ภาษีทรัมป์: จีนไม่ต้องการความขัดแย้งแต่ก็ไม่ยอมให้ใครรังแกง่ายๆ

17 เม.ย. 2568 - 03:00

  • ในขณะที่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อให้เกิดความกังวลว่า สงครามการค้าจะยืดเยื้อ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของจีนเน้นย้ำว่าปักกิ่งเพียงแค่ยืนหยัดด้วยความยับยั้งชั่งใจในระดับที่เหมาะสม

china-had-no-choice-respond-trump-tariffs-doesnt-like-to-be-bullied-SPACEBAR-Hero.jpg

อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของจีนเผย จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตอบโต้การขึ้นภาษีของทรัมป์ แต่จีนก็ยังหวังว่าการทูตและปรัชญาปฏิบัตินิยมจะสามารถดึงทั้งสองฝ่ายกลับมาสู่โต๊ะเจรจาได้ 

จีนประกาศตอบโต้เก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าสหรัฐฯ เป็น 125% หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจากจีนเป็น 145% ซึ่งเป็นการขึ้นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศ “วันปลดแอก”  

ในขณะที่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อให้เกิดความกังวลว่า สงครามการค้าจะยืดเยื้อ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของจีนเน้นย้ำว่าปักกิ่งเพียงแค่ยืนหยัดด้วยความยับยั้งชั่งใจในระดับที่เหมาะสม 

เฮนรี หวังฮุยเย่า ผู้ก่อตั้งและประธาน Center for China and Globalization (CCG) และอดีตที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีจีนซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ ทำหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินนโยบายระดับชาติและบริหารจัดการกิจการของรัฐบาลเผยว่า “ในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสอง จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตอบโต้การขึ้นภาษีของทรัมป์ ปักกิ่งไม่ต้องการถูกรังแก” 

“แต่เรายังหวังว่าการสนทนา การอภิปราย และการปรึกษาหารืออย่างจริงใจ จะช่วยแก้ไขความแตกต่างได้ เช่นเดียวกับที่เราทำได้ในช่วงสมัยแรกของทรัมป์” หวังเผยกับ TRT World ระหว่างการประชุมสุดยอด Antalya Diplomacy Forum 2025 

อย่างไรก็ดี หวังมองว่าความตึงเครียดในขณะนี้ถึงจุดพีคแล้ว 

“ผมคิดว่าการขึ้นภาษีศุลกากรสิ้นสุดลงแล้ว” หวังกล่าวโดยอ้างอิงประกาศล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ของจีนที่ระบุว่า จีนจะไม่ตอบโต้ไปมากกว่านี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นก็ตาม “จีนประกาศแล้วว่าจะไม่ขึ้นภาษีศุลกากรอีกแล้ว...พวกเขาจะไม่ขึ้นอีกแล้ว”

“การที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราที่สูงเกินควรอย่างต่อเนื่องนั้น กลายเป็นเพียงเกมตัวเลขเท่านั้น โดยไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่แท้จริง มันแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นอาวุธเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและบีบบังคับ ทำให้ตัวเองกลายเป็นตัวตลก”

กระทรวงพาณิชย์จีน

หวังติงว่าการตอบโต้กันไปมาว่า “ไม่สร้างสรรค์” และไม่สอดคล้องกับความต้องการให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกัน 

“การค้าเป็นประโยชน์กับทั้งสหรัฐฯ และจีน และโลกด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่กระทบทั้งโลก” หวังเผยโดยชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ก็ใช้มาตรการคล้ายกันนี้กับหุ้นส่วนอื่นๆ รวมทั้งเม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรป  

หวังกล่าวอีกว่า “จีนในฐานะหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ มีความรับผิดชอบในการยืนหยัดเพื่อการค้าที่เป็นธรรมและพหุภาคี” และว่า ปักกิ่งยื่นร้องเรียนต่อกลไกการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ไปแล้ว

แม้จะดูเหมือนเป็นการเผชิญหน้ากัน แต่หวังเชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไข

“นี่ (การขึ้นภาษีศุลกากร) แทบจะหมายถึงการแยกตัวออกจากการค้า แต่แม้แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ยังพูดหลายครั้งว่า พวกเขาไม่ต้องการแยกตัวออกจากการค้ากับจีน หรือหยุดยั้งการพัฒนาของจีน” หวังกล่าว “ดังนั้นคำถามคือ เราจะออกจากสถานการณ์เลวร้ายนี้อย่างไร?” 

