หรืออาเซียนไม่อยู่ในสายตา? ไบเดนไม่มาประชุมแต่ไปร่วม G20 ที่อินเดียแทน

25 ส.ค. 2566 - 06:56

  • ไบเดนมีกำหนดการจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่อินเดียตั้งแต่วันที่ 7-10 กันยายน

  • รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะเดินทางมาร่วมประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาของอินโด นีเซียระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน

  • นักวิเคราะห์มองว่า การไม่เข้าร่วมของไบเดนจะก่อให้เกิดคำถามถึงความมุ่งมั่นของวอชิงตันต่อกลุ่มอาเซียน

biden-no-show-asean-summit-cast-doubts-us-commitment-to-region-SPACEBAR-Thumbnail
หลังจากปล่อยให้คาดการณ์กันไปต่างๆ นานาหลายวันว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อาจจะไม่ข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ในที่สุดทำเนียบขาวก็ยืนยันแล้วว่า ไบเดนมีกำหนดการจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่อินเดียตั้งแต่วันที่ 7-10 กันยายน ส่วนรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะเดินทางมาร่วมประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาของอินโด นีเซียระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน 
 
การประชุมสุดยอดอาเซียนจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน โดยในระหว่างนั้นจะมีการประชุมอื่นๆ อีก อาทิ การประชุมอาเซียน-จีน การประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ และการประชุมเอเชียตะวันออก 
 
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นต้นเดือนหน้าที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของการรวมตัวกันและอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบัน ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังคุกรุ่น 
 
นอกจากนี้ยังมองว่า การไม่เข้าร่วมของไบเดนจะก่อให้เกิดคำถามถึงความมุ่งมั่นของวอชิงตันต่อกลุ่มอาเซียน ซึ่งอาจส่งผลให้บางประเทศในอาเซียนหันไปใกล้ชิดกับปักกิ่งมากขึ้น และทำให้จีนขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดินนา พราบโต ราฮาร์จา กรรมการบริหารสถาบันคลังสมอง Synergy Policies เผยกับ Channel News Asia ว่า “มันอาจหมายความว่าไบเดนไม่เห็นมูลค่าเพิ่มใดๆ ในการเข้าประชุมสุดยอดอาเซียน เนื่องจากบางทีข้อตกลงทั้งหมดกับอาเซียนอาจไม่สามารถปรับปรุงผ่านการประชุมทางกายภาพในกรุงจาการ์ตาได้อีกต่อไป” 
 

แครีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวเผยว่า แฮร์ริสจะยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความเป็นกลางของอาเซียน และ “โครงการริเริ่มล่วงหน้าเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงร่วมกันของเรา” รวมถึงความพยายามในการรักษาและเสริมสร้างกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศในภูมิภาค และความท้าทายอื่นๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก 
 
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ทิวกู เรซาสยาห์ จากมหาวิทยาลัยปัดจัดจารันในเมืองบันดุงเชื่อว่า แฮร์ริสที่เป็นตัวแทนของไบเดนนั้นไม่เหมือนกัน “ประธานาธิบดีก็คือประธานธิบดี ใช่มั้ย มีประธานาธิบดีหลายคนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และเราจำประธานาธิบดีเหล่านี้ได้เสมอ ไม่ใช่รองประธานาธิบดี” 
 
ปล่อยให้จีนเข้ามามีบทบาท 
รองศาสตราจารย์ราฮาร์จาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตเผยว่า การไม่เข้าร่วมของไบเดนอาจทำให้ประเด็นต่างๆ ของอาเซียนที่พยายามเป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นกลางท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนอรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซับซ้อนขึ้น “มันอาจหมายความว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มองว่าอาเซียนเป็นเวทีที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแผนของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อย่าลืมว่าสหรัฐฯ มี AUKUS (การร่วมกลุ่มของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 เพื่อรับมือจีน) ซึ่งเน้นการปฏิบัติมากกว่าและมีกรอบเวลาและเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว” 
 
รองศาสตราจารย์ราฮาร์จาเชื่อว่า การไม่เข้าร่วมของไบเดนมีผลกระทบกับอาเซียนซึ่งตัวเขาเองเชื่อว่าแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เนื่องจากบางประเทศเอียงไปทางจีน “การไม่มีไบเดนหมายถึงการยอมรับว่าจีนมีอิทธิพลมากขึ้นในอาเซียน เนื่องจากขณะนี้จีนมีข้อตกลงกับอาเซียนมากกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ การไม่ปรากฏตัวของเขาบ่งชี้ว่าขาดความพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์” 
 
“ตอนนี้ หากไบเดนไม่มาก็เท่ากับว่าสหรัฐฯ ปล่อยให้อาเซียนอยู่ด้วยตัวเองและเปิดทางให้จีนเข้ามาเป็นผู้นำ เพราะถ้าไบเดนอยู่ที่นี่ เขาอาจป้องกันไม่ให้จีนริเริ่มโครงการอะไรที่ไม่จำเป็นได้” 
 
ไบเดนไม่ใช่ผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องที่มีผู้นำของอาเซียนและประเทศพันธมิตรของอาเซียนเข้าร่วม 
 
ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2018-2020 ซึ่งบรรดาผู้สังเกตการณ์เชื่อว่านั่นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นผลเสียต่อความเป็นกลางและผบประโยชน์ของอาเซียน 
 
รองศาสตราจารย์ราฮาร์จาเผยว่า “ตอนที่ทรัมป์ไม่มา สิ่งที่ตามมาคือ สหรัฐฯ หันไปหา AUKUS ซึ่งถูกตั้งขึ้นโดยไม่มีการปรึกษาอาเซียนหรืออินโดนีเซีย แม้ว่าออสเตรลียและสหรัฐฯ จะเป็นคู่เจรจาที่ใกล้ชิดกับอินโดนีเซีย ดังนั้นในอนาคตก็น่าจะมีเซอร์ไพรส์ใหม่ๆ จากสหรัฐฯ หรือแม้แต่คู่แข่งทางการเมืองระดับภูมิภาค ซึ่งไม่คำนึงถึงความสำคัญของอาเซียนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาคอีกต่อไป 
 
อิวี ฟิเตรียนี จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียมองว่า อินโดนีเซียและอาเซียนก็ไม่ควรสร้างความยุ่งยากให้กับสถานการณ์นี้มากนัก เพราะการไม่ปรากฏตัวของไบเดนไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนักในแง่ของผลลัพธ์ของการประชุม “อาเซียนจะตกไปอยู่ในมือจีนโดยอัตโนมัติมั้ย? ไม่ เพราะยังมีมหาอำนาจอื่นๆ อีก เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดีย และรัสเซีย” 
 
เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ฟิเตรียนีที่เชื่อว่า หากไบเดนมาร่วมประชุม ก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับอาเซียน ฟิเตรียนียังกล่าวโดยอ้างถึงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่สหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วโดยมีสมาชิก 14 ประเทศในแถบอินโด-แปซิฟิกว่า มันเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในการควบคุมจีนเท่านั้น “มันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาในกลุ่มประเทศอาเซียน...ไม่ได้เปิดช่องทางการเข้าถึงตลาดในประเทศอาเซียน ไม่มีการสนับสนุนด้านการพัฒนาเพิ่มเติม” 
 
ฟิเตรีนยียังแนะนำให้อาเซียนขยายหุ้นส่วนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงการติดอยู่กับจีนมากเกินไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์