ซากฟอสซิลโบราณเผยความจริงสุดทึ่ง มนุษย์อาจกินเนื้อกันเอง!

27 มิ.ย. 2566 - 09:24

  • “การค้นพบครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าการกินเนื้อคนอาจมีการปฏิบัติกัน อย่างน้อยก็ในบางครั้งเมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์บรรพบุรุษของเรา”

  • ฟอสซิลนี้ชี้ให้เห็นว่าสปีชีส์ของเรากำลังกินกันเองเพื่อเอาชีวิตรอด

fossil-reveals-human-ancestors-butchered-SPACEBAR-Hero

มนุษย์โบราณกินกันเองจริงหรอ?

จากการศึกษาครั้งใหม่พบว่า รอยตัด 9 รอยบนกระดูกหน้าแข้งที่กลายเป็นฟอสซิลบ่งชี้ว่าตระกูลมนุษย์โบราณอาจถูกฆ่าและกินกันเองเมื่อ 1.45 ล้านปีก่อน  

กระดูกหน้าแข้งที่เป็นฟอสซิลถูกพบในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไนโรบีแห่งเคนยาโดย บรีอาน่า โพบิเนอร์ นักบรรพชีวินมนุษย์วิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้ที่กำลังศึกษากระดูกมนุษย์โบราณอยู่ ซึ่งการหาร่องรอยกัดของสัตว์โบราณก็เพื่อทำความเข้าใจว่ามีสัตว์ชนิดไหนบ้างที่ล่ามนุษย์โบราณ (โฮมินินส์) แต่แล้วโพบิเนอร์ก็เจอร่องรอยตัดที่ดูเหมือนเกิดจากเครื่องมือหิน 

“รอยตัดเหล่านี้ดูคล้ายกับที่ฉันเห็นบนฟอสซิลสัตว์ที่กำลังถูกแปรรูปเพื่อการบริโภค และดูเหมือนว่าเนื้อจากขานี้จะถูกกินมากที่สุด และมันถูกกินเพื่อโภชนาการไม่ใช่เพื่อพิธีกรรม” 

สิ่งที่รอยตัดเผยให้เห็น…

ไมเคิล แพนเต ผู้ร่วมวิจัยซึ่งเป็นนักบรรพชีวินมนุษย์วิทยาแห่ง Colorado State University ได้สร้างแบบจำลอง 3 มิติขึ้นจากแม่พิมพ์ของร่องรอยตัดดังกล่าวบนกระดูก โดยเปรียบเทียบรูปร่างของบาดแผลกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรอยฟัน 898 ซี่ การฆาตกรรมและรอยเหยียบย่ำที่สร้างขึ้นระหว่างการทดลองที่มีการควบคุมตัวแปรต่างๆ 

ทั้งนี้ โพบิเนอร์ไม่ได้บอกแพนเตว่าเธอคิดว่ารอยตัดนั้นเกิดจากเครื่องมือหิน แต่การวิเคราะห์ของเขาก็ได้ข้อสรุปเดียวกันว่ารอยตัดทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เป็นไปได้ว่ามือที่ถือเครื่องมือหินอาจสร้างรอยซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ต้องเปลี่ยนที่จับ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4iQKJUNOwlrfMpBtMoEn2K/61d2158411bc3bc5a1c786254361c7dc/fossil-reveals-human-ancestors-butchered-SPACEBAR-Photo01
Photo: Briana Pobiner
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากระดูกหน้าแข้งเป็นของมนุษย์ ‘กลุ่มโฮมินินส์’ (Hominins) โบราณชนิดใด เนื่องจากกระดูกขาไม่ได้ให้ข้อมูลทางอนุกรมวิธาน (วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการแบ่งประเทศ) มากเท่ากับกระดูกกะโหลกหรือกระดูกกราม  

