อีลอน มัสก์ เตรียมขึ้นแท่นเป็น ‘มหาเศรษฐีล้านล้าน’ คนแรกของโลกภายในปี 2027

12 ก.ย. 2567 - 06:04

  • ความมั่งคั่งของ อีลอน มัสก์ เติบโตขึ้นในอัตราเฉลี่ยต่อปี 110% ทำให้เขากำลังจะกลายเป็น ‘มหาเศรษฐีล้านล้าน’ คนแรกของโลกภายในปี 2027

  • ส่วน โกตัม อดานิ มหาเศรษฐีชาวอินเดีย จะกลายเป็นมหาเศรษฐีล้านล้านคนที่ 2 ภายในปี 2028

  • ตามมาด้วย เจนเซ่น หวง เจ้าของ Nvidia และ ปราโจโก ปังเกสตู เจ้าพ่อพลังงานและเหมืองแร่ของอินโดนีเซีย อาจกลายเป็นมหาเศรษฐีล้านล้านในปี 2028 ด้วยเช่นเดียวกันหากพวกเขายังคงรักษาความมั่งคั่งนี้เอาไว้ได้

elon-musk-on-pace-become- world-first-trillionaire-by-2027-SPACEBAR-Hero.jpg

‘อีลอน มัสก์’ กำลังจะเป็น ‘มหาเศรษฐีระดับล้านล้านคนแรกของโลก’ ภายในปี 2027 

ตามรายงานของ ‘Informa Connect Academy’ เผยข้อมูลความมั่งคั่งของซีอีโอ Tesla, SpaceX และแพลตฟอร์ม X ว่า ความมั่งคั่งของมัสก์เติบโตขึ้นในอัตราเฉลี่ยต่อปี 110% นอกจากนี้ ดัชนีความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีทั่วโลก (Bloomberg Billionaires Index) ยังระบุด้วยว่า มัสก์เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยมูลค่า 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.47 ล้านล้านบาท) 
 
ขณะที่ โกตัม อดานิ มหาเศรษฐีชาวอินเดีย จะกลายเป็นคนที่ 2 ที่สามารถสร้างฐานะเป็นมหาเศรษฐีล้านล้าน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2028 หากอัตราความมั่งคั่งประจำปีของเขายังคงเติบโตอยู่ที่ 123% 

ส่วน เจนเซ่น หวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเทคโนโลยี Nvidia และ ปราโจโก ปังเกสตู เจ้าพ่อพลังงานและเหมืองแร่ของอินโดนีเซีย อาจกลายเป็นมหาเศรษฐีล้านล้านในปี 2028 ด้วยเช่นเดียวกันหากพวกเขายังคงรักษาความมั่งคั่งนี้เอาไว้ได้ 

สำหรับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของแบรนด์หรู Louis Vuitton ซึ่งพ่วงด้วยตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดอันดับ 3 ของโลก มูลค่าทรัพย์สินราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.75 ล้านล้านบาท) และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ Meta จะมีทรัพย์สินเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030

10-มหาเศรษฐีล้านล้านของโลกภายในปี-2035.jpg
Photo: ภาพอินโฟกราฟฟิกโดย กนกวรรณ หิรัญกวินกุล

ทั้งนี้ สำนักข่าว CNBC ระบุว่า คำถามที่ว่าใครอาจเป็นมหาเศรษฐีล้านล้านคนแรกของโลกนั้นได้สร้างความประหลาดใจให้กับสาธารณชนมาตั้งแต่ที่โลกได้ประกาศรายชื่อมหาเศรษฐีคนแรกในปี 1916 ซึ่งนั่นก็คือ จอห์น ดี.ร็อกกี้เฟลเลอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกันเจ้าของกิจการน้ำมัน Standard Oil ในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิชาการหลายคนกลับมองว่าการสะสมความมั่งคั่งมหาศาลนั้นเป็นปัญหาสังคม โดยรายงานฉบับหนึ่งได้คำนวณว่าประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าประชากรที่ยากจนที่สุด 66% ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพอากาศที่ยังคงดำเนินอยู่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์