ทำไมคนฝรั่งเศสลุกฮือประท้วงแผนการเพิ่มอายุเกษียณของมาครง (อีกครั้ง)

1 ก.พ. 2566 - 10:14

  • เอ็มมานูเอล มาครง เสนอเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี

  • ชาวฝรั่งเศสนับล้านรวมตัวประท้วง

explainer-why-french-protesting-macron-pension-overhaul-SPACEBAR-Thumbnail
ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสยังคงเดินหน้าผลักดันแผนปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญด้วยการเพิ่มอายุเกษียณตามกฎหมายจากเดิม 62 ปี เป็น 64 ปี แม้ว่าจะเจอทั้งการผละงานและการลงถนนประท้วง โดยผลการสำรวจความคิดเห็นชาวฝรั่งเศสพบว่า 68% ไม่เห็นด้วยกับแผนของมาครง และส่วนใหญ่สนุบสนุนการประท้วง 

เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสมากกว่า 1.1 ล้านคน มารวมตัวประท้วงการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 10 ปี คือใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงแผนเพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 62 ปี ของอดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวา นิโกลา ซาร์โกซี เมื่อปี 2010  

และนี่ยังเป็นการประท้วงแผนเปลี่ยนระบบบำนาญครั้งที่ 2 ในสมัยของมาครง 

การประท้วงที่ยังดำเนินอยู่นี้ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่สำหรับประธานาธิบดีมาครงหลังชนะการเลือกตั้งกลับมาเมื่อปีที่แล้ว  

มาครงและรัฐบาลย้ำถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนระบบบำนาญของฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้ เพื่อให้มีระบบการเงินที่มั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับอนาคต ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะขาดดุลในอีกสองสามปีข้างหน้า ในขณะที่อายุขัยของประชากรสูงขึ้น และอัตราส่วนของคนงานต่อผู้เกษียณอายุลดลง 

ขณะที่ฝ่ายค้าน รวมทั้งสหภาพแรงงานโต้ว่ามาครงกำลังทำลายสิทธิในการเกษียณอายุและสร้างภาระโดยไม่เป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพียงเพราะมาครงไม่ยอมขึ้นภาษีคนรวย 

การประท้วงและการผละงานเป็นครั้งคราว โดยคนในงานโรงเรียน ขนส่งสาธารณะ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้าแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจที่ขยายเป็นวงกว้าง แต่โดยรวมแล้วยังไม่เกิดความชะงักงันมากนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็เกิดแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากร่างกฎหมายบำนาญกำลังจะถูกส่งต่อไปอภิปรายในสภาฯ ล่าง ซึ่งฝ่ายกลางของมาครงสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดไปแล้ว ขณะที่ฝ่ายค้านเอียงซ้ายยื่นญัตติแก้ไขร่างกฎหมายบำนาญกว่า 7,000 ข้อ เพื่อพยายามจะชะลอเส้นทางสู่รัฐสภาของร่างกฎหมาย 

การยกเครื่องระบบบำนาญเป็นเรื่องที่นักการเมืองฝรั่งเศสไม่อยากแตะต้อง เพราะมันนำมาสู่การประท้วงครั้งใหญ่ทั้งในปี 1995 และ 2010 ก่อนที่มาครงจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี และนี่คือ ปี 2019 ความพยายามยกเครื่องระบบบำนาญที่ค่อนข้างใจป้ำของฝรั่งเศสของมาครงระหว่างนั่งเก้าอี้สมัยแรกนำมาสู่การลงถนนประท้วงและการผละงานครั้งใหญ่ รวมทั้งการผละงานของภาคขนส่งมวลชนที่กินเวลายาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของฝรั่งเศส แต่รัฐบาลพับแผนไปก่อนหลังโควิด-19 ระบาด 

ความแตกต่างของแผนการยกเครื่องเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้วกับครั้งล่าสุดนี้ของมาครงคือ ครั้งแรกไม่มีการแตะต้องอายุเกียณตามกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ซับซ้อนสวนสับสนของระบบบำนาญ ด้วยการควบรวมโปรแกรมบำนาญที่แตกต่างกัน 42 โปรแกรมเข้าไว้ด้วยกัน แต่แผนนี้กลับทำให้หลายคนงงและกังวลว่าเงินบำนาญของตัวเองจะลดลง ส่วนแผนล่าสุดพุ่งเป้าไปที่การรักษาสมดุลทางการเงินของระบบด้วยการทำให้ชาวฝรั่งเศสต้องทำงานนานขึ้น 

ระบบบำนาญของฝรั่งเศสใช้โครงสร้างแบบ pay-as-you-go (ระบบที่ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชนหรือผู้สูงอายุ แหล่งเงินของบำนาญมาจากรายได้ภาษีทั่วไป ดังนั้นผู้รับภาระบำนาญจึงเป็นประชาชนที่เสียภาษีในปัจจุบัน ผู้ได้รับประโยชน์คือ ผู้เกษียณอายุในปัจจุบัน เงินที่ใช้เพื่อจ่ายเป็นบำนาญไม่มีการเก็บสะสมเงิน ไว้เป็นกองทุน) คือ พนักงานและนายจ้างจะถูกประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีแล้วนำมาจ่ายเป็นบำนาญให้คนวัยเกษียณ 

