พูดคุยก็แค่พูดคุย สหรัฐฯ - จีน เจรจากันได้แต่ไม่อาจสมานรอยร้าว

20 มิ.ย. 2566 - 09:01

  •  บลิงเคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2018 และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดในรัฐบาลไบเดนที่เข้าพบสีจิ้นผิง

  • ผู้สังเกตการณ์มองว่าการเดินทางเยือนจีนของบลิงเคนอาจไม่มีอะไรก้าวหน้าไปมากกว่าความพยายามรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างกันไว้

blinken-visit-us-china-deep-divide-remains-SPACEBAR-Hero
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ปิดฉากการเดินทางเยือนปักกิ่งด้วยการเข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลกและความหวังว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองมหาอำนาจจะดีขึ้น  

ความหวังที่ว่านี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะบลิงเคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2018 และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดในรัฐบาลไบเดนที่เข้าพบสีจิ้นผิง และยังได้หารือกับนักการทูตระดับสูงของจีนอย่างหวังอี้ และฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนระหว่างกำหนดการเยือน 2 วันที่ถูกเลื่อนก่อหน้านี้จากกรณีบอลลูนสอดแนมจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 

สีจิ้นผิงเผยกับบลิงเคนว่า “การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันและความจริงใจเสมอ” และว่าทั้งสองฝ่าย “มีความคืบหน้าและบรรลุข้อตกลงในประเด็นเฉพาะบางประเด็น" แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม 

ทว่านอกเหนือจากแถลงการณ์ทั่วไป อาทิ การรักษา “ช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง” อย่างที่บลิงเคนพูด หรือไต้หวันคือ “ความเสี่ยงที่เด่นชัดที่สุด” สำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ตามที่ฉินกังพูด ก็ยังไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญอื่นออกมาจากการพบปะครั้งนี้  

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะการทูตนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งบทสนทนาทั้งในที่สาธารณะและในที่ส่วนตัว และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์ทวิภาคี คงเป็นเรื่องที่ไร้ความรอบคอบสำหรับทั้งสองประเทศในการแถลงจุดยืนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง 

การเมืองในประเทศขับเคลื่อนเรื่องเล่าสาธารณะ 

ไม่มีนักการเมืองอเมริกันคนไหนยอมอ่อนข้อให้จีนถ้าอยากชนะการเลือกตั้ง การสำรวจความคิดเห็นของ Pew ในปีนี้พบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีมุมมองในแง่ลบต่อจีน โดยราว 4 ใน 10 มองจีนเป็นศัตรูมากกว่าคู่แข่งหรือหุ้นส่วน 

สำหรับจีน สีจิ้นผิงสร้างภาพว่าสหรัฐฯ และตะวันตกต้องการจะควบคุมและปราบจีน ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของจีนต้องปฏิบัติตามแนวคิดนั้นไปด้วย 

พูดอีกอย่างคือ นักการทูตอเมริกันและจีนมีทางเลือกเพียงเล็กน้อยในการหลีกหนีจากเรื่องราวทางการเมืองที่ครอบงำอยู่ในบ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการทูตทุกคนจำเป็นต้องทำโดยทั่วไป 

ผู้สังเกตการณ์มองว่าการเดินทางเยือนจีนของบลิงเคนอาจไม่มีอะไรก้าวหน้าไปมากกว่าความพยายามรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างกันไว้ 

ออร์วิลล์ สเกลล์ จาก Arthur Ross Director of the Center on U.S.-China Relations เผยกับ CNA938 ว่า “เราสูญเสียเครือข่ายการสื่อสารกับจีนที่ลดน้อยลงจริงๆ เนื่องจากวิกฤตหลายต่อหลายครั้งนำมาสู่ความสัมพันธ์ที่เผชิญหน้ากันมากขึ้น มันดีที่บลิงเคนมาที่นี่ แต่การพูดคุยก็แค่การพูดคุย นอกเสียจากว่ามันจะนำไปสู่อะไรบางอย่าง ในเคสนี้ผมมองว่าความคาดหวังค่อนข้างต่ำ แค่รักษาช่องทางการสื่อสารไว้ก็พอ” 

หลังจากนี้จะคุยกันมากขึ้น? 

