รัฐบาลกัมพูชากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ว่า กัมพูชาได้จัดการเจรจาการค้ารอบแรกกับสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตันที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2025 แล้ว โดยรัฐบาลกัมพูชาพยายามเจรจาอัตราภาษีศุลกากรที่นับว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดอัตราหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ซึ่งตอนนี้กัมพูชากำลังเผชิญผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภาคการผลิตสิ่งทอและรองเท้าหากไม่สามารถเจรจาลดอัตราภาษี 49% ได้
รัฐบาลกัมพูชาระบุในแถลงการณ์ว่า “ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ในบรรยากาศแห่งความเข้าใจร่วมกันเพื่อหาหนทางในการเสริมสร้างการค้าและการลงทุนทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ฮุน มาเนต จะยังคงให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดการเจรจารอบที่ 2 ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ณ กรุงวอชิงตัน
รัฐบาลกัมพูชาระบุว่ามีการเจรจาระหว่าง ซุน จันทอล รองนายกฯ , ชาม นิมูล รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์, และซาราห์ เอลเลอร์แมน ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทจัดอันดับเครดิตพันธบัตรมูดี้ส์ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตกัมพูชาจาก ‘มีเสถียรภาพ’ เป็น ‘ลบ’ โดยอ้างถึงความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มการเติบโตเนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีของสหรัฐฯ
กัมพูชามีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 37.9% ของการขนส่งทั้งหมดในปี 2024 ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 แสนล้านบาท)
สินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจมูลค่า 49,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) ของประเทศ และเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญในการผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่น Adidas, H&M, Ralph Lauren และ Lacoste
(Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP)