ถ้าไม่มีสหรัฐฯ? ยุโรปจะช่วยรับประกันสันติภาพยูเครนได้ไหม

3 มี.ค. 2568 - 10:10

  • ความล้มเหลวในการเจรจาจนนำไปสู่ดีล ‘แร่แรร์เอิร์ธ’ ล่มเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และยูเครนพังทลายลง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าสหรัฐฯ จะตัดสินใจตัดความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดในอนาคตแก่ยูเครนหรือไม่?

  • “ถ้าไม่มีสหรัฐฯ คอยช่วยแล้ว ยูเครนจะทำอย่างไรต่อไป และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากมีแค่ยุโรปที่สนับสนุนยูเครน”

can-europe-secure-peace-in-ukraine-without-the-us-SPACEBAR-Hero.jpg

“ยุโรปจะช่วยรักษาสันติภาพให้ยูเครนได้ไหม หากไม่มีสหรัฐฯ”

ท่ามกลางการจับตาของทั่วโลกว่าสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นอย่างไรต่อ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี โต้เถียงกันดุเดือดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการคาดเดาว่า “ถ้าไม่มีสหรัฐฯ คอยช่วยแล้ว ยูเครนจะทำอย่างไรต่อไป และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากมีแค่ยุโรปที่สนับสนุนยูเครน” 

แม้ทั้งยูเครนและรัสเซียจะกล่าวว่า “ต้องการยุติสงคราม” แต่ทั้งสองประเทศยังคงห่างไกลจากข้อตกลงอยู่มาก รัสเซียยังคงต้องการครอบงำยูเครน ยึดครองดินแดนจำนวนมาก และเพื่อให้แน่ใจว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโต ในขณะเดียวกัน ยูเครนเองก็กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และสร้างอนาคตที่มั่นคงภายในโลกตะวันตก 

“ในความเห็นของผม สิ่งที่รัสเซียต้องการนั้น สหรัฐฯ ไม่สามารถมอบให้ได้ และยูเครนจะไม่ยอมรับ” เซอร์ ลอว์เรนซ์ ฟรีดแมน ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งคิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าว 

แม้ว่ายูเครนจะบอกว่าอาจยอมรับการแบ่งแยกดินแดนโดยพฤตินัยตามแนวรบปัจจุบัน แต่ยูเครนก็แทบจะต้องการสู้รบมากกว่าที่จะยอมรับเงื่อนไขที่หนักหน่วงกว่า ชาวยูเครนส่วนใหญ่ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของรัสเซีย ความปรารถนาที่จะต่อต้านการปกครองของรัสเซียยังคงแพร่หลายไปทั่วสังคมยูเครน 

ถ้าสหรัฐฯ ‘ละทิ้ง’ ยูเครนจะเกิดอะไรขึ้น...

can-europe-secure-peace-in-ukraine-without-the-us-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: (Photo by SAUL LOEB / AFP)

ความล้มเหลวในการเจรจาจนนำไปสู่ดีล ‘แร่แรร์เอิร์ธ’ ล่มเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และยูเครนพังทลายลง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าสหรัฐฯ จะตัดสินใจตัดความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดในอนาคตแก่ยูเครนหรือไม่? แม้ว่าจะมีความช่วยเหลือทางทหารที่ยังไม่ได้จัดสรรมูลค่าเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.37 แสนล้านบาท) จากการอนุมัติ ในสมัยรัฐบาลของโจ ไบเดน ก่อนหน้านี้ แต่จากการเจรจาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้นมีสัญญาณว่า สหรัฐฯ ‘อาจตัดความช่วยเหลือ’ ดังกล่าวทันที 

การหยุดให้ความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ จะทำให้สถานการณ์ในสนามรบของยูเครนยากลำบากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะเห็นผล แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของยูเครนประเมินว่าฮาร์ดแวร์ทางการทหารประมาณ 20% ที่ใช้ในสงครามมาจากสหรัฐฯ (บวกกับอีกประมาณ 55% จากยูเครนและ 25% จากยุโรป) แม้จะยอมรับว่า 20% ดังกล่าวเป็นฮาร์ดแวร์ที่มีความสามารถมากที่สุด และยากที่ฮาร์ดแวร์จากยุโรป หรือจากที่อื่นจะทดแทนได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายูเครนจะยังอยู่ในสถานะตั้งรับเป็นส่วนใหญ่ แต่การรุกคืบของรัสเซียในยูเครนกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าในปี 2024 และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมักมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 1,000 รายต่อวัน ไม่มีการยึดเมืองสำคัญใดๆ ทั้งนี้ ข้อมูลของสถาบันเพื่อการศึกษาด้านสงครามระบุว่า ต้องใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า รัสเซียถึงจะยึดครองพื้นที่ส่วนที่เหลือของภูมิภาคโดเนตสค์ทางตะวันออกได้  

ยุโรปจะเข้ามาสนับสนุนทางทหารแทนสหรัฐฯ ได้หรือไม่?

ยูเครนสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะความช่วยเหลือทางทหารจำนวนมากที่สหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลไบเดนมอบให้ในขณะนั้น แต่ทรัมป์เผยว่าเขาต้องการยุติสงคราม และต้องการเงินที่รัฐบาลไบเดนเคยให้ยูเครนคืน พร้อมทั้งเรียกร้องยูเครนให้สิทธิ์สหรัฐฯ เข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุของประเทศเพื่อแลกกับเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ ใช้จ่ายไปกับการป้องกันยูเครน 

เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่ายุโรปนั้นจะสามารถทดแทนสิ่งที่สหรัฐฯ จัดหามาให้ได้ทั้งหมดได้อย่างไร? นั่นหมายความว่าสถานการณ์ทางทหารของยูเครนจะยังคงยากลำบากต่อไป  

“การสนับสนุนของสหรัฐฯ มีความสำคัญเป็นพิเศษใน 3 ด้าน ได้แก่  

  • การป้องกันทางอากาศ ;  
  • ขีปนาวุธพิสัยไกล แต่เยอรมนีปฏิเสธที่จะให้ขีปนาวุธทอรัส (Taurus) แถมขีปนาวุธสตอร์มแชโดว์ (Storm Shadow) ของฝรั่งเศส-อังกฤษก็มีน้อย ; 
  • การสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่ง Starlink ของ อีลอน มัสก์ ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในแนวหน้า” เรเชล เอลเลฮุส ผู้อำนวยการทั่วไปของสถาบันวิจัยด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง ‘Royal United Services Institute’ (RUSI) กล่าว

นอกจากนี้ยังมีคำถามเรื่องต้นทุนอีกด้วย จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ได้ให้เงินสนับสนุนด้านอาวุธและกระสุนมูลค่า 33,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) และให้เงินทุนแก่ยูเครนอีก 33,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) เพื่อซื้ออาวุธที่ผลิตในสหรัฐฯ 

ขณะที่ความช่วยเหลือด้านการทหารของยุโรปอยู่ในระดับเงินตราที่ใกล้เคียงกันที่ 62,000 ล้านยูโร (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) นั่นหมายความว่าจะต้องเพิ่มเงินบริจาคเป็น 2 เท่าเพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอใหม่ว่าทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียจำนวน 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ที่ถูกอายัดไว้ควรนำไปใช้เป็นทุนทำสงครามของยูเครน แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าเป็นไปได้ทางกฎหมายหรือไม่ที่จะทำเช่นนั้น 

แล้วยุโรปจะรับประกัน ‘สันติภาพ’ ในยูเครนโดยที่ไม่มีสหรัฐฯ ได้หรือเปล่า...

can-europe-secure-peace-in-ukraine-without-the-us-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: (Photo by JUSTIN TALLIS / POOL / AFP)

แม้ว่าจะมีการหารือกันเกี่ยวกับการจัดตั้ง ‘กองกำลังเสริมความมั่นคง’ นำโดยยุโรปเพื่อช่วยรับประกันสันติภาพในยูเครน แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการหยุดยิงอย่างน้อยที่สุด ซึ่งรัสเซียเคยพูดไปแล้วว่า ‘ต่อต้านประเทศที่เป็นสมาชิกของนาโต’ ที่จัดหากองกำลังรักษาสันติภาพ แม้ว่ารัสเซียอาจไม่สามารถใช้สิทธิยับยั้งดินแดนที่ตัวเองไม่ได้ควบคุมได้ แต่การคัดค้านจะทำให้กองกำลังยุโรปในประเทศตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง 

อังกฤษพยายามกดดันให้สหรัฐฯ จัดหา ‘กองกำลังเสริม’ ให้กับกองกำลังรักษาเสถียรภาพในยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นในรูปแบบของกำลังทางอากาศ แต่ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกฯ อังกฤษ ไม่ได้ขอให้ทรัมป์ให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่วแน่ในการประชุมกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.พ.) 

“ยุโรปจะได้รับคำมั่นสัญญาด้านกองกำลังเสริมจากสหรัฐฯ หรือไม่? ผมไม่คิดอย่างนั้น” ลอร์ด ริคเกตส์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหาที่ยากลำบากว่า จะรับประกันความปลอดภัยของกองกำลังรักษาสันติภาพของยุโรปในยูเครนได้อย่างไร หากรัสเซียฝ่าฝืนข้อตกลงสงบศึกใดๆ ก็ตาม และบุกเข้าไปในยูเครนอีกครั้ง 

(Photo by JUSTIN TALLIS / POOL / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์