นักวิเคราะห์คาดหวังว่าการพบปะกันครั้งนี้จะเป็นการกรุยทางให้เกิดการพบปะกันมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน และอาจนำไปสู่การพบกันระหว่างสีจิ้นผิงและไบเดนในปีนี้ 

สหรัฐฯ และจีนมีหลายประเด็นที่รอการปรับความเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการจำกัดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ไปจนถึงสถานะของไต้หวัน 

เสเกลล์ผยว่า “มีสัญญาณแห่งความหวังในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่มหาอำนาจจะพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางทหารและการทะเลาะวิวาทที่อาจเกิดขึ้น อย่างที่เราเห็นในทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และช่องแคบไต้หวัน แต่จีนก็มีนิสัยที่น่าเศร้าใจนั่นคือ คุยกันจนตายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณต้องฟังหูไว้หู” 

ความทะเยอทะยานของจีน 

มัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์จาก Australian Strategic Policy Institute มองว่า จีนมีความทะเยอทะยานซึ่งหลายอย่างขัดกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตร

“เราไม่ควรคาดหวังว่าจะเกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในความสัมพันธ์นี้ผ่านการพบปะกันหลายครั้ง เรานัดหมายหารือกันได้ แต่สุดท้ายแล้วมันคือความทะเยอทะยานของจีนในอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับไต้หวัน และในทะเลจีนใต้ ที่เป็นสาเหตุของความตึงเครียดในขณะนี้” เดวิสเผย 

นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวอีกว่า เป้าหมายระยะยาวของจีนคือการผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก จีนยังอยากเห็นการลดทอนความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วย “ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ไม่มีทางยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้สหรัฐฯ เสียผลประโยชน์ใหญ่หลวง” 

เดวิสกล่าวต่อว่า จีนมองว่าอำนาจของสหรัฐฯ กำลังเสื่อมลง และจีน “กำลังสร้างความท้าทายอย่างเป็นระบบกับสหรัฐฯ ในทุกประการ ดังนั้นตอนนี้เรากำลังเผชิญกับการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์ มันจะยาวนานหลายสิบปี และมันก็ไม่ได้แก้ง่ายๆ” 

การเยือนของบลิงเคนช่วยปรับสัมพันธ์? 

ทั่วโลกต่างก็จับตามองการเยือนจีนของบลิงเคน พราะหากกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ ทั้งโลกก็จะพลอยได้รับแรงกระแทกไปด้วย 

สเกลล์มองว่า “ผมว่าประธานาธิบดีสีอุทิศตัวเพื่อฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจีน และนั่นหมายความว่าจีนต้องการมีสถานะเดียวกับสหรัฐฯ และยังต้องการความเคารพจากตะวันตกและสหรัฐฯ แต่ปัญหาคือ จีนมีระบอบการเมืองแบบอัตตาธิปไตย และมันก็เป็นเรื่องยากที่ตะวันตกซึ่งมีประชาธิปไตยเสรีจะเคารพและมอบความรู้สึกเท่าเทียมให้” 

มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าการเยือนของบลิงเคนช่วยลดอุณหภูมิประเด็นอ่อนไหวได้หรือไม่ แต่การหารือครั้งที่ผ่านๆ มาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่มีความคืบหน้ามากนัก 

สเกลล์เผยว่า จีนมีแนวโน้มที่จะจับประเด็นหนึ่งเป็นตัวประกันอีกประเด็นหนึ่ง “เช่น ถ้าคุณไม่อ่อนข้อให้เราเรื่องไต้หวัน เราจะไม่เปิดสายด่วนระหว่างกองทัพกับกองทัพ ดังนั้นมันจึงเป็นภาพที่ซับซ้อนมาก เพราะทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันไปหมด” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์