นอกจากนี้ กระดูกหน้าแข้งที่เป็นฟอสซิลนั้นยังถูกระบุในขั้นต้นว่าเป็นสปีชีส์มนุษย์กลุ่ม ‘Australopithecus boisei’ (กลุ่มออสตราโลพิเทซีนจากยุคไพลสโตซีนตอนต้นของแอฟริกาตะวันออก) และต่อมาในปี 1990 ก็ถูกระบุว่าเป็น ‘โฮโมอิเล็คตัส’ (Homo erectus) 

อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของเครื่องมือหินที่ซับซ้อนนั้นเชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของสปีชีส์โฮโม ซึ่งรวมถึงสปีชีส์ของมนุษย์เราเอง ‘โฮโมเซเปียนส์’ (Homo sapiens) แต่การวิจัยล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าตระกูลสปีชีส์โฮมินินโบราณอื่นๆ อาจใช้เครื่องมือหินมาก่อนหน้านี้แล้ว 

มีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะกินกันเอง! 

จริงๆ แล้ว บาดแผลไม่ได้พิสูจน์แน่ชัดว่าตระกูลของมนุษย์โบราณนั้นทำอาหารจากขาคนด้วยกัน แต่โพบิเนอร์กล่าวว่า ‘เป็นไปได้’ เนื่องจากร่องรอยตัดนี้อยู่ในตำแหน่งที่กล้ามเนื้อน่องจะติดกับกระดูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีในการตัดหากมีเป้าหมายเพื่อแล่เนื้อออก 

“ข้อมูลที่เรามีบอกเราว่า สปีชีส์โฮมินินส์มีแนวโน้มที่จะกินโฮมินินส์ตระกูลอื่นอย่างน้อยเมื่อ 1.45 ล้านปีก่อน…มีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมายที่บ่งบอกถึงวิวัฒนาการมนุษย์ที่กินกันเองเพื่อโภชนาการ แต่ฟอสซิลนี้ชี้ให้เห็นว่าตระกูลสปีชีส์ของเรากำลังกินกันเองเพื่อเอาชีวิตรอด” โพบิเนอร์ กล่าว 

ขณะที่ ซิลเวีย เบลโล นักวิจัยด้านต้นกำเนิดของมนุษย์แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน กล่าวว่า “การกินเนื้อคนในอดีตอาจเป็นเรื่องธรรมดามากกว่าที่คิด โดยสังเกตได้จากหลักฐานของพฤติกรรมนี้ที่พบในแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์สปีชีส์นีแอนเดอร์ทัลหรือมนุษย์ยุคหิน (Neanderthals) และมนุษย์สมัยใหม่ตอนต้นด้วย” 

“ตัวอย่างเช่น มนุษย์ยุคหินที่อาศัยอยู่เมื่อ 100,000 ปีที่แล้วในพื้นที่แถบ (ฝรั่งเศสปัจจุบัน) นิยมกินเนื้อคน หรือพวกเดียวกัน (cannibalism) อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้หาอาหารได้ยากขึ้น”  

ทั้งนี้ การศึกษาล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Scientific Reports ระบุว่า “การค้นพบครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าการกินเนื้อคนอาจมีการปฏิบัติกัน อย่างน้อยก็ในบางครั้งเมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์บรรพบุรุษของเรา” เบลโล กล่าวเสริม 

ด้าน คริส สตริงเกอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน กล่าวว่า “กระดูกหน้าแข้งอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เรารู้จักของตระกูลสปีชีส์มนุษย์ที่เข่นฆ่ากันเอง…มีรายงานรอยตัดบนกระดูกแก้มของฟอสซิลโฮมินินที่พบในถ้ำหินปูน ‘Sterkfontein’ แอฟริกาใต้เมื่อปี 2000 ซึ่งอาจมีอายุประมาณ 2 ล้านปี” 

“หลักฐานใหม่นี้ดูค่อนข้างน่าเชื่อและเพิ่มหลักฐานเกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์ในช่วงแรกๆ เช่นเดียวกับหลักฐานจำนวนมากจากมนุษย์ในภายหลัง” สตริงเกอร์กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์