ฝรั่งเศสกำหนดอายุเกษียณไว้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป อาทิ อังกฤษเกษียณที่ 66 ปี เยอรมนี 67 ปี ส่วนขงฝรั่งเศสมีอายุเกษียณ 2 อายุคือ 62 ปี ซึ่งจะจ่ายบำนาญเต็มจำนวนหากจ่ายเงินสมทบครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และ 67 ปี ซึ่งจุดนี้จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวนไม่ว่าจะจ่ายเงินสมทบครบหรือไม่ครบตามที่กำหนดไว้ ส่วนการยกเครื่องที่มาครงเสนอจะส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นจาก 41 ปี เป็น 43 ปี  
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า อัตราการทดแทนเงินบำนาญสุทธิ ซึ่งเป็นตัววัดประสิทธิภาพรายได้ต่อเดือนหลังเกษียณเทียบกับเงินเดือนช่วงวัยทำงานก่อนเกษียณอยู่ที่ 74% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิด OECD และสหภาพยุโรป 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลฝรั่งเศสแย้งว่า อายุขัยที่เพิ่มขึ้นทำให้ระบบบำนาญตกอยู่ในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ปี 2000 มีแรงงานจ่ายเงินสมทบเข้าระบบบำนาญ 2.1 คนต่อทุกๆ ผู้เกษียณ 1 คน ส่วนปี 2020 อัตราส่วนนี้ลดลงมาเหลือ 1.7 และในปี 2070 คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 1.2 เท่านั้นตามการคาดการณ์ของทางการฝรั่งเศส 

อองตวน โบซิโอ นักเศรษฐศาสตร์จาก Paris School of Economics เผยว่า ในระยะสั้นไม่มีการขาดดุลที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ “เมื่อคุณเคยพูดว่าระบบไม่ได้อยู่ในอันตรายหรือใกล้จะถึงหายนะ มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีปัญหา” ในระยะยาว 

และเพื่อให้สถานะทางการเงินของระบบยังเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่ม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงค่อยๆ เพิ่มอายุเกษียณตามกฎหมายขึ้น 3 เดือนในทุกๆ ปีจนกระทั่งขึ้นไปถึง 64 ปี ในปี 2030 นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องการเร่งการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้ที่เพิ่มจำนวนปีที่แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบเข้าระบบบำนาญเพื่อให้ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน 

แล้วทำไมแผนนี้ถึงไม่ถูกใจคนฝรั่งเศส? 

ฝ่ายค้านบอกว่า มาครงกำลังพูดเกินจริงถึงภัยคุกคามของการขาดดุลที่คาดการณ์ไว้ และปฏิเสธที่จะพิจารณาวิธีอื่นในการสร้างสมดุลให้กับระบบบำนาญ อย่างการเก็บภาษีจากคนทำงานเพิ่ม แยกเงินบำนาญออกจากอัตราเงินเฟ้อ หรือเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย 

ฝ่ายค้านให้เหตุผลว่า การยืดระยะเวลาทำงานจะกระทบกับกลุ่มคนใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากกลุ่มคนใช้แรงงานเริ่มต้นอาชีพเร็วกว่าและมีอายุขัยสั้นกว่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับกลุ่มพนักงานในออฟฟิศ 

นอกจากนี้ การที่ชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับแผนของมาครงยังเกี่ยวข้องกับความไม่พอใจในตัวมาครงที่มีอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมาครงไม่สามารถสลัดภาพ “ประธานาธิบดีของคนรวย” ที่ไม่มีความเห็นใจคนจน  

จะเกิดอะไรขึ้นต่อ? 

รัฐบาลพยายามงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อทำให้บรรเทาความไม่พอใจของประชาชน เช่น เพิ่มการจ่ายเงินบำนาญรายเดือนเป็น 1,200 ยูโร หรือ 42,884 บาท อนุญาตให้คนที่เริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยให้เกษียณเร็วขึ้น และมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุยังได้รับการจ้างงานต่อ 

ทว่า รัฐบาลก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมอ่อนข้อต่อการเพิ่มอายุเกษียณ 

ความสนใจยังถูกมุ่งไปที่รัฐสภา ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด น่าจะคัดค้านร่างกฎหมายบำนาญอย่างดุเดือด 

แต่พรรค Renaissance ของมาครง และพรรคพันธมิตรมีเสียงข้างมากที่เปราะบางในสภาผู้แทนราษฎร และน่าจะหืดขึ้นคอในการผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภา ทั้งยังต้องพึ่งพาพรรค Republicans ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมหลักซึ่งผู้นำพรรคเผยว่าอาจจะสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ 

ส่วนตัวมาครงเองก็คาดหวังว่าจะฝ่ากระแสต้านของผู้ประท้วงและผลักดันให้ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ เหมือนกับที่ นิโกลา ซาร์โกซี ทำขณะเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2010  

อย่างไรก็ดี สมาชิกพรรครีพับลิกันที่โหวตสวนกระแสพรรค และแม้แต่คนในพรรคของมาครงเอง ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าอาจต้องรอผลโหวตจนกระทั่งนาทีสุดท้ายหากการประท้วงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยผลักดันให้สมาชิกสภากลับลำ 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสามารถใช่เครื่องมือทางรัฐธรรมนูญเพื่อดันร่างกฎหมายให้ผ่านโดยไม่ต้องมีการโหวต ซึ่งนั่นจะทำให้คณะรัฐบาลเสี่ยงต่อการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และนั่นคือสิ่งที่นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น ของฝรั่งเศส ใช้อย่างประสบความสำเร็จมาหลายครั้งเพื่อผลักดันให้ร่างกฎหมายการคลังผ่าน 

ทว่าการใช้เครื่องมือนี้กับร่างกฎหมายที่ยังเป็นที่ถกเถียงอาจเป็นการเติมเชื้อไฟให้การประท้วงในขณะนี้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์