ย้อนรอย กลุ่มก่อการร้าย ‘ญะมาอะห์ อิสลามียะห์’ จากเบื้องหลังระเบิดบาหลีสู่ ‘องค์กรการกุศล’ (จอมปลอม)

5 ก.ค. 2567 - 09:30

  • องค์กรก่อการร้าย ‘ญะมาอะห์ อิสลามียะห์’ (JI) ทิ้งระเบิดบาหลี 3 ลูกเมื่อ 22 ปีที่แล้ว และผู้นำหลายคนถูกกวาดล้าง

  • 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่ม 16 คนแถลงการณ์ผ่านวิดีโอประกาศยุบองค์กร

  • ย้อนดูเส้นทาง ‘JI’ จากองค์กรก่อการร้าย สู่ ‘องค์กรการกุศล (จอมปลอม)’!!! เปลี่ยนไปยังไงบ้าง?

from-the-bali bombings-to-charities-public-institutions-how-jemaah-islamiyah- evolved-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากผู้นำกลุ่มก่อการร้าย ‘ญะมาอะห์ อิสลามียะห์’ (Jemaah Islamiyah / JI) ที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดบาหลีเมื่อ 22 ปีที่แล้วประกาศยุบกลุ่มผ่านวิดีโอเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งเผยให้เห็นผู้นำกลุ่ม JI 16 คนนั่งแถลงการณ์อยู่ ท่ามกลางการดาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าของเหล่าผู้เชี่ยวชาญว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาหรือไม่ 

แต่ 20 ปีต่อมาทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเหตุระเบิดบาหลีในครั้งนั้น SPACEBAR พาย้อนดูการเปลี่ยนผ่านจาก ‘กลุ่มก่อการร้าย’ สู่ ‘องค์กรการกุศล’ (จอมปลอม)? 

ย้อนกลับไปในเหตุระเบิดบาหลี 3 ลูกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2002 ซึ่งกลุ่ม JI ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายในครั้งนั้น หลังจากกนั้นพวกเขาก็เข้ายึดครองพื้นที่บนเกาะบาหลีที่ส่วนใหญ่มีแต่ชาวมุสลิม 

เหตุนองเลือดในวันนั้นทำให้ตำรวจสืบสวนไปจนเจอตัวการสำคัญ ได้แก่ 

  • อัมโรซี บิน นูรฮาซิม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ JI
  • อิหม่าม ซามูดรา ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้
  • อาลี อิมรอน น้องชายของอัมโรซี ผู้ปฏิบัติการภาคสนามหลัก
  • มุคลัส เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ JI
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิด ได้แก่ ดุลมาติน, อุมาร์ ปาเต็ก, อาซาฮารี ฮูซิน และนูร์ดิน มูฮัมหมัด ท็อป  

และชายเหล่านี้ถูกฝึกมาจากค่ายกึ่งทหารที่ดำเนินการโดยกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ (Al Qaeda) ในอัฟกานิสถานน

from-the-bali bombings-to-charities-public-institutions-how-jemaah-islamiyah- evolved-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP

หลังจากสืบจนรู้ตัวการ ทางการก็เริ่มปิดล้อมเครือข่าย JI มากขึ้น ทำให้มีการโจมตีเกิดขึ้นอีก เช่น เหตุระเบิดที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท (JW Marriott) ในปี 2003, เหตุระเบิดสถานทูตออสเตรเลียในปี 2004 และเหตุระเบิดบาหลีครั้งที่สองในปี 2005 

อัมโรซี, อิหม่าม ซามูดรา, และมุคลัส ถูกประหารชีวิตในปี 2008 ส่วน อาลี อิมรอน ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จึงถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ อาซาฮารีถูกประหารในปี 2005, นูร์ดินถูกประหารในปี 2009, และดุลมาตินถูกประหารในปี 2010 แต่ปาเต็กถูกจับกุมในปากีสถานและถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอินโดนีเซีย จนถูกตัดสินจำคุก 20 ปีในปี 2012 เนื่องจากเขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

อย่างไรก็ดี หลังจากกลุ่มผู้นำคนสำคัญหลายคนของกลุ่มถูกประหารและติดคุก เครือข่ายส่วนที่เหลือจึงเริ่มอ่อนแอลงและตกอยู่ในความโกลาหล  

20 ปีต่อมาหลังทิ้งบอมบ์บาหลี...

