โลกสีชมพูของบาร์บี้ฟีเวอร์ กับภาพสะท้อนมุมมืดในละตินอเมริกา

27 ก.ค. 2566 - 03:43

  • ใครจะไปรู้ว่าโลกสีชมพูบาร์บี้ฟีเวอร์จะสะท้อนให้เห็นมุมมืดอีกด้านหนึ่งของละตินอเมริกา

  • ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์การประท้วง หรือแม้แต่ตัวแทนที่สะท้อนถึงความเจ็บปวดจากการสูญเสีย

barbie-fever-reflect-dark-politic-latin-america-SPACEBAR-Thumbnail
I'm a Barbie girl, in the Barbie world ช่วงนี้โลกเกือบทั้งใบของเราคงจะกลายเป็นสีชมพู เพราะกระแสฟีเวอร์จากหนังแฟนตาซี ‘Barbie’ เวอร์ชั่นคนแสดงที่พาให้สาวๆ หลายๆ คนหวนคิดถึงและหลุดเข้าไปในจินตนาการช่วงวัยเด็ก 

ทว่าอีกมุมหนึ่งของโลกอย่างดินแดนละตินอเมริกาก็ได้รับอิทธิพลจากความคลั่งไคล้สีชมพูในเวลานี้เช่นเดียวกัน และบางที่ก็ส่อถึงนัยทางการเมืองด้านมืดอีกด้วย 

‘บาร์บี้’ ฟีเวอร์ทั่วละตินอเมริกา 

ละตินอเมริกากำลังคลั่งไคล้ตุ๊กตาบาร์บี้ถึงขีดสุด ตั้งแต่ขนมอบไปจนทาโก้สีชมพู เครื่องบินพาณิชย์ที่มีโลโก้ตุ๊กตาบาร์บี้ โฆษณาทางการเมือง หรือแม้แต่การประท้วงในธีมตุ๊กตาบาร์บี้ก็มี นอกจากนี้ ร้านค้า แผงลอย รวมถึงร้านอาหารทั่วละตินอเมริกาต่างก็นำเสนอสินค้าในธีมตุ๊กตาบาร์บี้ด้วยกันทั้งนั้น 

หลายๆ อย่างในเม็กซิโกกลายเป็นสีชมพูไม่ว่าจะเป็นตอร์ตียา ขนมอบ และทาโก้บาร์บี้ นอกจากนี้ สายการบิน Volaris ของเม็กซิโกก็มีโลโก้รูปตุ๊กตาบาร์บี้  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3qXp7XEDsCsIsTaDOtYo93/d3293fb315228b8f73d9428336604a0e/barbie-fever-reflect-dark-politic-latin-america-SPACEBAR-Photo01
Photo: Twitter @MariannaEn889Fm
ขณะเดียวกัน ร้านอาหารในธีมตุ๊กตาบาร์บี้ทั้งหมดก็เพิ่งเปิดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองกัวยากิล ประเทศเอกวาดอร์ แน่นอนว่ามันถูกสร้างขึ้นให้คล้ายกับบ้านของบาร์บี้ 

ในกัวเตมาลา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แซนดร้า ตอร์เรส ได้แชร์วิดีโอ TikTok ที่นำเสนอตัวเธอเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ที่ ‘ต้องการความเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกคน’ 

ด้านสำนักงานของประธานาธิบดี กุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบียเองก็เพิ่งหยิบยกวิดีโอธีมตุ๊กตาบาร์บี้ รวมถึงคลิปจากตัวอย่างภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววันประกาศอิสรภาพของประเทศ  

อีกมุมหนึ่งที่สะท้อน ‘ด้านมืด’ ทางการเมือง

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6wJzgS4qlk2rpGsONv6ipV/4c574aca795a7b8831237a8e02940b7b/barbie-fever-reflect-dark-politic-latin-america-SPACEBAR-Photo02
Photo: Twitter @AssLatam
  • เปรู
เหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเปรูในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีผู้ประท้วงแต่งตัวเป็นผู้หญิงในชุดสีชมพูและเข้าไปอยู่ในกล่องตุ๊กตาบาร์บี้ยักษ์บริเวณใจกลางจัตุรัสหลักของกรุงลิมาซึ่งเป็นเมืองหลวง เพื่อประท้วงประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ดีนา โบลัวร์เต
 
