ขอทาน…ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
หากพูดถึง ‘ขอทาน’ หลายคนอาจนึกถึงคนที่สวมเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ผมยุ่งเหยิง และนั่งขอเงินตามถนน สะพานลอย หรือแม้แต่เดินตามร้านอาหาร พวกเขาเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นคนยากจนที่ไม่มีหนทางอื่นในการอยู่รอดและต้องพึ่งพาการกุศลของผู้อื่นเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ ‘ภารัต เชน’ (Bharat Jain) ขอทานอินเดียที่กำลังเป็นที่เลื่องชื่อว่าเป็น ‘ขอทานที่ร่ำรวยที่สุดในโลก’ ซึ่งทำลายความเชื่อดั้งเดิมในโลกขอทานที่ซับซ้อนว่าขอทานต้องยากจน
การเดินทางของชายผู้นี้จากจุดเริ่มต้นที่ต่ำต้อยสู่การเป็นขอทานผู้มั่งคั่งนั้นไม่ธรรมดาจริงๆ…
เชนเกิดมาในครอบครัวที่มีข้อจำกัดทางการเงิน และเขาไม่สามารถศึกษาต่อได้ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสในการหางานที่มั่นคงของเขา แม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้แต่เชนก็สามารถสร้างชีวิตให้กับตัวเองและครอบครัวผ่านอาชีพที่ไม่ธรรมดาได้
แน่นอนว่าความไม่ธรรมดาในการหาเงินของเขานั้นก็ทำให้เชนมีรายได้ถึง 75 ล้านรูปี (ราว 31 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย โดยรายได้ต่อเดือนของเขาอยู่ระหว่าง 60,000-75,000 รูปี (ราว 25,000 - 31,000 บาท)
สิ่งที่ทำให้เชนแตกต่างไม่ใช่แค่ความสามารถในการสะสมความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างชาญฉลาดอีกด้วย เขาเป็นเจ้าของแฟลต 2 ห้องนอนในเมืองมุมไบมูลค่า 12 ล้านรูปี (ราว 5 ล้านบาท) และร้านค้า 2 แห่งในเมืองธาเนซึ่งสร้างรายได้ค่าเช่าเดือนละ 30,000 รูปี (ราว 12,000 บาท)
อย่างไรก็ดี เรื่องราวของเขานั้นน่าทึ่งอย่างมาก ใครจะไปรู้ว่าเชนจะสามารถประสบความสำเร็จในโลกของคนขอทานได้ในขณะเดียวกันก็ยังมีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเองอีกมากมาย แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นเรื่องที่น่าฉงนใจเช่นเดียวกันว่าเหตุใดบุคคลที่มีทรัพย์สินมากมายเช่นนี้จึงยังคงเป็นขอทานตามท้องถนนแบบนี้อยู่
รวยแล้วทำไม (ยัง) ขอทานอยู่?
เชนจะอาศัยความเอื้ออาทรของคนแปลกหน้าในการดำรงชีวิตขอทานตามสถานที่สำคัญ เช่น สถานีรถไฟฉัตรปตี ศิวาจี (Chhatrapati Shivaji Terminus) หรือตามสนามกีฬาอาซัด ไมดาน (Azad Maidan) โดยภายในระยะเวลา 10-12 ชั่วโมง เขาสามารถเก็บเงินได้จำนวน 2,000-2,500 รูปีต่อวัน (ราว 850 – 1,100 บาท) ซึ่งเป็นความสำเร็จที่คนทำงานหลายคนต้องดิ้นรนหลังจากทำงานหนักมาหลายชั่วโมง
ทว่าในปัจจุบันเชนเป็นชายที่แต่งงานแล้วและเป็นพ่อของลูกชาย 2 คนที่ทุ่มเทให้ลูกๆ ของเขาได้ร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษา ซึ่งมันเป็นข้อพิสูจน์และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเขาที่จะทำลายวงจรความยากจน
แม้จะมีความมั่งคั่งมากมายและแหล่งรายได้ทางเลือก แต่เชนก็ยังคงเลือกที่จะอยู่ในสายงานนี้และขอทานตามท้องถนนในมุมไบ แม้ว่าสมาชิกในครอบครัวจะขอร้องก็ตาม ขณะที่หลายคนโต้แย้งว่าการอุทิศตนเป็นขอทานของเขาเกิดจากความเคยชิน ความรู้สึกของชุมชนที่เขาได้พัฒนาร่วมกับเพื่อนขอทาน และความรู้สึกเติมเต็มทางอารมณ์ที่เขาได้รับจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ให้ทานแก่เขา
ทั้งนี้ เชนไม่ใช่ขอทานเพียงคนเดียวในอินเดียที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ยังมี ‘กฤษณะ กูมาร์ กิท’ ขอทานที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งจากมุมไบที่เป็นเจ้าของแฟลตในเมืองนาลา โซพารา ส่วนขอทานที่ร่ำรวยคนอื่นๆ ที่มักจะถูกพาดหัวข่าวบ่อยๆ ได้แก่ ‘ซาร์วัตเทีย เดวี’ จากเมืองปัฏนาและ ‘สัมภาจิ คาเล’ จากนครโซลาปูร์ โดยพวกเขาเหล่านี้จะขอทานกันอย่างมืออาชีพและมีทรัพย์สินเป็นแสนรูปี
แต่ถึงกระนั้น สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องจัดการกับปัญหาพื้นฐานที่ผลักดันให้ผู้คนออกไปขอทานตั้งแต่แรก ด้วยการให้การเข้าถึงการศึกษา การฝึกอบรมทักษะ และโอกาสการจ้างงานที่ยั่งยืน ซึ่งมันจะช่วยให้ขอทานเหล่านี้หลุดพ้นจากวงจรความยากจนและสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับตนเองและครอบครัว