ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีมลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 7 ล้านคน และ 9 ใน 10 คนสูดอากาศที่มีมลพิษสูงเข้าไป และ 92% ของประชากรโลกต้องสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานการณ์ฝุ่นพิษนี้เป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทย
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องจากทั้งธนาคารโลกและในรายงานดัชนีคุณภาพอากาศชีวิต (Air Quality Life Index) ของสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกว่าเป็น “ความสำเร็จอันน่าทึ่งในการต่อสู้กับมลพิษ” จนเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาให้เมืองอื่นๆ ได้
เมื่อช่วงกว่า 10 ปีที่แล้วจีนโดยเฉพาะในกรุงปักกิ่งต้องเผชิญกับฝุ่นควันพิษอย่างหนักจนมองไม่เห็นแม้กระทั่งตึกที่อยู่ใกล้ๆ จนกระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก รวมถึงในปี 2016 ที่มีภาพ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊คกำลังวิ่งจ๊อกกิงท่ามกลางหมอกควันผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน

การเติบโตทางอุตสาหกรรมที่ทำให้จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นทวีคูณ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ความต้องการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงถ่านหิน และจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น สร้างความกดดันอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมของเมือง โดยเฉพาะคุณภาพอากาศ
ฝุ่นควันจากกิจกรรมต่างๆ ข้างต้นทำให้ฝุ่น PM2.5 พุ่งในระดับเกินกว่าจะรับไหว ปี 2013 คุณภาพอากาศของจีนแย่มากโดยความเข้มข้นของ PM2.5 พุ่งขึ้นไปแตะ 101.56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการวิจัยของ Global Burden of Disease ยังพบว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุให้คนจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 1.4 ล้านคน
เดือนกันยายน 2013 รัฐบาลจีนจึงประกาศสงครามกับฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังในเชิงรุก และบังคับใช้มาตรการต่างๆ ดังนี้
- จำกัดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในเมืองหลักๆ
- ห้ามตั้งโรงงานถ่านหินแห่งใหม่ในพื้นที่ที่มลพิษเข้มข้น
- ลดการปล่อยควันพิษในโรงงานถ่านหินหรือสั่งปิดโรงงานที่มีอยู่
- ลดกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูง เช่น การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า
- กำหนดเป้าหมายสิ่งแวดล้อมให้รัฐบาลท้องถิ่น
- ใช้เครื่องทำความร้อนแบบไฟฟ้าหรือแก๊สในบ้านเรือนแทนการใช้หม้อไอน้ำที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
- ขยายทางรถไฟในเขตเมืองเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
- กำหนดเขตปลดปล่อยมลพิษต่ำ (LEZs)
- กำหนดแผนการปราบปรามฝุ่นควันในระยะ 5 ปี
- รัฐบาลสามารถประกาศมาตรการระยะสั้นเมื่อต้องการ อาทิ ปิดโรงงานชั่วคราว เพื่อให้ฝุ่นคันลดลงสำหรับอีเว้นต์สำคัญๆ เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
- ทุ่มเงินงบประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างป่าและปลูกป่าใน 12 มณฑล ซึ่งเป็นมณฑลอุตสาหกรรมได้มากถึง 35,000 ล้านต้น
- ให้เงินอุดหนุนประชาชนซื้อรถคันใหม่ โละทิ้งรถเก่า ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถเมล์ หรือรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นตัวการของการปล่อยฝุ่นควันพิษ
นอกจากนี้ ปี 2016 รัฐบาลจันยังสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ติดตั้งเซ็นเซอร์คุณภาพสูงมากกว่า 1,000 ตัวทั่วกรุงปักกิ่งเพื่อวัดระดับฝุ่น PM2.5 ช่วยให้สามารถระบุพื้นที่และเวลาที่ฝุ่นพิษมีความเข้มข้นสูงได้อย่างแม่นยำ
ปี 2018 จีนเปิดตัวแผนปฏิบัติการ 3 ปีเพื่อเอาชนะสงครามท้องฟ้าสีคราม ซึ่งเป็นแผนการระยะที่ 2 โดยตั้งเป้าลดฝุ่น PM2.5 ในทุกเมืองของจีน จากที่แผนระยะแรกใช้กับเมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย และเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำแยงซีเกียง
การทำสงครามกับฝุ่น PM2.5 ของจีนทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น โดยในช่วงปี 2013-2017 ลดฝุ่น PM2.5 ในกรุงปักกิ่งได้ 33% (จาก 89.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเหลือ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ 15% ในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำแยงซีเกียง

ส่วนความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 โดยเฉลี่ยทั่วประเทศลดลง 50% จาก 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2013 เป็น 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2019 นอกจากนี้ในปี 2021 ในกรุงปักกิ่งยังมีวันที่อากาศคุณภาพดีถึง 288 วัน เมื่อเทียบกับปี 2013 ที่มีเพียง 176 วัน
รายงานของสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกระบุว่า หากจีนลดฝุ่น PM2.5 ได้ต่อเนื่องอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนจีนจะเพิ่มขึ้น 2.2 ปี
ทว่าแม้ว่าจะลดฝุ่นได้แล้วกว่า 10 ปี แต่ระดับฝุ่น PM2.5 โดยรวมในจีนกลับมาดีดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2023 โดยระดับฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นใน 80% ของเมืองหลวงของมณฑล รวมถึงกรุงปักกิ่งด้วย
อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในจีนแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลและประชาชนเต็มใจและลงมือทำจริงจัง