สืบเนื่องจากกระแสข่าวว่าไทยจะเอาตำรวจจีนมาตรวจลาดตระเวนความปลอดภัยในประเทศร่วมกับตำรวจท้องถิ่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนว่าจะได้รู้สึกปลอดภัยเวลามาไทย
กรณีนี้เคยเกิดขึ้นที่อิตาลีมาแล้วตั้งแต่ปี 2015 และเพิ่งยกเลิกเมื่อปลายปี 2022 เนื่องจากมีรายงานว่าจีนแอบเปิดสถานีตำรวจลับในต่างประเทศเป็นร้อยๆ แห่งเพื่อที่จะนำตัวคนเห็นต่างกลับไปดำเนินคดีที่จีน
ครั้งหนึ่งอิตาลีเคยลงนามเอาตำรวจสายตรวจกับนานาประเทศ
ย้อนกลับไปช่วงปี 2016-2018 อิตาลีได้ลงนามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีกับจีนเพื่อให้ตำรวจอิตาลีดำเนินการลาดตระเวนร่วมกับตำรวจจีนในกรุงโรม มิลาน เนเปิลส์ รวมถึงเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ‘Safeguard Defenders’ พบหลักฐานว่ามีกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ชาวจีนอาศัยอยู่
ในปี 2016 เจ้าหน้าที่ตำรวจอิตาลีบอกกับสถานีวิทยุแห่งชาติ NPR ว่า “การตรวจตราร่วมกันจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศที่กว้างขึ้น การแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการแบ่งปันทรัพยากรเพื่อต่อสู้กับกลุ่มอาชญากรและผู้ก่อการร้ายที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศของเรา”
ทว่าเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2022 มัตเตโอ ปิอันเตโดซี รัฐมนตรีมหาดไทยของอิตาลีบอกว่า “อิตาลีจะยกเลิกให้ตำรวจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเข้าร่วมในการลาดตระเวนร่วมกับตำรวจอิตาลีในดินแดนของตัวเอง” ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอิตาลีถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยเพื่อปกปิด ‘สถานีตำรวจจีนโพ้นทะเล’ ที่จัดตั้งขึ้นในเมืองต่างๆ
ในรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ‘Safeguard Defenders’ พบหลักฐานแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนได้จัดตั้งศูนย์บริการตำรวจจีนในต่างประเทศอย่างน้อย 102 แห่งใน 53 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตก และในจำนวนนี้มีสถานีจีน 11 แห่งอยู่ในอิตาลีซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุด
เมื่อมีการสอบสวนในรัฐสภาเมื่อปลายปีที่แล้วก็พบว่า
“ข้อตกลงการลาดตระเวนร่วมกับจีนไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสถานีบริการใดๆ ในอิตาลี”
— ปิอันเตโดซีกล่าว
‘สถานีตำรวจ’ (ลับๆ) เพื่อติดตามชาวจีนโพ้นทะเล
เป็นที่ทราบกันดีว่าในเวลานี้จีนได้ขยายขีดความสามารถด้านการสอดแนมไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมายไปที่ ‘ชาวจีนพลัดถิ่น’
สถานีตำรวจโพ้นทะเลของจีนได้รับการจัดตั้งและดำเนินการโดยหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะระดับภูมิภาคของจีนเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งร่วมมือกับสมาคมในต่างประเทศของจีนและชุมชนธุรกิจบางแห่ง
ขณะที่รัฐบาลจีนอ้างว่าศูนย์ต่างๆ ดำเนินการโดยอาสาสมัครเพื่อให้ข้อมูลบริการแก่ชาวจีนโพ้นทะเล เช่น การต่ออายุหนังสือเดินทาง โดยรายงานชี้ให้เห็นว่าสถานีตำรวจโพ้นทะเลของจีนที่แอบแฝงเหล่านี้เป็นส่วนขยายของการควบคุมรัฐบาลต่อชาวต่างชาติและผู้อพยพชาวจีน ซึ่งตำรวจจีนยอมรับว่า “สถานีนี้มีไว้เพื่อควบคุมชาวจีนโพ้นทะเล”
รายงานยังระบุอีกว่า “รัฐบาลจีนยังได้จัดตั้งศูนย์ตำรวจลับโดยไม่แจ้งให้รัฐบาลของประเทศเจ้าภาพทราบ” โดยเนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา และสหรัฐฯ ก็ได้สั่งให้สอบสวนสถานีตำรวจจีนในดินแดนของตัวเองเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ปีเตอร์ ดาห์ลิน ผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เขียนในบทความวิเคราะห์ใน The Epoch Times ว่า “จนกว่าสถานีตำรวจจีนในต่างประเทศทั้งหมดจะปิดตัวลง ชาวจีนพลัดถิ่นทั่วสหรัฐฯ แคนาดา และที่อื่นๆ จะมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่สามารถที่จะพูดอย่างเสรีและถูกปฏิเสธสิทธิประชาธิปไตยในบ้านเกิดใหม่ของพวกเขา”
“สำหรับพวกเขา มันเป็นเรื่องของเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากคอมมิวนิสต์จีนปรากฏตัวในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสถานีเหล่านี้ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการ ‘ใช้ชาวจีนโพ้นทะเลเพื่อปกครองชาวจีนโพ้นทะเล’ ”
— ดาห์ลินกล่าว
นอกจากนี้ จีนยังได้บรรลุข้อตกลงร่วมลาดตระเวนที่คล้ายกันนี้กับโครเอเชียและเซอร์เบียในระหว่างปี 2018- 2019 ด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นของจีนตามเส้นทางนโยบายต่างประเทศของสีจิ้นผิง ที่เรียกว่าโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (the Belt and Road Initiative)
สื่อจีนรายงานว่ามีการพบเห็นตำรวจจีนในการลาดตระเวนร่วมกับตำรวจโครเอเชียบนถนนในกรุงซาเกร็บ เมืองหลวงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซาเกร็บกล่าวว่า า “การลาดตระเวนมีความจำเป็นสำหรับการปกป้องและดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ”
รายงานของ Reuters เมื่อปี 2019 ระบุว่า ตำรวจจีนได้ร่วมกับตำรวจเซอร์เบียลาดตระเวนในกรุงเบลเกรด เพื่อช่วยแก้ไขการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะที่ตำรวจเซอร์เบียคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ‘ตำรวจชาวจีนไม่มีอำนาจในการจับกุม’
Safeguard Defenders ยังกล่าวอีกว่ายังมีสถานีตำรวจของจีนในแอฟริกาใต้และในประเทศใกล้เคียงด้วย
ทั้งนี้ จีนเริ่มวางรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ด้านการรักษาพยาบาลที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของแอฟริกาใต้เมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว ต่อมาได้จัดตั้งเครือข่ายที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ศูนย์บริการชาวจีนโพ้นทะเล’ โดยความร่วมมือกับรัฐบาลแอฟริกาใต้ภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคี
Photo by Noel Celis / AFP