เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia โดยย้ำว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต ยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามที่นายกฯ ร้องขอ
Nikkei Asia รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยคัดค้านข้อเรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพลิกนโยบายการเงิน
เศรษฐพุฒิให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Nikkei Aisa ว่า ธนาคารกลางจะ “ไม่ดันทุรัง” เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบีทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ จีดีพีของไทยโตเพียง 1.9% ในปี 2023 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากอุปสรรคทางการเมืองทำให้งบประมาณปี 2024 ล่าช้า
เศรษฐพุฒิเผยว่า “หากเราลดอัตราดอกเบี้ย มันไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมิคัลจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้เร็วขึ้น และนี่คือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า”
แรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางกำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่รัฐบาลอุดหนุนราคาพลังงาน บวกกับรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงและการส่งออกสะดุด แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีย้ำข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมาหลังมีรายงานตัวเลขจีดีพีต่ำ ทั้งยังเรียกร้องให้ธนาคารกลางเรียกประชุมด่วนก่อนการประชุมตามปกติครั้งต่อไปซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน
เศรษฐพุฒิพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับนายกรัฐมนตรีซึ่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยว่าเป็น “มืออาชีพ” และ “จริงใจ” แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอเป็นข้ออ้างว่าเศราฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพื่อให้สภาอนุมัติโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
“แม้การฟื้นตัวอ่อนแอ แต่มันก็กำลังฟื้น และฟื้นอย่างต่อเนื่อง” เศรษฐพุฒิเผยกับ Nikkei Asia
แต่ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลางก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลางซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐพุฒิจะไม่ได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติต่อหลังสิ้นสุดวาระในปี 2025 ซึ่งเจ้าตัวจะอายุครบวัยเกษียณพอดี
“มีความตึงเครียดในลักษณะที่สร้างสรรค์อยู่ตลอดระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง เพราะต่างคนต่างก็สวมหมวกกันคนละใบ ไม่มีเหตุผลที่เราจะทำงานร่วมกันไม่ได้ แต่เราต้องเข้าใจว่าเราต่างก็มีบทบาทต่างกันตามกฎหมาย” เศรษฐพุฒิเผย
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องอย่างหนักให้ปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยตามหลังทั่วโลกที่เริ่มขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่ต้นปี 2022 “เราปฏิเสธ มันไม่เหมาะกับเรา เพราะการฟื้นตัวของเราช้ากว่าประเทศอื่น”
เศรษฐพุฒิพูดถึงคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งมีสมาชิกจากภายนอก 4 และมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า “มันไม่ใช่สถานการณ์ที่คนในกลุ่มยอมจำนนต่อความคิดของผู้นำ (groupthink)”
การประชุมเมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา สมาชิก 2 คนโหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เศรษฐพุฒิเผยกับ Nikkei Asia ว่า สมาชิกส่วนน้อยกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้นจึงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางในรูปแบบใหม่”
นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมายาวนานแล้ว อาทิ จำนวนประชากรและผลผลิตจากแรงงานลดลง คณะกรรมการยังมีเหตุให้กังวลเกี่ยวกับการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกมากเกินไปของประเทศไทย โดยในภาคการส่งออกมีการจ้างงาน 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และสร้างจีดีพีได้ใกล้เคียงกัน
“สิ่งที่เราเห็นคือการทดแทนการนำเข้ามากขึ้นในจีน...ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความอ่อนแอของวัฏจักรเศรษฐกิจในจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขาผลิตสินค้าเหล่านี้เองและไม่นำเข้า” เศรษฐพุฒิเผย
นอกจากนี้ การที่นักท่องเที่ยวอยู่ไทยสั้นขึ้นและใช้จ่ายลดลงก็เป็นสาเหตุของความกังวลด้วย เศรษฐพุฒิตั้งข้อสงสัยว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคนต่อปีซึ่งเป็นตัวเลขของปี 2019 ก่อนที่โควิด-19 ระบาดหรือไม่
“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะโควิด มันเสี่ยงที่จะบอกว่าทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย คุณต้องลงมือทำบางอย่างถ้าต้องการตัวเลขนั้น”
“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะโควิด มันเสี่ยงที่จะบอกว่าทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมโดยไม่ลงมือทำอะไรเลย คุณต้องลงมือทำบางอย่างถ้าต้องการตัวเลขนั้น”
นายกฯ เศรษฐาบอกว่าจะไม่แทรกแซงธนาคารกลาง แต่จะพยายามโน้มน้าวให้ธนาคารกลาง “เห็นอกเห็นใจประชาชนที่เดือดร้อน”
เศรษฐพุฒิเผยกับ Nikkei Asia ว่า “ประชาชนต้องเจอกับความเจ็บปวดมากมายเพราะรายได้ไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่เรารู้สึกว่าวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นที่ดีกว่าคือ การใช้มาตรการที่ตรงเป้า มันไม่เหมาะที่จะแจกสิ่งยังชีพให้กับทุกคนต่อไป”
เศรษฐพุฒิเผยต่อว่า เขารับรู้ถึงผลกระทบที่ผู้กู้ได้รับจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง แต่บอกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของจีดีพี
“ผมคิดว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ และต่ำมานาน มันกระตุ้นให้ประชาชนกู้ยืมเงิน ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งอาจเป็นการส่งสัญญาณผิด ในแง่ของการทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน”