงกังเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ การปรองดองและความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ เราจะเลี้ยงดูพวกเขาอย่างดีเหมือนที่เราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ” คัง กีจุง นายกเทศมนตรีเมืองควังจูกล่าว

‘แพนด้า’ ตัวแทนการทูตขนปุย

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7y1lHYYWA69E9V27NgZUDC/06fe13acb0ba980222cd123ad4ce1bb8/Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Photo03
Photo: ANN BATDORF/ Smithsonian's National Zoo/ AFP
ในปัจจุบันของการทูตสัตว์นั้นเริ่มต้นโดยจีนด้วยการส่งหมีแพนด้าไปยังต่างประเทศทั้งดินแดนที่เป็นมิตรและศัตรูเพื่อพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์และแฝงนัยของ Soft Power อย่างหนึ่งด้วย 

แต่จริงๆ แล้วการทูตแพนด้าของจีนนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังในศตวรรษที่ 7 แล้ว เมื่อจักรพรรดินีบูเช็กเทียนส่งแพนด้าเป็นของขวัญทั้งหมด 2 ตัวไปญี่ปุ่น  

ในเวลาต่อมาสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ก็รื้อฟื้นการให้แพนด้าเป็นของขวัญภายใต้ระบอบการปกครองของเหมาเจ๋อตงอีกครั้งในปี 1957 โดยปักกิ่งได้มอบ ‘ผิงผิง’ ให้กับสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมกัน 

ขณะที่ช่วงสงครามเย็น จีนเองก็ได้มอบแพนด้าเป็นของขวัญแก่รัสเซียและเกาหลีเหนือ และในปี 1972 จีนก็มอบแพนด้ายักษ์ 1 ตัวให้สหรัฐฯ หลังจากการเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน พร้อมทั้งเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน 

นอกจากนี้ จีนยังส่งหมีแพนด้าเป็นของขวัญให้กับฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเม็กซิโกอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในปี 1984 จีนก็ให้แต่ละประเทศยืมแพนด้าเป็นเวลา 10 ปีเท่านั้นหลังพบว่าแพนด้าเหล่านี้ใกล้สูญพันธุ์ 

เพื่อแลกกับการดูแลแพนด้าเป็นเวลา 2-3 ปี สวนสัตว์ต่างประเทศต้องจ่ายเงินประมาณ 500,000 - 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับจีน หากลูกหมีแพนด้าถือกำเนิดขึ้นมาก็ถือว่ามันยังคงเป็นทรัพย์สินของจีน ซึ่งสวนสัตว์ที่เกี่ยวข้องจะจ่ายเพิ่มอีก 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “หมีเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’ ของจีน และทำให้ภาพลักษณ์เผด็จการอ่อนลงในสายตาชาวโลก” 

“มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์…หมีแพนด้าน่ารักและน่าเอ็นดูมาก ดังนั้นมันจึงเข้ากับภาพลักษณ์การทูตแบบมิตรภาพ” แอนดรูว์ เจ นาธาน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งโคลัมเบียผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนและนโยบายต่างประเทศกล่าว 

เจ้าหมา ‘Alabai’ ตัวแทนเชื่อมสัมพันธ์ฟื้นฟูการค้า

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5XtyAGF2QgyiFA7BtdkLNb/45f1f600bf4027ae65f3e6d6cf16be86/Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Photo05
Photo: AFP
ย้อนกลับไปในความสัมพันธ์ทางเมืองเมื่อปี 2017 ระหว่างรัสเซียและเติร์กเมนิสถาน เมื่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้รับของขวัญวันเกิดวัย 65 ปีเป็นลูกสุนัขสายพันธุ์ ‘Alabai’ จากประธานาธิบดี กูร์บันกูลือ เบร์ดือมูฮาเมดอว์ ของเติร์กเมนิสถานซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะกอบกู้ความสัมพันธ์กับรัสเซียที่หายไปในตลาดก๊าซของประเทศ 

“เรามีเพื่อนร่วมกัน นี่คือสุนัขสายพันธุ์ Alabai ที่ไม่เหมือนใครในโลก และวันนี้ผมนำสุนัขตัวน้อยนี้มาด้วย” ประธานาธิบดีเบร์ดือมูฮาเมดอว์กล่าว 

ทว่าภายใต้ความน่ารักของเจ้าสุน้อยตัวน้อยกลับแฝงไปด้วยนัยทางการทูต เพราะโดยพื้นฐานแล้วปูตินเป็นคนรักสุนัขและการมาเยือนของเบร์ดือมูฮาเมดอว์คงไม่ใช่แค่ให้ของขวัญปูตินเป็นแน่  

อย่างไรก็ดี มีการจัดเจรจา ณ รีสอร์ททะเลดำแห่งเมืองโซชิ ซึ่งนอกรอบการประชุมนั้นเบร์ดือมูฮาเมดอว์ก็ไม่พลาดที่จะรื้อฟื้นการค้าใหม่ด้วยการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังรัสเซีย 

ครั้งหนึ่งรัสเซียเคยเป็นผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ของเติร์กเมนิสถาน แต่ได้หยุดซื้อเชื้อเพลิงไปเมื่อปี 2016 เนื่องจากข้อพิพาทด้านราคา  

‘โคอาลา’ ทูตตัวน้อยของออสเตรเลีย 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/YecQjraYETSpSUmQzukIt/464d39380201ed960ebd31b5c96f1de7/Animal-diplomacy-exchange-president-world-SPACEBAR-Photo04
Photo: AFP
ออสเตรเลียเริ่มใช้โคอาลาเป็นกลยุทธ์ทางการทูตแบบ ‘Soft Power’ อย่างเป็นทางการ โดยมีคู่มือความยาวถึง 600 หน้าที่ร่างขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในการผูกสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาค 

‘การทูตโคอาลา’ มีบทบาทอย่างมากในการประชุมผู้นำ G20 ในปี 2014 ที่เมืองบริสเบน ซึ่งมีทั้งประมุขแห่งรัฐ รวมทั้งประธานาธิบดี บารัค โอบามาของสหรัฐฯ ในเวลานั้น และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ต่างก็ได้อุ้มและกอดเจ้าหมีโคอาล่าต่อหน้าสื่อทั่วโลก 

การปฏิบัติดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงประเพณี ‘การทูตแพนด้า’ ของจีนที่มีมาช้านานด้วย โดยมีการมอบโคอาลาเป็นของขวัญเฉลิมฉลองเอกราช หรือส่งไปไว้สวนสัตว์ต่างประเทศก็มี อย่างในปี 2015 สิงคโปร์ก็ได้รับโคอาลาเป็นของขวัญฉลองเอกราชครบ 50 ปี 

จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้นกล่าวว่า “เราไม่ควรประเมินการทูตของโคอาลาต่ำเกินไป เนื่องจากมันแสดงให้เห็นออสเตรเลียในแง่ที่อ่อนโยนและส่งเสริมค่านิยมของเราในฐานะประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง เสรี และใจกว้าง” 

“การทูตโคอาลามีความหมายมากและมีเป้าหมายดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งสัตว์เหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมาก…ของขวัญจากโคอาลาจะแสดงถึงความรักที่มีต่อประเทศผู้รับ” 

“การมอบโคอาลาก็คล้ายกับการมอบหมีแพนด้า แต่การเลี้ยงหมีแพนด้านั้นซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่การให้หมีโคอาลาแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อความสัมพันธ์จากประเทศเจ้าภาพ” ดร.ซูซาน แฮร์ริส ริมเมอร์ จากวิทยาลัยการทูตแห่งเอเชีย-แปซิฟิกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์