หลังจากเกิดเหตุการณ์ลอบยิง โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน และอดีตประธานาธิบดีระหว่างปราศรัยบนเวทีที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อคืนวันเสาร์ (13 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมฟังปราศรัยเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย ขณะที่ทรัมป์ถูกยิงเฉี่ยวใบหูด้านบนข้างขวา แต่ปลอดภัยแล้ว ส่วนผู้ก่อเหตุเป็นชายชาวเพนซิลเวเนียวัย 20 ปีถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุ
ในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา 248 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีอดีตประธานาธิบดีหลายคนที่เผชิญกับเหตุการณ์ลอบสังหาร ซึ่งมีทั้งรอดชีวิตมาได้ และเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว SPACEBAR พาย้อนดูว่ามีอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนบ้างที่เคยถูกลอบสังหาร

อับราฮัม ลินคอล์น, ประธานาธิบดีคนที่ 16 / ถูกลอบสังหารปี 1865 / เสียชีวิต
อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกลอบยิงโดย จอห์น วิลค์ส บูธ ขณะที่เขาและภรรยาของเขา แมรี่ ท็อดด์ ลินคอล์น กำลังเข้าร่วมชมการแสดงพิเศษของละครตลกเรื่อง ‘Our American Cousin’ ที่โรงละครฟอร์ดในเมืองวอชิงตันเมื่อวันที่ 14 เมษายน 1865
ลินคอล์นถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาหลังจากถูกยิงที่ท้ายทอย แต่สุดท้ายเขาก็เสียชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้น สำหรับแรงจูงใจเบื้องหลังการฆาตกรรมคาดว่าเป็นเพราะลินคอล์นสนับสนุนสิทธิของคนผิวดำ
2 ปีก่อนการลอบสังหาร ในช่วงสงครามกลางเมืองซึ่งเป็นการต่อสู้กันเรื่องทาส ลินคอล์นได้ออกประกาศปลดปล่อยทาสเพื่อให้เสรีภาพแก่ทาสในสมาพันธรัฐ
ขณะที่ บูธ ผู้ก่อเหตุถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 เมษายน 1865 หลังจากที่พบเขาซ่อนตัวอยู่ในโรงนาใกล้กับเมืองโบว์ลิ่งกรีน รัฐเวอร์จิเนีย
เจมส์ การ์ฟิลด์, ประธานาธิบดีคนที่ 20 / ถูกลอบสังหารปี 1881 / เสียชีวิต

เจมส์ การ์ฟิลด์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกลอบสังหาร เพียง 6 เดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่งเท่านั้น ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1881 การ์ฟิลด์กำลังเดินอยู่ในสถานีรถไฟในวอชิงตันเพื่อขึ้นรถไฟไปเขตนิวอิงแลนด์ แต่ในตอนนั้นเองเขากลับถูก ชาร์ลส์ กีโต ผู้ก่อเหตุยิง
การ์ฟิลด์ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องนอนรักษาตัวที่ทำเนียบขาวเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แม้ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ จะพยายามค้นหาหัวกระสุนที่ฝังอยู่ในอกของการ์ฟิลด์โดยใช้เครื่องมือที่เขาออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในท้ายที่สุดการ์ฟิลด์ก็เสียชีวิตในเดือนกันยายน 1881
ส่วนกีโต ผู้ก่อเหตุ ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกประหารชีวิตในเดือนมิถุนายน 1882
วิลเลียม แมคคินลีย์, ประธานาธิบดีคนที่ 25 / ถูกลอบสังหารปี 1901 / เสียชีวิต

