เคยสงสัยกันไหมว่าเวลาเราพูด ออกคำสั่ง หรือเอ่ยชม ‘เจ้าหมา’ เพื่อนสัตว์ 4 ขาของเรา จริงๆ แล้วมันฟังที่เราพูดรู้เรื่องจริงๆ หรอ? มันเป็นเพราะการฝึกฝนตั้งแต่เด็กหรอว่าถ้าพูดคำนี้น้องหมาต้องทำอย่างนี้ หรือเป็นแค่สัญชาติญาณของมันนะ จริงๆ แล้วมันรู้ภาษาเราได้ยังไงกัน และแน่นอนว่าวิทยาศาสตร์ไม่รอนานไขปริศนามาให้ได้รู้กันแล้ว!
เจ้าหมาเข้าใจสิ่งที่ทาสอย่างเราพูดจริงๆ หรอ?
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเจ้าหมาสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้คนพูดจริงๆ และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเจ้าหมาสามารถเรียนรู้คำสั่งเวลาที่เราพูด คำหรือวลีอื่นๆ ได้หลากหลาย การสำรวจทางวิทยาศาสตร์พบว่า
- โดยเฉลี่ยแล้วสุนัขเลี้ยงในบ้านสามารถจดจำคำศัพท์ได้ประมาณ 90 คำ และ 90% ของสุนัขเหล่านี้จำคำศัพท์ที่ได้รับการฝึกโดยทั่วไป 10 คำ เช่น ‘ชื่อของมันเอง’ ‘นั่งลง’ ‘อย่านะ’ ‘อยู่นิ่งๆ’ ‘ขอมือหน่อย’ เป็นต้น
- ลูกสุนัขที่ได้รับการฝึกสามารถสร้างคำศัพท์ได้ประมาณ 150-160 คำ แต่บางตัวสามารถจำเกินกว่าจำนวนนี้ได้ด้วยซ้ำ เช่น เจ้าหมาเชสเซอร์ สายพันธุ์บอร์เดอร์คอลลี่ที่ได้รับการบันทึกจากกินเนสเวิลด์เรคคอร์ดว่าเป็น ‘สุนัขที่รู้คำศัพท์เยอะที่สุดในโลก’ ซึ่งรู้มากกว่า 1,000 คำ มันจำได้ทั้งคำศัพท์ทั่วไป ได้แก่ บ้าน ต้นไม้ ลูกบอล รวมถึงมันยังจำชื่อของตุ๊กตาแต่ละตัวได้อย่างแม่นยำอีกด้วย (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นจำนวนที่ไม่ธรรมดา สุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีส่วนใหญ่จะจำคำศัพท์ได้ประมาณ 250 คำ)
- โดยทั่วไปแล้วสุนัขจะเรียนรู้คำศัพท์ผ่านการทำซ้ำและเชื่อมโยงพวกมันเข้ากับวัตถุต่างๆ ที่พวกมันคุ้นเคย
- คำศัพท์และคำสั่งพื้นฐานที่เจ้าหมาส่วนใหญ่จำได้ ได้แก่ นั่ง อยู่นิ่งๆ มานี่ ลงมา รอก่อน วางลง ไปกันเถอะ เด็กดี ลูกบอล ของเล่น เดิน อาบน้ำ ชื่อของมัน รวมถึงชื่อของคนที่พวกมันรู้จักดีด้วย เป็นต้น
แล้วเจ้าเพื่อนขนปุยเข้าใจเราได้อย่างไร?

แม้ว่าสุนัขของเราจะตอบสนองต่อคำพูดคำสั่งของเราได้อย่างชัดเจน แต่นั่นหมายความว่าพวกมันเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้นจริงหรอ? จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่าสุนัขสามารถอ่านน้ำเสียง ภาษากาย และการแสดงออกทางสีหน้าของเราได้เป็นอย่างดี และนักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นต่อความสามารถในการจดจำคำศัพท์ของสุนัขมากกว่าการเข้าใจความหมายของคำจริงๆ อย่างไรก็ตามบางคนเชื่อว่าสุนัขมีความสามารถในการถอดรหัสความหมายของคำโดยไม่คำนึงถึงน้ำเสียงที่ใช้
แม้ว่าการศึกษาจะมีจำกัด แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งได้เริ่มนำเทคนิคหนึ่งที่ตรวจวัดการทำงานของสมอง (fMRI) เพื่อเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายในสมองของลูกสุนัขเมื่อมีคนพูดด้วย แทนที่จะวิเคราะห์เพียงแค่ปฏิกิริยาทางพฤติกรรมต่อคำพูดของเรา
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออตฟอส ลอรานด์ (Eötvös Loránd) ในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี พบว่า “สุนัขใช้สมองทั้งด้านซ้ายและด้านขวาในการฟังคำพูด เช่นเดียวกับมนุษย์ที่สมองซีกขวามีหน้าที่ในการตีความน้ำเสียง (อารมณ์) ในขณะที่ซีกซ้ายจะประมวลผลความหมายของคำ”
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ สุนัขเหล่านี้ใช้สมองทั้ง 2 ซีกโดยเฉพาะเวลาได้รับคำชม เช่น ‘เด็กดี’ ด้วยน้ำเสียงที่เป็นบวก เมื่อพูดคำเดียวกันนี้ด้วยน้ำเสียงที่เป็นกลาง สุนัขจะใช้เพียงสมองซีกซ้ายเท่านั้น การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสิ่งที่เราพูดและวิธีที่เราพูดมีความสำคัญต่อเพื่อนขนปุยของเรา
เพื่อน 4 ขาของเรายังอ่านภาษากายได้ด้วยนะ!

นอกจากการเรียนรู้ผ่านคำพูดและคำสั่งของทาสอย่างเราแล้ว การศึกษายังระบุว่าสุนัขสามารถรับรู้ท่าทางภาษากาย รวมถึงการแสดงออกทางสีหน้าทางอารมณ์ของเราได้ด้วย
เนื่องจากสมองของสุนัขมีความคล้ายคลึงกับสมองของมนุษย์อย่างมาก แม้กระทั่งการฝันในขณะที่พวกมันนอนหลับ ดังนั้น หากเราอยู่ในท่าทีที่ตึงเครียด สุนัขของเราก็จะรับรู้ได้ถึงความเครียดของเราไปด้วย แต่หากภาษากายของเราดูผ่อนคลายสบายๆ สุนัขก็จะเข้าใจว่าเราผ่อนคลายและอารมณ์ดี เป็นต้น
และนี่คือความมหัศจรรย์ของเจ้าเพื่อน 4 ขา…อยู่เป็นทาสเราไปนานๆ นะนุด!