‘นอนไม่หลับ ลองนับแกะสิ’ ช่วยให้หลับจริงไหม ทำไมต้องเป็น ‘แกะ’

27 ธ.ค. 2567 - 00:00

  • ‘นอนไม่หลับ ก็ลองนับแกะสิ’ แกะตัวที่1 แกะตัวที่ 2...แกะตัวที่99 แกะตัวที่ 100...ตำนานนับแกะที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ช่วยให้นอนหลับได้จริงๆ ไหม?

  • แล้วสงสัยไหมว่า ทำไมต้องเป็น ‘แกะ’ ล่ะ เรานับสัตว์ตัวอื่นอย่างหมา แมว กระต่ายไม่ได้หรอ?

counting-sheep-who-came-up-with-this-old-sleep-tip-does-it-work-SPACEBAR-Hero.jpg

“แกะตัวที่ 1 แกะตัวที่ 2 แกะตัวที่ 3...แกะตัวที่ 55...แกะตัวที่ 75...แกะตัวที่ 99 แกะตัวที่ 100 แกะตัวที่ 101...” นับแล้วหลับจริงไหม?

หลายคนคงเคยได้ยินคำบอกเล่านี้มาตั้งแต่เด็กว่า “ถ้านอนไม่หลับ ก็ลองนึกภาพแกะขนปุยสีขาวผูกโบว์สีแดง แล้วนอนนับแกะดูสิ” แต่สงสัยไหมว่า “ทำไมต้องนับ ‘แกะ’ เป็นสัตว์ตัวอื่นอย่างพวกกระต่าย หมา แมว นก ไม่ได้หรอ” แล้วใครเป็นคนนำแนวคิดนับแกะมาใช้กัน...

เชื่อกันว่าเป็นการนับเพื่อ ‘ติดตาม’ ฝูงแกะในยุคกลางตอนกลางคืน

ตามคำบอกเล่าเชื่อกันว่าเป็นวิธีหนึ่งที่คนเลี้ยงแกะในยุคกลาง หากพวกเขาไม่มีเพื่อนนอนเฝ้าฝูงแกะตอนกลางคืนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พวกเขาก็จะนับแกะของตัวเองจนกว่าจะง่วงนอน แต่บางคนก็บอกว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1800 เมื่อคนเลี้ยงแกะคนหนึ่งมีปัญหานอนไม่หลับในตอนกลางคืนเพราะเขาเป็นห่วงฝูงแกะมาก 

ขณะที่ข้อมูลของสำนักพิมพ์ Mental Floss อธิบายว่า การนับแกะเป็นวิธีการนับของคนเลี้ยงแกะในยุคกลางของอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบการนับพิเศษเพื่อติดตามฝูงแกะของตัวเองก่อนเข้านอนในเวลากลางคืน 

ว่ากันว่าแนวคิดการนับแกะเพื่อให้หลับนั้นมีการกล่าวถึงในหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ชื่อ ‘Cento Novelle Antiche’ ในศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระราชาองค์หนึ่งที่ขอให้นักเล่าเรื่องเล่าเรื่องให้ฟัง แต่นักเล่าเรื่องง่วงนอนมาก จึงตัดสินใจเล่าเรื่อง “ชาวนาคนหนึ่งไปตลาดและซื้อแกะมา 2,000 ตัว ทว่าเขาต้องพาแกะ 2,000 ตัวข้ามแม่น้ำที่ถูกน้ำท่วม แต่บนฝั่งมีเพียงเรือลำเล็กลำหนึ่งที่บรรทุกแกะได้ครั้งละ 2 ตัว ซึ่งตามหลักคณิตศาสตร์แล้ว ชาวนาจะต้องขนแกะข้ามฝั่งไปมาแบบนี้ซ้ำๆ กันเป็นพันครั้ง...” 

“เมื่อนักเล่าเรื่องเล่ามาถึงตรงนี้ เขาก็ผล็อยหลับไป ทำให้พระราชาตกใจมาก จนปลุกเขาให้ตื่นมาเล่าเรื่องต่อ จากนั้นเขาก็เล่าตอนที่แกะนั่งเรือข้ามแม่น้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้พระราชาเบื่อ และหลับไปในที่สุด” 

นิทานเรื่องเดียวกันนี้ยังเคยถูกเล่าขานในผลงานเรื่อง ‘Disciplina Clericalis’ ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 12 และยังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง ‘Don Quixote’ ในศตวรรษที่ 17 อีกด้วย โดยมีเพียงแค่ในเวอร์ชันนี้เท่านั้นที่นายทหารของดอนกิโฆเต้ชื่อ ซานโช ปันซา เล่าว่าคนเลี้ยงแกะพา ‘แพะ’ ข้ามแม่น้ำ ไม่ใช่ ‘แกะ’ 