วิลเลียม แมคคินลีย์ ถูกลอบยิงหลังจากกล่าวสุนทรพจน์ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1901 ขณะที่แมคคินลีย์กำลังจับมือทักทายกับผู้คนก็มีชายคนหนึ่งยิงปืนเข้าที่หน้าอกของเขา 2 นัดในระยะเผาขน แพทย์คาดว่าแมคคินลีย์จะฟื้นตัว แต่หลังจากนั้นบาดแผลจากกระสุนปืนก็เน่า และเสียชีวิตในวันที่ 14 กันยายน 1901 เพียง 6 เดือนหลังจากเริ่มดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2
ลีออน เอฟ.โคลกอสซ์ ผู้ก่อเหตุชาวเมืองดีทรอยต์วัย 28 ปียอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิง และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1901
จอห์น เอฟ. เคนเนดี้, ประธานาธิบดีคนที่ 35 / ถูกลอบสังหารปี 1963 / เสียชีวิต
จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ ถูกลอบยิงโดยปืนไรเฟิลความเร็วสูงขณะที่เขาเดินทางไปเยือนเมืองดัลลาสในเดือนพฤศจิกายน 19633 พร้อมกับสุภาพสตรีหมายเลข 1 แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ โดยเสียงปืนดังขึ้นขณะที่ขบวนรถของประธานาธิบดีเคลื่อนผ่านสวนสาธารณะดีลีย์พลาซ่าในตัวเมืองดัลลาส
เคนเนดี้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพาร์คแลนด์เมมโมเรียล แต่เขาก็เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน หลายชั่วโมงหลังการลอบสังหาร ตำรวจได้จับกุม ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ และ 2 วันต่อมา ออสวอลด์ถูกนำตัวจากสำนักงานตำรวจไปยังเรือนจำของมณฑล แต่ระหว่างนั้นเขาถูก แจ็ก รูบี้ เจ้าของไนท์คลับในดัลลาส วิ่งเข้าหาเขาอย่างเร็วและถูกยิงจนเสียชีวิต
รองประธานาธิบดี ลินดอน บี.จอห์นสัน ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากเคนเนดี้ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในห้องประชุมบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน และเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งบนเครื่องบิน
ธีโอดอร์ โรสเวลต์, ประธานาธิบดีคนที่ 26 / ถูกลอบสังหารปี 1912 / รอดชีวิต
ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ถูกลอบยิงที่เมืองมิลวอกีในปี 1912 ขณะกำลังหาเสียงในฐานะแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ 3 หลังจากโรสเวลต์เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัยและลงชิงตำแหน่งผู้นำอีกครั้ง
แต่โชคดีที่ข้าวของและกล่องแว่นตาโลหะในกระเป๋าของโรสเวลต์ช่วยลดแรงกระแทกของกระสุนปืนทำให้เขาไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ส่วนผู้ก่อเหตุ จอห์น ชแรงค์ ถูกจับกุมและถูกนำตัวไปไว้ในโรงพยาบาลจิตเวช
แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์, ประธานาธิบดีคนที่ 32 / ถูกลอบสังหารปี 1933 / รอดชีวิต
เมื่อครั้งที่ แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และเพิ่งจะกล่าวสุนทรพจน์ในเมืองไมอามีจากด้านหลังรถเปิดประทุนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1933 ทันใดนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น แต่รูสเวลต์ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
ส่วนผู้ก่อเหตุ กุยเซปเป้ ซังการา ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกตัดสินประหารชีวิต
แฮร์รี เอส.ทรูแมน, ประธานาธิบดีคนที่ 33 / ถูกลอบสังหารปี 1950 / รอดชีวิต
ในเดือนพฤศจิกายน 1950 ขณะที่ แฮร์รี เอส.ทรูแมน กำลังพักอยู่ที่แบลร์เฮาส์ (เกสต์เฮาส์ประธานาธิบดี) ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการปรับปรุง แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นเมื่อมีมือปืน 2 คนบุกเข้ามา แต่ทรูแมนไม่ได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตำรวจทำเนียบขาวและคนร้ายคนหนึ่งเสียชีวิตจากการยิงปะทะกัน และตำรวจทำเนียบขาวบาดเจ็บอีก 2 นาย
ส่วนคนร้ายอีกคนหนึ่ง ออสการ์ คาลลาโซ ถูกจับกุมและถูกตัดสินประหารชีวิต ทว่าในปี 1952 ทรูแมนได้ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาในยุคของผู้นำ จิมมี คาร์เตอร์ ปี 1979 คาลลาโซก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก
เจอรัลด์ ฟอร์ด, ประธานาธิบดีคนที่ 38 / ถูกลอบสังหารปี 1975 / รอดชีวิต

เจอรัลด์ ฟอร์ด ต้องเผชิญกับความพยายามลอบสังหารถึง 2 ครั้งภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ในปี 1975 แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้ง
ในความพยายามลอบสังหารครั้งแรก ฟอร์ดกำลังเดินทางไปประชุมกับผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในเมืองซาคราเมนโต ขณะนั้น ลินเน็ตต์ ฟรอมเม ลูกศิษย์หญิงของ ชาร์ลส์ แมนสัน จากลัทธิครอบครัวแมนสัน (อาชญากรชาวอเมริกัน) ได้ผลักฝูงชนบนถนน และชักปืนกึ่งอัตโนมัติออกมาแล้วจ่อไปที่ฟอร์ด แต่โชคดีไม่มีกระสุนอยู่ในปืน
ฟรอมเมถูกตัดสินจำคุกและได้รับการปล่อยตัวในปี 2009
17 วันต่อมา หญิงอีกคนชื่อ ซารา เจน มัวร์ ผู้ประกาศตนว่าเป็นพวกหัวรุนแรงได้ปรากฏตัวเผชิญหน้ายิงปืนใส่ฟอร์ดบริเวณนอกโรงแรมแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก แต่นัดแรกยิงพลาด ผู้เห็นเหตุการณ์ที่อยู่แถวนั้นจึงคว้าแขนเธอไว้ขณะที่พยายามยิงนัดที่ 2 ในท้ายที่สุดมัวร์ถูกจำคุกและได้รับการปล่อยตัวในปี 2007
โรนัลด์ เรแกน, ประธานาธิบดีคนที่ 40 / ถูกลอบสังหารปี 1981 / รอดชีวิต
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1981 หลังจากที่ โรนัลด์ เรแกน กล่าวสุนทรพจน์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เสร็จ และกำลังเดินไปที่ขบวนรถของเขา ขณะนั้นเรแกนก็ถูก จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในฝูงชนยิงปืนใส่เข้าที่บริเวณหน้าอก แต่เรแกนได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและรักษาตัวอยู่หลายสัปดาห์
นอกจากเรแกนที่ถูกยิงก็ยังมีผู้เคราะห์ร้ายอีก 3 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้แก่ เจมส์ เบรดี้ โฆษกประจำตัวของเรแกน, ทิม แม็กคาร์ธี เจ้าหน้าที่จากหน่วยสืบราชการลับ (USSS) และโทมัส เดลาฮานตี เจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งวอชิงตัน ดี.ซี.
ส่วนฮิงคลีย์ถูกจับกุมและคุมขังในโรงพยาบาลจิตเวชหลังจากที่ถูกตัดสินว่า ‘เขาไม่มีความผิด’ เนื่องจากวิกลจริต ต่อมาในปี 2022 ฮิงคลีย์ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังจากได้รับการตัดสินแล้วว่าตัวเขา ‘ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขาเองหรือผู้อื่นอีกต่อไป’
จอร์จ ดับเบิลยู บุช, ประธานาธิบดีคนที่ 43 / ถูกลอบสังหารปี 2005 / รอดชีวิต

ขณะที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ปราศรัยร่วมกับประธานาธิบดี มิคาอิล ซาอากาชวิลี แห่งจอร์เจีย ที่เมืองทบิลิซี จอร์เจียเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2005 ก็เกิดเหตุชายคนหนึ่งขว้างห่อผ้าที่ซ่อนระเบิดมือไว้ไปที่แท่นเวทีปราศรัยที่บุชยืนอยู่
แต่โชคดีระเบิดมือไม่ทำงานจึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ก่อเหตุในครั้งนั้นคือ วลาดิมีร์ อารูตูเนียน ชาวจอร์เจียถูกจับกุมและถูกจำคุกตลอดชีวิต