ภายใต้แรงกดดันจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ บริษัท Hutchison จากฮ่องกงเผยว่า บริษัทตกลงจะขายท่าเรือคลองปานามาให้กับกลุ่มบริษัทที่นำโดยสหรัฐฯ
CK Hutchison Holdings เผยว่า จะขายหุ้นของบริษัท Panama Port Cpmpany (PPC) 90% และขายท่าเรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ของจีนให้กลุ่มธุรกิจที่นำโดย BlackRock บริษัทด้านการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่
แถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า ผู้ขายจะได้รับเงินสด 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัท PPC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Hutchison ดำเนินการท่าเรือที่เมืองบัลโบอาและเมืองกริสโตบัลในมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกปลายสุดของทางน้ำเชื่อมมหาสมุทรมานานหลายทศวรรษ
แต่นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค. ทรัมป์ก็บ่นว่าจีนควบคุมคลองปานามาซึ่งเป็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ เคยบริหาร
ทรัมป์ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังทหารบุกคลองปานามาเพื่อกลับเข้าไปควบคุมคลองอีกครั้ง โดยอ้างว่าการเป็นเจ้าของท่าเรือ 2 แห่งของ Hutchison ทำให้จีนมีสิทธิ์ควบคุมน่านน้ำยุทธศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการประท้วงในปานามาและยังมีการร้องเรียนไปยังองค์การสหประชาชาติด้วย

ในแถลงการณ์ร่วมกับผู้ซื้อ Hutchison ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากแรงจูงใจทางธุรกิจ ไม่ใช่การเมือง
“ผมขอย้ำว่าการทำธุรกรรมมีลักษณะเป็นเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับข่าวการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือปานามา”
แฟรงค์ ซิกท์ กรรมการผู้จัดการร่วม
แลร์รี ฟิงค์ ซีอีโอ BlsckRock เผยว่า ธุรกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มธุรกิจของเขาในการส่งมอบการลงทุนที่แตกต่างให้กับลูกค้า “ท่าเรือระดับเวิลด์คลาสนี้เอื้อต่อการเติบโตทั่วโลก”
ด้านรัฐบาลปานามาเผยว่า การซื้อขายนี้เป็น “ธุรกรรมระดับโลกระหว่างบริษัทเอกชนที่ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน” และว่า การตรวจสอบบริษัท PPC โดยสำนักงานผู้ชำระบัญชีปานามาที่ดูแลทรัพย์สินสาธารณะนี้จะดำเนินต่อไปแม่จะมีการซื้อขายก็ตาม
43 ท่าเรือ
การซื้อขายนี้จะส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้กับท่าเรือ 43 ท่าซึ่งประกอบด้วยที่จอดเรือ 199 แห่งใน 23 ประเทศ
CK Hutchison Holdings คือหนึ่งในเครือธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของฮ่องกง ดำเนินธุรกิจทั้งในด้านการเงิน ค้าปลีก โครงสร้างพื้นฐาน เทเลคอม และลอจิสติกส์ โดยมี ลีกาชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงเป็นเจ้าของ
เมื่อเดือน ก.พ. มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนปานามาซึ่งเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคลองปานามาต่อรัฐบาลทรัมป์
ประธานาธิบดี โฮเซ ราอูล มูลิโน ของปานามารับปากมูลิโนว่าปานามาจะถอนตัวจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน รูบิโอยังกดดันให้เรือสหรัฐฯ ผ่านคลองปานามาโดยไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางแต่ถูกปฏิเสธ
คลองปานามาบริหารโดย Panama Canal Authority (ACP) ซึ่งเป็นนิติบุคคลอิสระที่บอร์ดบริหารได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีปานามาและรัฐสภามาตั้งแต่ปี 1999
คลองปานามาความยาว 80 กิโลเมตร ถูกสร้างโดยสหรัฐฯ เมื่อกว่า 100 ปีก่อนเพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก ก่อนจะส่งมอบให้ปานามาในภายหลัง คลองแห่งนี้มีสัดส่วน 5% ของปริมาณการค้าการขนส่งทางทะเลของโลก และปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของสหรัฐฯ ในแต่ละปีใช้คลองปานามาประมาณ 40%
ขณะที่ปักกิ่งปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้แทรกแซงคลองปานามา
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การตัดสินใจขายท่าเรือปานามาของบริษัท CH Hutchison ช่วยให้ปานามามีหนทางหลีกเลี่ยงจากความขัดแย้งกับรัฐบาลทรัมป์
เบนจามิน เกแดน ผู้อำนวยการโครงการละตินอเมริกาของศูนย์วิลสันในสหรัฐฯ เผยกับสำนักข่าว AFP ว่า การขายท่าเรือปานามา “เป็นทางออกของวิกฤตทางการทูตโดยที่ไม่ต้องยกเลิกสัมปทานของ Hutchison ซึ่งอาจทำลายบรรยากาศการลงทุนในปานามา”
ซาบรินา บาคาล นักรัฐศาสตร์ชาวปานามาเผยกับ AFP ว่า “ในยุคทรัมป์ ธุรกิจคือภูมิศาสตร์การเมืองใหม่” ส่วน นาตาชา ลินด์สเตดต์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอสเซ็กส์บอกว่าสถานการณ์ “แปลก” และว่า “อาจเป็นเพราะบริษัทกำลังจะถูกตรวจสอบจากรัฐบาลปานามาและมองเห็นว่าการขายอาจเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะต้องรับมือกับความยุ่งยาก”
Photo by MARTIN BERNETTI / AFP