‘ทัวร์ฟ้าแลบ’ นทท.จีนเปลี่ยนสไตล์เที่ยว เน้นประหยัด-อยู่สั้น 1 วันตะลุยกิน 21 เมนู

27 ก.ค. 2566 - 07:51

  • วัยรุ่นจีนเริ่มหันมาท่องเที่ยวแบบ “special force style” หรือท่องเที่ยวสไตล์กองกำลังพิเศษ ที่เน้นท่องเที่ยวให้ได้หลายที่มากที่สุด กินให้มากที่สุด โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด ในเวลาสั้นที่สุด

  • อัตราว่างงานของวัยรุ่นจีนทุบสถิติที่ 21.3% นั่นเท่ากับ 1 ใน 5 ของวัยรุ่นอายุ 16-24 ปีไม่มีงานทำ

china-youth-lightning-travel-ultimate-budget-limited-time-SPACEBAR-Thumbnail
เว็บไซต์ข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ช่วงนี้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของวัยรุ่นจีนเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มหันมาท่องเที่ยวแบบ “special force style” หรือท่องเที่ยวสไตล์กองกำลังพิเศษ ที่เน้นท่องเที่ยวให้ได้หลายที่มากที่สุด กินให้มากที่สุด โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด ในเวลาสั้นที่สุดคือราว 1-2 วัน 
 
กระแสเที่ยวสั้นเน้นประหยัดเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลเชงเม้งเมื่อต้นเดอนเมษายนที่ผ่านมา ในช่วงนั้นมีคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสไตล์ใหม่นี้ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด พร้อมกับแฮชแท็ก 大学生特种兵 (กองกำลังพิเศษนักศึกษามหาวิทยาลัย) รวมทั้งยังมีคำค้นยอดฮิตต่างๆ เช่น “24 ชั่วโมงในเฉิงตู” “48 ชั่วโมงในซานโถว” หรือ “บล็อกท่องเที่ยวกองกำลังพิเศษนักศึกษามหาวิทยาลัยสำหรับจือป๋อบาร์บีคิว” (จือป๋อเป็นชื่อเมืองเล็กๆ ในมณฑลซานตงที่ขึ้นชื่อเรื่องปิ้งย่างจนได้รับฉายาว่าเมืองหลวงแห่งบาร์บีคิว) 
 
เสี่ยวเทียนเทียน บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวทำคลิปรีวิวการเที่ยวสไตล์กองกำลังพิเศษในเมืองฉงชิ่งของมณฑลเสฉวนลงในแอปพลิเคชันเสี่ยวหงซู โดยเริ่มตั้งแต่ที่สนามบินตอน 9 โมงเช้า ตระเวนกินเมนูต่างๆ กัน เช่น ชาไข่มุก ราเม็ง ฮอตพอต ติ่มซำ ทั้งหมด 21 เมนู ก่อนจะปิดท้ายด้วยแลนด์มาร์กสำคัญอย่างหงหยาต้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง 
 
อีกเคสหนึ่งเป็น 2 นักศึกษาปี 1 ที่เริ่มออกเดินทางจากพักตั้งแต่เย็นวันศุกร์ แล้วนั่งรถไฟ 10 ชั่วโมงต่อไปยังกรุงปักกิ่งโดยถึงที่นั่นตอนตีห้าครึ่งของวันเสาร์ และแม้จะเดินทางกันมายาวนาน ทั้งคู่เลือกที่จะเที่ยวกันแบบโต้รุ่งไม่หลับไม่นอนเพื่อรอชมพิธีเชิญธงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินตอนตีสามของวันอาทิตย์ ก่อนจะต้องเตรียมตัวเดินทางกลับให้ทันเข้าเรียนในวันจันทร์ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Wa4Q8ivqWQDgo6ePSo5NA/370791ed93034afdb66728f83f5438ae/china-youth-lightning-travel-ultimate-budget-limited-time-SPACEBAR-Photo01
ส่วนเรื่องที่พักนั้น “ชาวกองกำลังพิเศษ” เลือกประหยัดงบด้วยการอาศัยสถานที่หรือร้านอาหารที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงอย่างร้านฮอตพอตไหตี่เลา อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือเลือกที่จะใช้เวลาช่วงกลางคืนไปกับการเดินทาง เช่น การนอนบนรถไฟ 
 
ซีอี้ อดีตพนักงานบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งเผยกับ Nikkei Asia ว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไมจือป๋อถึงฮิตนัก เพราะมันถูก แถมยังนั่งรถไฟไปกลับได้ภายในวันเดียว มันราคาไม่แพงมาก” ซีอี้บอกอีกว่า ความฮิตของการท่องเที่ยวแบบสั้นๆ มีต้นตอมาจาก “ความจำเป็น” มากกว่า “ความชอบ” และว่า “ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่มีเงิน พวกเขาต้องการท่องเที่ยวแต่ไม่ต้องการใช้จ่ายเงิน พวกเขาจึงเลือกการท่องเที่ยวแบบกองกำลังพิเศษ” 
 