หวังบอกว่า คำตอบอยู่ที่การทูต 

ยังมีโอกาสนั่งโต๊ะเจรจา 

แม้ว่าจีนจำเป็นต้องตอบโต่สิ่งที่จีนมองว่าเป็นแท็กติก “การรังแก” แต่หวังเน้นย้ำว่าจีนยังเปิดกว้างสำหรับการเจรจา 

“ประตูสำหรับการเจรจาของจีนเปิดกว้าง” หวังเผย และย้ำว่าการทูตระดับสูงเป็นสิ่งจำเป็น

china-had-no-choice-respond-trump-tariffs-doesnt-like-to-be-bullied-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ พูดคุยกับ ปธน.สีจิ้นผิง นอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ในโอซากาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2019 Photo by AFP / Brendan Smialowski

หวังชี้ให้เห็นข้อตกลงการค้าสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 เป็นตัวอย่างว่ามีอะไรเป็นได้บ้างผ่านการเจรจา 

“แม้แต่ในช่วงรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก หลังการขึ้นภาษีศุลกากร ทั้งสองฝ่ายยังกลับมานั่งโต๊ะเจรจาและลงนามข้อตกลงกัน” 

หวังแนะนำให้ฟื้นฟูการเจรจากัน รวมทั้งการเยือนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ หรือการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือตัวแทนการค้าของจีนไปเยือนวอชิงตัน “นี่คือเวลาของการสื่อสารและปรึกษาหารือ ไม่ใช่การเผชิญหน้า” 

สัปดาห์ที่แล้ว ทำเนียบขาวประกาศว่า ทรัมป์ยังคงมองในแง่ดีเกี่ยวกับการบรรลุข้อจกลงการค้ากับจีน โดยแคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวเผยว่า “ประธานาธิบดีแสดงให้เห็นชัดเจนว่าท่านเปิดกว้างในการบรรลุข้อตกลงกับจีน แต่หากจีนยังเดินหน้าตอบโต้ ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับจีนเอง” 

หวังบอกว่าความตั้งใจเบื้องหลังภาษีศุลกากรของทรัมป์ตั้งแต่แรกคือ ใช้ภาษีศุลกากรเป็นตัวต่อรองในการเจรจา 

“ทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่ยึดการปฏิบัติ ในอดีตเขาเคยพูดสิ่งดีๆ ถึงจีน เขาชื่นชมผู้นำจีนและย้ำว่าหากสหรัฐฯ กับจีนร่วมมือกันก็ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แก้ไขไม่ได้” 

หวังเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ทรัมป์พยายามสร้างความสัมพันธ์กับจีน รวมทั้งการเชิญประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เข้าร่วมพิธีสาบานตน ซึ่งจีนส่งรองประธานาธิบดี หานเจิ้ง ไปแทน “แต่ตอนนี้ แน่นอนว่าเขามีฐานเสียงการเมืองในประเทศที่ต้องเอาใจ เขาไม่อยากเสียหน้า” 

หวังกล่าวอีกว่า ความต้องการของวอชิงตันที่ต้องการความร่วมมือจากปักกิ่งในประเด็นระหว่างประเทศที่กว้างขึ้น เช่น สงครามยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ อาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจากันใหม่ 

หวังยังเต็มไปด้วยความหวัง “ทรัมป์ต้องการข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็น TikTok เฟนทานิล หรือแม้แต่สันติภาพ ครั้งหนึ่งเขาเคยเรียกตัวเองว่าประธานาธิบดีแห่งสันติภาพ ดังนั้นจึงยังมีโอกาสพูดคุยกัน” 

จีนจะขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือเปล่า? 

สิ่งหนึ่งที่นักวิเคราะห์พูดถึงกันคือ โอกาสที่จีนจะตอบโต้ด้วยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถืออยู่กว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อดอลลาร์สหรัฐและตลาดโลก  

แต่หวังมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้และไม่จำเป็น “จีนยังอดทนอยู่” และว่า การถือพันธบัตรนี้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

“จีนกำลังช่วยชดเชยการขาดดุลของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นผลดีอย่างมากต่อสหรัฐฯ”

หวังฮุยเย่า อดีตที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีจีน

ในมุมมองของหวัง สงครามการค้าของสหรัฐฯ มองข้ามภาพรวม “การมุ่งเน้นที่การผลิตอย่างเดียวเป็นการมองระยะสั้น สหรัฐฯ ย้ายอุตสาหกรรมหนักออกจากประเทศเมื่อหลายปีก่อนด้วยเหตุผลเรื่องมลพิษ ต้นทุนค่าแรง และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้กลับทำสงครามการค้าเพื่อนำสิ่งนั้นกลับมา ดูไม่มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ” 

หวังย้ำว่า ไม่มีใครได้ประโยชน์จากสงครามการค้า 

“เราต้องกลับมาที่โต๊ะเจรจา เพราะความเสียหายของการไม่เจรจานั้นสูงเกินไป ไม่เพียงแต่สำหรับสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น แต่สำหรับเศรษฐกิจทั้งโลกด้วย”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์