กระเป๋ายิงนิวเคลียร์ของปูติน แค่กดคลิกเดียวก็ (อาจ) ทำให้โลกวินาศได้

21 พ.ย. 2567 - 11:00

  • ‘กระเป๋ายิงนิวเคลียร์’ (Cheget) ของปูตินคืออะไร? แค่กดคลิกเดียวก็ (อาจ) ทำให้โลกวินาศได้

  • นอกจากปูตินแล้ว ใครที่มีสิทธิ์ถือกระเป๋านี้อีกบ้าง?

cheget-nuclear-briefcase-russia-SPACEBAR-Hero.jpg

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไปและดูเหมือนว่าสถานการณ์จะตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งทิ้งทวนก่อนลงจากตำแหน่งอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธยุทธวิธีกองทัพบก (ATACMS) อีกทั้งยังส่งทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้ยูเครนทั้งๆ ที่ไบเดนก็เคยพูดเองว่ามัน ‘เป็นอันตรายต่อพลเรือน’ 

ขณะที่ทางรัสเซียก็มีการปรับแนวทางการใช้นิวเคลียร์ใหม่ หลังสหรัฐฯ ประกาศให้ยูเครนใช้อาวุธดังกล่าว SPACEBAR พาไปทำความรู้จักกับ ‘เชเกต’ (Cheget) กระเป๋ายิงนิวเคลียร์ของรัสเซียที่อยู่ติดตัวประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ตลอดเวลา 

‘เชเกต’ (Cheget) กระเป๋ายิงนิวเคลียร์ของรัสเซีย

‘Cheget’ หรือกระเป๋ายิงนิวเคลียร์ของรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของระบบอัตโนมัติสำหรับการสั่งการและควบคุมกองกำลังนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย (SNF) หรือ ‘Kazbek’ กระเป๋าดังกล่าวได้รับการพัฒนาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และผู้มีสิทธิ์ถือกระเป๋าก็คือ : 

  • ประธานาธิบดีรัสเซีย 
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 
  • เสนาธิการทหารบก 

กระเป๋ายิงนิวเคลียร์จะเชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารพิเศษที่มีชื่อรหัสว่า ‘Kavkaz’ ซึ่งรองรับการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลในขณะที่พวกเขากำลังตัดสินใจว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ และในขณะเดียวกัน กระเป๋าก็เชื่อมต่อกับกองกำลัง ‘Kazbek’ ครอบคลุมบุคคลและหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งการ 

ภายในกระเป๋าจะมีปุ่มต่างๆ มากมาย แต่ในหมวดคำสั่งจะมีปุ่มอยู่ 2 ปุ่ม ได้แก่ : 

  • ปุ่มสีขาว = เปิดใช้งาน 
  • ปุ่มสีแดง = ยกเลิก 

มีรายงานว่าหลังจากกระเป๋ายิงนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาขึ้นในสมัย ยูรี วลาดีมีโรวิช อันโดรปอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตคนที่ 6 ตรงกับช่วงต้นทศวรรษ 1980 แต่กระเป๋าดังกล่าวถูกนำมาใช้ในทันทีหลังจาก มิคาอิล กอร์บาชอฟ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในเดือนมีนาคม 1985

ใครมีสิทธิ์สั่งยิง...

กระเป๋ายิงนิวเคลียร์จะอยู่กับประธานาธิบดี (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ตลอดเวลา แน่นอนว่าสิทธิ์ในตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะยิงนิวเคลียร์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประธานาธิบดี แต่อาจต้องผ่านการหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม และเสนาธิการทหารบก โดยเสียงต้องออกมาเป็น 2 ใน 3 ประธานาธิบดีจึงจะมีสิทธิ์สั่งยิงนิวเคลียร์ได้  

กฎการยิงนิวเคลีย์ของรัสเซีย

cheget-nuclear-briefcase-russia-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Handout / Russian Defence Ministry / AFP

นับตั้งแต่ปี 2010-2024 รัสเซียได้เปลี่ยนแปลงหลักการนิวเคลียร์ประมาณ 3 ครั้ง ในปี 2010 รัสเซียออกคำสั่งใช้สิทธิ์สั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ใน 2 สถานการณ์ ได้แก่ : 

  • การใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรืออาวุธทำลายล้างสูงประเภทอื่นๆ ต่อรัสเซีย และ (หรือ) พันธมิตร 
  • ในกรณีที่เกิดการรุกรานสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธทั่วไปในขณะที่การดำรงอยู่ของรัฐอยู่ภายใต้การคุกคาม 

ในปี 2020 รัสเซียได้เพิ่มเงื่อนไขการใช้สิทธิ์สั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์จากในปี 2010 ได้แก่ : 

  • การได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีดินแดนของสหพันธรัฐรัสเซียและ/หรือพันธมิตร หรือการโจมตี (สันนิษฐานว่าใช้อาวุธธรรมดา) ต่อสถานที่สำคัญของรัฐบาลรัสเซีย หรือกองทหารของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งการขัดขวางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการตอบโต้ด้วยกองกำลังนิวเคลียร์ 

ปี 2024 รัสเซียแก้ไขหลักการยิงนิวเคลียร์ใหม่ หลังจาก โจ ไบเดน อนุมัติให้ยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS เข้าไปในรัสเซีย 

  • ประเด็นแรกคือ ‘การโจมตีร่วมกัน’ “การรุกรานจากรัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่มีประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าร่วม ถือ เป็นการโจมตีรัสเซียร่วมกัน” 
  • ประเด็นที่สอง แก้ไขหลักการยิงนิวเคลียร์จากในปี 2020 เกี่ยวกับการได้รับข้อมูลการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยใกล้นั้น ให้รวมถึงการโจมตีด้วยเครื่องบิน ขีปนาวุธ หรือโดรนทุกประเภท 
  • ประเด็นที่สาม เมื่อใดรัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์จากการโจมตีแบบธรรมดาที่ทำให้การดำรงอยู่ของรัสเซีย ‘อยู่ภายใต้ภัยคุกคาม’ ให้เป็น ‘ภัยคุกคามสำคัญ’ ต่ออำนาจอธิปไตยของรัสเซีย (หรือเบลารุส)  

รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์มากขนาดไหน?

รัสเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคลังอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก รองลงมาคือ คลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เมื่อรวมหัวรบนิวเคลียร์ของทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ พบว่า ทั้ง 2 ประเทศควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 90% ทั่วโลก 

สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (FAS) เปิดเผยเมื่อต้นปีนี้ว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 5,580 หัว แต่หัวรบนิวเคลียร์เหล่านี้ถูกปลดระวางไปแล้วประมาณ 1,200 หัว และอีกประมาณ 4,380 หัว ยังคงถูกเก็บไว้ในคลัง ขณะที่สหรัฐฯ มีหัวรบทั้งหมดประมาณ 5,044 หัว 

ในปัจจุบัน มี 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์รวมประมาณ 12,100 หัว ได้แก่ : 

  • ประเทศใน NATO : สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร 
  • ประเทศที่อยู่นอก NATO : รัสเซีย จีน อิสราเอล อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ

แล้วรัสเซียเคยใช้อาวุธนิวเคลียร์ไหม?

โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเริ่มขึ้นในปี 1942 และทำการทดสอบครั้งแรกในปี 1949 ส่วนครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1990

แม้จะเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เยอะที่สุดในโลก และปูตินก็ออกมาขู่ยูเครน และชาติตะวันตกบ่อยครั้งว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่จนถึงปัจจุบันปุ่มยิงนิวเคลียร์ก็ยังไม่ถูกปูตินกดอนุมัติ

จะเกิดอะไรขึ้น...หากปูตินกดปุ่มยิงนิวเคลียร์

คำตอบก็คือ มันอาจรุนแรงจนขยายวงกว้างเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เป็นได้ ไม่ใช่แค่การนองเลือด และการสูญเสียมากมายหลายชีวิต แต่การเจรจาเพื่อขอยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าปูตินตัดสินใจกดปุ่มนั้น นั่นหมายความว่า เป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้าย และตริตรองถึงผลที่จะตามมาแล้ว 

หรือหากแค่ยิงอาวุธยุทธวิธีขนาดเล็กไม่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง ก็ยังสร้างผลกระทบอยู่ดี ด้วยสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นที่เต็มไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสีที่อาจปกคลุมอยู่ยาวนาน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำรงอยู่ของพลเรือน โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวแก่ผู้รอดชีวิต อีกทั้งยังก่อให้เกิดสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์