“ท่านควรจดไว้ว่าคนเลี้ยงแกะพาแพะข้ามแม่น้ำไปกี่ตัว เพราะถ้าเราลืมสักตัวเดียว เรื่องราวก็จะจบลง และจะเล่าต่อไม่ได้อีก”

แล้ว ‘การนับแกะ’ ได้ผลจริงๆ ไหม?

counting-sheep-who-came-up-with-this-old-sleep-tip-does-it-work-SPACEBAR-Photo01.jpg

การนับแกะอาจได้ผลสำหรับนักเล่าเรื่องในตำนาน แต่ในปัจจุบันมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า ‘การนับแกะอาจไม่ได้ทำให้หลับได้แต่อย่างใด’ 

“การให้สมองได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายและซ้ำซากจำเจ จะทำให้จิตใจสงบและหยุดความคิดที่ตึงเครียดที่เข้ามาครอบงำเรา...น่าเสียดายที่การนับแกะไม่ใช่หนึ่งในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ทดลองและพบว่าผู้ที่จินตนาการถึงน้ำตกและแม่น้ำไหลนั้น ทำให้นอนหลับได้เร็วขึ้นมาก” ฮิลารี ทอมป์สัน ที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายจาก SleepTrain บอกกับนิตยสาร Reader’s Digest 

การนับเลขอาจดูเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองมากเกินไป ในทางตรงกันข้าม หากจินตนาการถึงภาพที่ไม่ต้องมีกิจกรรมใดๆ (เช่น แหล่งน้ำ สายน้ำดังที่เคยกล่าวไป) ถือเป็นวิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับที่มีประสิทธิภาพมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตัวช่วยด้านเสียงผ่อนคลายซ้ำๆ อย่าง ASMR ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ‘ได้ผล’ 

การศึกษาวิจัยในปี 2002 เกี่ยวกับการต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับ (ซึ่งได้พิสูจน์แนวคิดนับแกะในเวลาต่อมาว่าได้ผลหรือไม่) “ในความเป็นจริงแล้ว นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของการวิจัย...การศึกษาของเราเมื่อกว่า 20 ปีก่อนไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการนับแกะ แต่เป็นการใช้ภาพจินตนาการเพื่อต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับ” อลิสัน ฮาร์วีย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้อำนวยการ ‘Golden Bear Sleep and Mood Research Clinic’ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว 

งานวิจัยดังกล่าวแบ่งคน 50 คนออกเป็น 3 กลุ่ม : 

  • กลุ่มที่ 1: ไม่มีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการนอนหลับ 
  • กลุ่มที่ 2: ได้รับคำแนะนำให้เบี่ยงเบนความสนใจจากความคิด และความกังวลใจด้วยวิธีใดก็ได้ที่พวกเขาต้องการ 
  • กลุ่มที่ 3: ได้รับคำแนะนำให้จินตนาการสิ่งที่น่าสนใจและดึงดูด เช่น การนึกถึงทุ่งหญ้า น้ำตก วันหยุด หรือช่วงบ่ายฤดูร้อนที่มีแดดจ้า 

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จินตนาการถึงฉากที่เงียบสงบจะหลับได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นทั้ง 2 กลุ่มมาก และหลับเร็วกว่าปกติเกือบ 20 นาที ส่วนผู้เข้าร่วมการวิจัยในกลุ่มที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีนับแกะก่อนนอน กลับพบว่า พวกเขาใช้เวลาในการหลับนานกว่าปกติ 

การนับแกะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเกินไป... 

ถึงแม้ว่าฮาร์วีย์จะไม่ได้ศึกษาเรื่องการนับแกะว่าสามารถแก้อาการนอนไม่หลับได้หรือไม่ (และไม่ทราบว่ามีการศึกษาวิจัยอื่นใดที่ศึกษาเรื่องนี้) แต่ฮาร์วีย์ก็มีมุมมองจากประสบการณ์ที่เธอทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับมาหลายปี 

“การนับแกะเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อหน่าย และมักจะไม่ช่วยอะไร แต่เรากลับหารือกับผู้คนเกี่ยวกับตัวเลือกต่างๆ เนื่องจากทุกคนมีความคิดแตกต่างกัน และไม่มีตัวเลือกใดที่จะช่วยให้นอนหลับได้ทุกครั้ง” ฮาร์วีย์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์