หน่วยปฏิบัติการพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย 88 (Densus 88) ของตำรวจได้กลายเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกฝนและมีอุปกรณ์ครบครันที่สุดหน่วยหนึ่งในอินโดนีเซีย อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้ายในปัจจุบันยังทำให้ตำรวจสามารถดำเนินการและจับกุมได้เร็วขึ้น 

ภัยคุกคามของ JI ก็มีรูปแบบที่แตกต่างออกไป

“ผมกลายเป็นอาเมียร์ (ผู้บัญชาการ) ในช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วน เราต้องสร้างใหม่”

ปารา วิจายันโต หัวหน้ากลุ่ม JI (2008-2019) กล่าว

ปารา วิจายันโต หัวหน้ากลุ่ม JI ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงมิถุนายน 2019 (ซึ่งเป็นช่วงที่เขาถูกจับกุม) และวิจายันโตบอกกับตำรวจว่า เขาตัดสินใจที่จะปฏิรูปองค์กร “เครือข่ายอยู่ในสภาพยุ่งเหยิงหลังจากสมาชิกระดับสูงหลายร้อยคนถูกจับกุมและถูกสังหาร” วิจายันโตกล่าว 

แนวทางใหม่ที่ว่านี้ วิจายันโตอธิบายว่าสมาชิกเครือข่ายจะพยายามดึงดูดความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชนผ่านโครงการการกุศลและโปรเจกต์พัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร แนวทางดังกล่าวยังระบุรายละเอียดด้วยว่าควรฝึกอบรมแกนนำ JI อย่างไรเพื่อดำรงตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ในระบบราชการของอินโดนีเซีย เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบจากภายในได้ 

พลิกโฉมจาก ‘ผู้ร้ายถือปืนในเงามืด’ สู่ ‘องค์กรการกุศล (จอมปลอม)’!!! 

“ลองนึกดูว่ามีสมาชิก 6,000 คนบริจาคเงิน 100,000 รูเปียห์ต่อเดือน (ราว 225 บาท) นั่นเท่ากับ 600 ล้านรูเปียห์ต่อเดือนแล้ว ยังไม่รวมถึงผู้ที่บริจาคเงินประมาณ 1 หรือ 2 ล้านรูเปียห์ต่อเดือน” โจโก ปริโยโน นักโทษคดีก่อการร้ายที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวและเคยเป็นมือขวาของวิจายันโตกล่าว 

องค์กรการกุศลที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้นำ JI ก็คือ บ้านอับดุลเราะห์มาน บิน อัฟ (ABA) แห่งซะกาตและองค์กรการกุศล 

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้พบและยึดกล่องบริจาคของ ABA อย่างน้อย 20,000 กล่องใน 7 จังหวัด โดยข้อความบนกล่องระบุว่าเงินบริจาคจะถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า ใช้เป็นทุนการศึกษา และการรักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้ด้อยโอกาส 

สิ่งที่สาธารณชนไม่รู้ก็คือ เงินดังกล่าวจะส่งมอบให้กับภรรยาและลูกของสมาชิกกลุ่ม JI ที่ถูกคุมขังหรือถูกสังหารโดยเฉพาะ    

ในช่วงปลายปี 2020 ABA ถูกตรวจค้นและเจ้าหน้าที่องค์กรกว่าสิบคนถูกจับกุม เช่น  

  • ฟาริด โอกบาห์ นักเทศน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก 
  • อะหมัด ซายน์ อัน-นาญะ สมาชิกสภาอุเลมาแห่งอินโดนีเซีย (MUI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสลามที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศ 
  • อานุง อัล-ฮามัต อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นประธานมูลนิธิความช่วยเหลือทางกฎหมาย 

นอกจากนี้ ตำรวจยังได้สืบสาวราวเรื่องไปถึงองค์กรการกุศลอีก 2 แห่งซึ่งคาดว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม JI และยึดทรัพย์สินที่เป็นของเครือข่ายดังกล่าวอีกด้วย

“พวกเขาแทรกซึมเข้าไปในสถาบันของรัฐและแทบทุกแง่มุมของชีวิตพลเรือนอย่างเงียบๆ ทั้งรับสมัครสมาชิก ระดมทุน และเผยแพร่แนวคิดของพวกเขาอย่างลับๆ”

อาหมัด นูรวาฮิด ผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันการก่อการร้ายของสำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (BNPT) กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญและทางการเริ่มเป็นกังวลว่าองค์กรการกุศลและองค์กรเหล่านี้จะมีหน้าที่เพียงเป็นแนวหน้าในการระดมทุนให้กับเครือข่ายก่อการร้ายเท่านั้น 

ในระหว่างที่องค์กรการกุศลกำลังเติบโตไปได้สวย JI ได้ใช้วิลลา 2 ชั้นเพื่อเป็นศูนย์ฝึกฝนและส่งสมาชิกไปซีเรีย ตลอดจนสะสมวัตถุระเบิดและอาวุธปืน ผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้การต่อสู้ด้วยมือเปล่า การขว้างมีด การใช้ดาบ การใช้อาวุธปืน เรียนรู้วิธีการซุ่มโจมตีขบวนรถและลักพาตัวบุคคลสำคัญจากอาคารที่มีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา 

บาดาวี ราห์มาน หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของเครือข่าย ได้จัดตั้งโรงงานโลหะขึ้น โดยสมาชิก JI จะทำประตูเหล็กในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนพวกเขาจะใช้เหล็กอุตสาหกรรมผลิตกระบอกปืน สลักปืนพก และปืนไรเฟิลจู่โจมอัตโนมัติ 

แต่เนื่องจากองค์กร JI ไม่ได้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการโจมตีด้วยการก่อการร้ายหรือการใช้ความรุนแรง ดังนั้นสมาชิกกลุ่ม JI ส่วนใหญ่จึงได้รับโทษจำคุกค่อนข้างสั้น ยกตัวอย่างเช่น 

  • ราห์มัน ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 10 เดือน 
  • ปริโยโนได้รับโทษจำคุก 4 ปี

ทั้งปริโยโนและราห์มานอ้างว่าพวกเขาได้ออกจาก JI และละทิ้งความเชื่อสุดโต่งแล้ว ส่วนคนอื่นๆ รวมถึงวิจายันโตนั้นยังไม่ได้ละทิ้งมุมมองความเชื่อสุดโต่ง และวิจายันโตจะถูกปล่อยตัวในปี 2026 

ทั้งนี้ วิจายันโตยังคงเป็นผู้นำของ JI แต่ถึงแม้ตอนนี้เขาจะไม่ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะแล้ว นักวิเคราะห์ก็กังวลว่าอาจเกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ปรารถนาให้ JI กลับไปใช้วิธีการรุนแรงเหมือนในอดีต

“ปัจจุบัน JI เป็นอย่างไร และจะเป็นอย่างไรหากมีผู้นำคนใหม่เข้ามา ผู้นำคนใหม่จะยังใช้แนวทางของวิจายันโตต่อไปไหม หรือจะเลือกกลับไปใช้แนวทางเดิม (วิถีรุนแรง) เรายังไม่ทราบ เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้”

อาเดห์ ภักติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายจากศูนย์การศึกษาด้านลัทธิหัวรุนแรงและแนวคิดสุดโต่งในจาการ์ตา กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์