จีนไม่สัญญาว่าจะ ‘ละทิ้ง’ การใช้กำลังต่อไต้หวัน
รัฐมนตรีกลาโหมของจีนกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (1 มิ.ย.) ที่ผ่านมาว่า ปักกิ่งจะ ‘ไม่ละทิ้ง’ การใช้กำลังเพื่อรวมไต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ และจะไม่ยอมให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไต้หวันแสวงหาการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ เพื่อเอกราชของไต้หวันถาน เค่อเฟย โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า นายพลหลี่ซั่งฝูรัฐมนตรีกลาโหมจีนได้บอกกับ อึ้งเอ็งเฮน รัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์ในการประชุมเมื่อช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีถึงเรื่องนี้
“เราจะพยายามต่อไปเพื่อการรวมชาติอย่างสันติด้วยความจริงใจและพยายามอย่างที่สุด แต่เราจะไม่ยอมให้มีความพยายามใดๆ ของเจ้าหน้าที่พรรค DPP ในการแสวงหาการสนับสนุนจากต่างประเทศเพื่อเอกราชของไต้หวัน และเราจะไม่ยอมให้มีความพยายามใดๆ โดยกองกำลังภายนอกเพื่อใช้ไต้หวันควบคุมจีน เราจะไม่สัญญาว่าจะ ‘ละทิ้งการใช้กำลัง’ อย่างแน่นอน” ถานกล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับไปฟังถ้อยแถลงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่สีจิ้นผิงเริ่มดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งสีกล่าวในตอนนั้นว่า “จีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงแสวงหาการรวมชาติอย่างสันติต่อไปด้วย ‘ความจริงใจอย่างที่สุดและความพยายามสูงสุด’ แต่จะ ‘ไม่สัญญาอย่างเด็ดขาดที่จะละทิ้งการใช้กำลัง’ และ ‘สงวนทางเลือกในการใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด’”
ขณะที่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ซึ่งใกล้จะสิ้นสุดวาระที่ 2 ของเธอก็ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ครั้ง ดังนั้น พรรค DPP จึงได้เสนอชื่อรองประธานาธิบดี วิลเลียม ไล่ ชิงเต๋อ ซึ่งสนับสนุนมุมมองที่ว่า ‘ไต้หวันเป็นรัฐเอกราช เป็นอิสระ และไม่ได้เป็นของสาธารณรัฐประชาชนจีน’
ทั้งนี้ เพราะประเทศส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับไต้หวันว่าเป็นอิสระและยอมรับว่าปักกิ่งเป็นรัฐบาลเดียวของจีน ปักกิ่งจึงถือว่าเกาะที่ปกครองตนเองแห่งนี้เป็นเพียงมณฑลย่อยๆ ของจีนที่จะถูกควบคุมในที่สุด
“ไต้หวันคือไต้หวันของจีน และปัญหาของไต้หวันก็คือหัวใจหลักในผลประโยชน์หลักของจีน” ถานกล่าว
ด้าน โจว เฉินหมิง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทหารหยวนหวังกรุงปักกิ่งกล่าวว่า “คำพูดของหลี่ไม่เพียงแต่มุ่งเตือนวอชิงตันและไทเปไม่ให้ผลักดัน 'ขบวนการอิสระของไต้หวัน' แต่ยังย้ำเตือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าอย่าใช้สหรัฐฯ จัดการกับปัญหาไต้หวัน”
“สหรัฐฯ มักจะหวังให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนทำอะไรบางอย่างเพื่อไต้หวัน หรือยืนหยัดต่อสู้กับปักกิ่ง ดังนั้นปักกิ่งควรย้ำจุดยืนอย่างหนักแน่น” โจวกล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี หลี่เองก็กำลังนำคณะผู้แทนนายทหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมหลายสิบคนของจีนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน : เสวนาแชงกรีลา (Shangri-La Dialogue) ซึ่งเป็นการประชุมด้านกลาโหมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียโดยจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์ (2 มิ.ย.) นี้
นอกจากนี้ หลี่ก็มีกำหนดการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงใหม่ของจีนในวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ที่จะถึงนี้ด้วย