Nikkei Asia นะบุว่า ในช่วงใตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อัตราว่างงานของวัยรุ่นจีนทุบสถิติที่ 21.3% นั่นเท่ากับ 1 ใน 5 ของวัยรุ่นอายุ 16-24 ปีไม่มีงานทำ และแม้ว่าคนจีนจะเดินทางเยอะขึ้น แต่สถิติกลับพบว่าคนเหล่านี้ไม่จับจ่ายใช้สอยเหมือนแต่ก่อน อย่างในช่วงวันแรงงาน หรือโกลเดนวีค คนจีนเดินทางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2019 แต่มีการใช้จ่ายต่อหัวเพียง 75.40 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,568 บาท ลดลง 10.5% จากช่วงก่อนโควิดระบาด 
 
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องตั๋วเครื่องบินที่ราคาสูงขึ้นด้วย ชมคลิป
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/722mTF0JmwT0yi01IsYtes/c15a5ac3e3a184e1e163f272bea2c553/travel
จากกระแสท่องเที่ยวแบบเน้นประหยัด อัดทุกอย่างไว้ภายใน 1-2 วัน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะต้องเดินกันวันละหลายหมื่นก้าว แถมบางคนยังต้องอดหลับอดนอน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางส่วนตั้งคำถามถึงความหมายที่แท้จริงของการท่องเที่ยวแบบรีบไปรีบกลับนี้ โดยเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนการ “นั่งชมดอกไม้จากบนหลังม้า” (走马观花) 
 
อีกด้านหนึ่งก็เข้าใจในเรื่องของเงินและเวลาที่จำกัด ผู้ใช้แพลตฟอร์มจือฮู (ZhiHu) รายหนึ่งอธิบายว่า “การลาพักร้อนหมายถึงการต้องชดเชยวันทำงานที่ขาดหายไป และแม้แต่การทำงานหนักก็ไม่ได้ทำให้มีเงินมากมาย งานมันหนักมากถึงขนาดที่ว่าแค่ได้พักสักนิดและออกไปสนุกสักหน่อยมันก็ดีมากแล้ว การท่องเที่ยวแบบมีความหมายเป็นเรื่องของคนรวย” 
 
ขณะที่ผู้ใช้อีกรายหนึ่งแย้งเรื่องการท่องเที่ยวที่มีความหมายว่า “ความหมายของการท่องเที่ยวอยู่ที่ประสบการณ์ที่พบเจอต่างหาก ประสบการณ์ไหนๆ ก็ดป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งนั้นตอนที่คุณยังอายุน้อย ตราบใดที่มันไม่ผิดกฎหมายหรืออันตราย ทำไมเราต้องไปทำลายความตื่นเต้นของคนนอื่นด้วยล่ะ?” อีกคนหนึ่งบอกว่า “อย่าไปมองว่ามันมีความหมายหรือไม่มากเกินไปนักเลย มีหลายวิธีที่ทำให้สิ่งต่างๆ มีความหมาย สำหรับหลายๆ อย่างมันแค่เรื่องของการลงมือทำเท่านั้นแหละ แล้วถ้าคุณชอบมันก็จงทำต่อไป” 
 
ในมุมของคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวแบบกองกำลังพิเศษอย่าง เจ้าอี้ ที่ตระเวนเที่ยว 4 เมืองภายใน 5 วันมาแล้วถึง 2 ทริปมองว่า “ผมไม่รู้สึกเหนื่อยนะ และผมต้องการท้าทายข้อจำกัดของตัวเอง” 
 
ทว่า สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนอย่างไทยนี่อาจไม่ใช่ข่าวดีนัก เพราะนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของการเดินทางก่อรโควิดระบาด เอมิต ซาเบอร์วอล ผู้ก่อตั้งโรงแรมราคาประหยัด RedDoorz ในอินโดนีเซียเผยกับ Nikkei Asia ว่า “แน่นอน พวกเขายังไม่กลับมาเที่ยวในอาเซียน” 
 
Nikkei Asia ระบุต่อว่า วัยรุ่นจีนที่กำลังวางแผนเที่ยวต่างประเทศอาจไม่อยู่ยาวเป็นสัปดาห์เหมือนที่พวกเขาเคยทำแล้ว ตอนนี้โซเชียลมีเดียของจีนเต็มไปด้วยคลิปวิดีโอในหัวข้อทริปเที่ยวไทยแบบสั้นๆ อาทิ “วิธีเที่ยวแบบกองกำลังพิเศษ 24 ชั่วโมงในกรุงเทพฯ แบบเจ๋งๆ” หรือ “48 ชั่วโมงในไทย” 
 
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบการท่องเที่ยวแบบกองกำลังพิเศษนี้ ผู้ใช้เวยป๋อรายหนึ่งบอกว่า “คุณคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกเหรอ ถ้าคุณจ่ายเงินเดือนคนรุ่นใหม่มากกว่านี้ ให้เวลาลาพักร้อนมากกว่านี้ ใครจะอยากเที่ยวแบบนี้ ใครบ้างจะไม่อยากได้วันลาพักร้อนแบบชิลชิล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์