เป็นธรรมแล้วหรือ? เกิดคำถามเมื่อสหรัฐฯ ปล่อยพ่อค้าอาวุธรัสเซียแลกตัวนักบาสหญิง

9 ธ.ค. 2565 - 08:32

  • สหรัฐฯ ยอมปล่อยตัว วิกเตอร์ บูท นักค้าอาวุธที่เคยถูกจับที่ไทยเพื่อแลกกับ บริตต์นี ไกรเนอร์ นักบาสหญิงที่ถูกรัสเซียจับกุมในข้อหายาเสพติด

griner-swap-for-viktor-bout-jailed-arms-dealer-raises-eyebrows-SPACEBAR-Hero
หลายคนอาจคุ้นกับชื่อของ วิกเตอร์ บูท หรือที่ถูกขนานนามว่า ‘พ่อค้าแห่งความตาย’ นักค้าอาวุธตัวเอ้ชาวรัสเซียที่ถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รวบตัวกลางโรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2008 และถูกดำเนินคดีในไทยจนกระทั่งไทยส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสหรัฐฯ เมื่อปี 2010 ก่อนจะถูกศาลสหรัฐฯ พิพากษาจำคุก 25 ปีในปี 2012 ในข้อหาจัดหาอาวุธให้กลุ่มกบฏในหลายๆ ที่ทั่วโลก 

ชื่อเสียงกระฉ่อนโลกนี้ทำให้ฮอลลีวูดหยิบยกเส้นทางชีวิตของ วิกเตอร์ บูท ไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง Lord of War ที่นำแสดงโดย นิโคลัส เคจ  

ล่าสุดทางการสหรัฐฯ และรัสเซียบรรลุข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวนักโทษคือ วิกเตอร์ บูท กับ บริตนีย์ ไกรเนอร์ นักบาสเก็ตบอลชาวอเมริกันแล้ว 

แน่นอนว่าการปล่อยตัวไกรเนอร์จากเรือนจำของรัสเซียสร้างความปีติยินดีไม่น้อย แต่ก็ทำให้เกิดคำถามสุดหินสำหรับ โจ ไบเดน ด้วยเช่นกัน นั่นคือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำถูกแล้วหรือไม่ที่ยอมแลกตัวพ่อค้าอาวุธตัวเอ้กับนักกีฬาบาสเก็ตบอลที่ถูกจำคุกด้วยข้อหายาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ  

พรรครีพับลิกันที่เป็นคู่แข่งรีบโจมตีไบเดนอย่างเร็ว โดยโฆษกหญิงของทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดนไม่ขอโทษที่ปล่อยตัวไกรเนอร์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกวัย 32 ปี และผู้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับ LGBTQ  ซึ่งถูกจำคุกหลังจากพบน้ำมันกัญชาจำนวนเล็กน้อยในตลับเก็บน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้า 

ผู้พิพากษา ชิรา เอ. ไชนด์ลิน ที่สั่งพิพากษา วิกเตอร์ บูท ในศาลรัฐบาลกลางในนิวยอร์กเผยว่า ทั้งสองคดีไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็ยินดีกับการแลกตัวไกรเนอร์ 

ไชนด์ลินเผยกับ AFP ว่า “ฉันคิดว่า วิกเตอร์ บูท รับโทษพอสมควรแล้วสำหรับอาชญากรรมที่เขาถูกตัดสิน” และว่า เธอจำเป็นต้องพิพากษาลงโทษขั้นต่ำซึ่งเธอคิดว่ามากเกินไป เพราะบูทมีความผิดในข้อหาก่อการร้าย 

บูทถูกควบคุมตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2008 ในข้อหาขายอาวุธให้กลุ่มกบฏ FARC ของโคลอมเบีย หลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปลอมตัวเป็นกลุ่มกบฏ FARC เพื่อล่อซื้ออาวุธ ซึ่งไชนด์ลินบอกว่าบูท ‘ถูกชักจูง’ ให้เข้าร่วม “ตัวเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เขาคือนักธุรกิจที่ค้าอาวุธ แล้วก็มีคนค้าอาวุธในทุกประเทศ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา”
 

หนึ่งหรือศูนย์

ทว่า ไชนด์ลินบอกว่าเธอหวังว่าบูทจะถูกปล่อยตัวเพื่อแลกตัวกับ พอล เวแลน อดีตนาวิกโยธินที่ถูกควบคุมตัวเมื่อปี 2018 ในข้อหาจารกรรมด้วย ไม่ใช่แลกเพียงไกรเนอร์เท่านั้น 

แม้ว่าทั้งเวแลนและรัฐบาลสหรัฐฯ จะปฏิเสธข้อหาสายลับ แต่ไชนด์ลินบอกว่าการแลกตัวเขากับบูทน่าจะ ‘สมเหตุสมผลกว่าเล็กน้อย’ เมื่อพิจารณาจากความรุนแรงของข้อกล่าวหาที่เขาเผชิญ 

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ยกประเด็นเรื่องการแลกตัวนักโทษขึ้นมาระหว่างการติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักท่ามกลางสงครามยูเครน เผยว่า รัสเซียปฏิบัติต่อทั้งสองคดีแตกต่างกัน โดยมองเวแลน ‘ผ่านเลนส์ของข้อหาจารกรรมหลอกลวง’ 

“นี่ไม่ใช่ทางเลือกว่าจะพาคนอเมริกันคนไหนกลับบ้าน ในกรณีนี้ตัวเลือกคือหนึ่งหรือศูนย์” บลิงเคนเผยกับผู้สื่อข่าว 

วิลล์ พอเมอแรนซ์ ผู้อำนวยการ Wilson Center's Kennan Institute เผยว่า รัสเซียจะมองว่าการปล่อยตัวบูทคือชัยชนะ ‘มันแสดงให้ห็นว่ารัสเซียสนับสนุนหน่วยความมั่นคงของตัวเองเสมอและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้ว่านั่นหมายถึงการเจรจาที่ยืดเยื้อยาวนานก็ตาม’ 

พอเมอแรนซ์เผยอีกว่า แม้ว่าการจับกุมตัวไกรเนอร์จะสอดคล้องกับกฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดของรัสเซีย ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ‘ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ชัดเจน’ หลังจากไบเดนประกาศต่อสาธารณชนว่าให้ความสำคัญกับการปล่อยตัวไกรเนอร์ ซึ่งชะตากรรมของเธอได้รับความสนใจเป็นวงกว้างในสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก  

พอเมอแรนซ์คาดว่าการปล่อยตัวเวแลนจะยุ่งยากกว่านี้ “โอกาสที่ดีที่สุดของ พอล เวแลน ที่จะได้ออกจากรัสเซียคือ การเป็นส่วนหนึ่งของการแลกตัวบริตต์นีย์ ไกรเนอร์”
 

แรงจูงใจหรือฝ่ายตรงข้าม?

มาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน ซึ่งแม้จะยินดีกับการปล่อยตัวไกรเนอร์ก็ยังเผยว่า ข้อตกลงแสดงให้ปูตินเห็นว่า “การกักขังคนอเมริกันที่มีชื่อเสียงในข้อหาเล็กน้อยสามารถรบกวนเจ้าหน้าที่อเมริกัน และทำให้พวกเขาปล่อยตัวคนเลวจริงๆ ที่ต้องถูกคุมขังได้อย่างไร” 

นิโคล มัลลิโอตากิส จากพรรครีพับลิกัน ทวีตว่า ไบเดนควรเจรจาให้เกิดการปล่อยตัวทั้งเวแลนและไกรเนอร์ “นาวิกโยธินของสหรัฐฯ คนหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังในข้อตกลงแย่ๆ อีกข้อตกลงหนึ่งที่ทำโดยไบเดน” 

แต่สหรัฐฯ แสดงความตั้งใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะทำข้อตกลงที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่สมส่วนเพื่อให้พลเมืองได้รับการปล่อยตัวเพื่อตอบสนองต่อความคิดเห็นของสาธารณชน 

ประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ก็ตัดสินใจคล้ายๆ กันนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ เมื่อปี 2011 ที่อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษกว่า 1,000 คนเพื่อแลกกับการที่กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ปล่อยตัว กิลาด ชาลิต ทหารเพียงคนเดียว  

สหรัฐฯ กำหนดนโยบายรัฐบาลไว้ว่าจะไม่จ่ายค่าไถ่เพื่อแลกตัวพลเมืองของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างแรงจูงใจในการจับตัวประกัน 

หนึ่งตัวอย่างที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการสะท้อนอารมณ์ของคนอเมริกันคือ มิกา พาร์สันส์ นักฟุตบอลชาวอเมริกันที่ทวีตแสดงความไม่พอใจว่า สหรัฐ “ทิ้งนาวิกโยธินคนหนึ่งไว้” แต่เจ้าตัวเปลี่ยนท่าทีและขอโทษหลังถูกทัวร์ลง และบอกว่าตัวเขา “ยินดีมากๆ” กับไกรเนอร์  

พอล ริกฮอฟฟ์ คอมเมนเตเตอร์ชื่อดังเผยว่า เวแลนควรได้รับการปล่อยตัว จบนะ และว่า ไกรเนอร์ “ตกอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่เหมือนใครในคุกรัสเซีย” ในฐานะที่เป็นคนผิวสีและชาว LGBTQ 

“เมื่อเธอกลับถึงบ้านแล้ว ผมมั่นใจว่าเธอจะออกมาเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการปล่อยตัว พอล เวแลน และเราทุกคนควรรเข้าร่วมกับเธอ” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์