ขณะที่ข้างกล่องเขียนว่า ‘เผด็จการบาร์บี้ (Barbie Dictator)’ ข้างในเป็นผู้ประท้วงถือปืนสีชมพู ส่วนอีกกล่องหนึ่งติดป้ายว่า ‘ตุ๊กตาบาร์บี้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocidal Barbie)’
  • เม็กซิโก
อีกมุมหนึ่งของตุ๊กตาบาร์บี้ในเม็กซิโกที่สะท้อนให้เห็นด้านมืดทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ และกลายเป็นชนวนความขัดแย้งเมื่อ เดเลีย ควิโรว์ สมาชิกของกลุ่มอาสาสมัครที่กระจายไปทั่วที่ราบฝุ่นของเม็กซิโก และเป็นพี่สาวของหนึ่งในผู้สูญหาย 111,000 คนซึ่งสันนิษฐานว่าถูกลักพาตัว ถูกสังหารโดยแก๊งค้ายาหรือแก๊งลักพาตัว 

อย่างไรก็ดี ควิโรว์ ได้เริ่มเย็บชุดบาร์บี้ พร้อมทั้งแต่งตัวให้ตุ๊กตาในฐานะ ‘แม่ผู้ตามหา’ (Searching Mother) เพื่อค้นหาหลุมฝังศพที่อาจมีซากศพลูกๆ ของพวกเธอ



ตุ๊กตาบาร์บี้ตัวดังกล่าวนั้นสวมหมวกปีกกว้างมีผ้ากันแดด สวมเสื้อยืดที่มีรูปน้องชายของเธอที่หายตัวไป พร้อมกางเกงลายพราง และพกพลั่ว ทั้งนี้ ควิโรว์ หวังที่จะเผยแพร่ชะตากรรมของผู้เป็นแม่ที่ต้องดำเนินการค้นหาและสืบสวนคดีคนหายเองในขณะที่ตำรวจไม่ทำ พร้อมทั้งระดมเงินเพื่อดำเนินการค้นหาต่อไป 

ขณะเดียวกัน อาสาสมัครค้นหากลุ่มหนึ่งในรัฐทางตะวันตกของฮาลิสโก ซึ่งเป็นรัฐที่มีจำนวนผู้สูญหายมากที่สุดต่างก็ตั้งคำถามว่า ‘การเลือกให้บาร์บี้เป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่น่าสยดสยองนั้นเหมาะสมหรือไม่?’ 

“บาร์บี้ได้กลายมาเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เข้มแข็งและรักอิสระที่สามารถทำในสิ่งที่ต้องการและไล่ตามความฝันของตัวเอง…ไม่มีใครที่กำลังตามหาลูก คู่สมรส หรือพี่น้องที่หายไป และนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำ สำหรับเราแล้วดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจที่เด็กผู้หญิงมองว่าการเป็นแม่ผู้ตามหาเป็นเรื่องปกติ” กลุ่มอาสาสมัครค้นหา Light of Hope กล่าวในถ้อยแถลง 

ด้าน ควิโรว์ กล่าวว่าผลงานของเธอเกือบจะเป็นการต่อต้านตุ๊กตาบาร์บี้ด้วยซ้ำ “ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นทุกอย่างที่คนอยากเป็น แต่นี่คือตุ๊กตาบาร์บี้ที่ไม่มีใครอยากเป็น…ไม่มีใครอยากเป็นผู้ค้นหาหรอก” 

น้องชายของเธอ โรแบร์โต ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มมือปืนแก๊งค้ายาเมื่อเดือนมีนาคม 2014 แม้ว่าควิโรว์จะดำเนินการค้นหาด้วยตัวเองและกดดันให้ทางการสืบสวนแล้ว จนถึงตอนนี้ผ่านไป 9 ปีก็ยังไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน 

ด้าน วาเนสซ่า มุนกีอา ทนายความผู้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักสะสมตุ๊กตาบาร์บี้แถวหน้าของแดนลาตินอเมริกา “ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นของเล่นชิ้นเดียวที่ฉันพบว่า มันมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีกนับล้าน ฉันเป็นนักบินอวกาศได้ ฉันเป็นครูได้”  

เมื่อถามถึงการวาดภาพบาร์บี้ในฐานะ ‘แม่ผู้ตามหา’ หรือรูปลักษณ์อื่นๆ ของตุ๊กตาตัวนี้ มุนกีอาก็บอกว่า ‘มันเป็นการแสดงออกที่ถูกต้องมาก’ 

“ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่เราชอบในตุ๊กตาบาร์บี้ เราสามารถทำให้เธอเป็นอะไรก็ได้ที่เราต้องการให้เธอเป็นในขณะนั้น” มุนกีอากล่าว 

อย่างไรก็ดี เรื่องราวของบาร์บี้ที่หลายคนมองว่าเป็นตัวแทนของสาวช่างฝันและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ แต่ในทางกลับกันก็เป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงความเจ็บปวดและด้านมืดทางการเมืองด้วยเหมือนกัน   

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์