แม้ปัจจุบันปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพฯ จะเบาบาง (ลงบ้าง) แล้ว แต่ทุกครั้งที่เวลาพัดผ่านมาจนถึงช่วงสิ้นปีเข้าปีใหม่ทีไร ‘คนไทย’ ก็ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษนี้อยู่ทุกปี หลายครั้งที่โซเชียลพยายามสร้างความตระหนักรู้ต่างๆ เกี่ยวกับความอันตรายของมันแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ขณะที่ผู้ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหานี้อย่าง ‘รัฐบาล’ เองก็ยังทำไม่ได้
วันนี้เราเลยพามาลองส่องโมเดลเพื่อนบ้านสุดรักอย่าง ‘ประเทศจีน’ ดู ว่าประเทศที่มีฝุ่นหนักกว่าบ้านเรา เขาจัดการกันยังไง?

จีนประกาศสงครามกับ ‘ฝุ่น’
ย้อนกลับไปในปี 2014 หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ประกาศทำสงครามกับมลพิษ หลังจากเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่เขาก็รับปากว่าจะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 7.5% ซึ่งการแก้ปัญหานี้ถึงกับถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติของจีน

หลี่เค่อเฉียงเรียกมลพิษว่าเป็น ‘สัญญาณที่ธรรมชาติเตือนต่อการพัฒนาที่ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ขอบเขต’
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการส่งออกและการลงทุนซึ่งช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แต่กลับนำไปสู่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งที่ผ่านมาตลอดทั้งปีของจีนส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาหมอกควัน
จีนมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณฝุ่นพิษลง 10% ภายในปี 2050 โดยเปรียบเทียบจากปี 2020 และจะรักษาวันที่มีมลพิษรุนแรงให้น้อยกว่า 1% ขณะที่มาตรการอื่นๆ ได้แก่การพัฒนาพลังงานใหม่และพลังงานสะอาด เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ และควบคุมการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ

‘ใครไม่ทำตาม จะโดนลงโทษ’
ในปี 2019 จีนแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของการแก้ปัญหาฝุ่น โดยสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ว่า ‘ผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายคุณภาพอากาศจะต้องถูกลงโทษ’ คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากในปีี 2018 กรุงปักกิ่ง และเมืองโดยรอบได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษที่สูงแตะ 73 ไมโครกรัม (ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของจีน 2 เท่า) ตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม
“นี่เป็นการต่อสู้เพื่อท้องฟ้าสีคราม ถ้าเราจะชนะมันได้ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ที่ไม่ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบ” หลิว ปิงเจียง หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมของจีนกล่าว

ฟ้าสีครามที่มาพร้อมปัญหา ‘โอโซน’
หลังจากที่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สถิติคุณภาพอากาศของจีนดีขึ้นจริง แต่ ‘โอโซน’ ในอากาศกลับพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากความเข้มข้นของฝุ่นพิษลดลงอย่างรวดเร็ว เคมีในบรรยากาศจึงเปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้อนุมูลในอากาศสำหรับการผลิตโอโซนนั้นมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอุตสาหกรรมอย่าง ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ซึ่งรวมถึงภูมิภาคที่ผลิตถ่านหิน ที่พบว่ามีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 3 – 5 เท่า
* โอโซนเป็นส่วนประกอบหลักในหมอกควัน มลภาวะโอโซนระดับพื้นดินมีแนวโน้มที่จะถึงระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนจัดในเมืองต่างๆ ที่แย่กว่านั้นคือลมสามารถพัดพาโอโซนออกไปจากเมือง ปนเปื้อนในพื้นที่ชนบทได้เช่นกัน *
สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ อธิบายไว้ว่า การหายใจเอาโอโซนเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง รวมถึงอาการเจ็บหน้าอก ไอ ระคายเคืองคอ และทางเดินหายใจอักเสบ นอกจากนี้ยังสามารถลดการทำงานของปอดและเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อปอดอีกด้วย โอโซนอาจทำให้หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง และโรคหอบหืดแย่ลง ส่งผลให้ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์มากขึ้น

ความพยายามของจีนในการทำให้อากาศสะอาด เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่สงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่กับสหรัฐฯ ยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นตกต่ำเช่นกัน สำนักงานสถิติของจีนระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือ 6.6% ในปี 2018 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี แต่ฝ่ายบริหารของจีนก็ยังคงยืนยันที่จะเอาชนะ และบรรลุเป้าหมายต้านมลพิษนี้ ไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจใดก็ตาม
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ความพยายามเหล่านั้นให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ระดับมลพิษของจีนในปี 2021 ลดลง 42% จากปี 2013 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่หาได้ยากในภูมิภาคนี้ ขณะที่รายงานดัชนีคุณภาพอากาศประจำปีซึ่งจัดทำโดยสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ยกย่อง ‘ความสำเร็จอันน่าทึ่งของจีนในการต่อสู้กับมลภาวะ’
รายงานระบุว่า ‘มลพิษทั่วโลกลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2013 – 2021 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าของประเทศจีน ซึ่งการปรับปรุงนี้หมายความว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรจีนในปัจจุบันจะยาวขึ้นอีกราว 2.2 ปี’
เมืองต่างๆ ของประเทศจีนเคยครองแชมป์คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก แม้จะมีบางส่วนที่ยังครองตำแหน่งอยู่ แต่ก็มีหลายเมืองในเอเชียใต้และตะวันออกกลางพุ่งแซงขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อย

เมืองมลพิษระดับโลก
ถึงอย่างนั้นรายงานก็ยังเตือนว่า จีนยังต้องลงมือทำงานอีกหลายอย่าง เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีมลพิษมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และฝุ่นพิษของจีนยังมีปริมาณสูงกว่าเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของสหรัฐฯ ถึง 40% แม้ว่าระดับฝุ่นพิษจะอยู่ในมาตรฐานระดับชาติ แต่ระดับมลพิษนั้น ‘เกิน’ แนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของจีนก็แสดงให้เห็นว่า หากรัฐบาลและประชาชนจริงจังและเต็มใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมเกิดได้จริง จึงต้องทิ้งไว้เป็นคำถามให้รัฐบาลไทยว่า หลังจากนี้การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษของประเทศไทย ควรเป็นวาระแห่งชาติ (ที่จริงจังและจริงใจ) ได้หรือยัง?