ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ นั้นกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ทั่วโลกต่างก็จับตามองถึงความเป็นไปท่ามกลางการคาดเดาไปต่างๆ นานาถึงทิศทางการดำเนินนโยบายหากได้ประธานาธิบดีคนใหม่
หลังจากผ่านเวทีดีเบตแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) กลับกลายเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้รับคะแนนนิยมมากกว่า โจ ไบเดน แม้จะมีคดีความติดตัว (ซึ่งคาดว่าอาจจะได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินคดีทางอาญา) ขณะที่พลเมืองส่วนใหญ่ต่างผิดหวังกับท่าทีของไบเดนที่ดีเบตไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับเสียงวิจารณ์ที่บอกว่าเขา ‘แก่เกินไป’ ที่จะบริหารประเทศต่อ
ประเด็น ‘แก่เกินกว่าจะบริหารประเทศ’ ถูกยกมาพูดถึงอีกครั้งในหมู่มวลพลเมืองอเมริกันว่าแคนดิเดตประธานาธิบดีทั้ง 2 คนนั้นดูแก่เกินไปเป็นรุ่นลุงรุ่นตาเลยด้วยซ้ำ ทั้งคู่จะสร้างตำนานเป็นผู้นำที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นสุดวาระ แถมพวกเขายังมีอายุมากกว่าอายุเฉลี่ยของผู้นำโลกอย่างน้อย 16 ปีอีกด้วย (อายุเฉลี่ยผู้นำโลกอยู่ที่ 62 ปี)
คำถามก็คือ ‘ควรมีการกำหนดอายุสูงสุดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมาบริหารประเทศหรือไม่?’

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ :
- ดำรงตำแหน่งได้มากสุด 2 สมัย สมัยละ 4 ปี
- มีข้อกำหนดอายุขั้นต่ำที่ 35 ปี แต่ไม่มีการกำหนดอายุสูงสุด
หากจะเพิ่มข้อจำกัดด้านอายุ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้ง 2 พรรคอย่างท่วมท้นและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสภาคองเกรส
ด้วยอายุที่มากขึ้น ก็จะมาพร้อมกับศักยภาพและความสามารถที่ลดลง ไหนจะอาการเจ็บป่วยจากวัยชราอีก ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่พลเมืองอเมริกันจะตั้งคำถามว่าแคนดิเดตทั้ง 2 คนนี้จะสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? หากระหว่างปฏิบัติหน้าที่เกิดมีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือร่างกายจนกระทบต่อความสามารถในการทำงานล่ะ? พวกเขาจะยอมรับสภาวะนั้นหรือยอมลาออกโดยสมัครใจเหรอ?
ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าประธานาธิบดีไม่ยอมสละอำนาจโดยเต็มใจไม่ว่าพวกเขาจะอ่อนแอเพียงใดก็ตาม และกลไกตามรัฐธรรมนูญในการปลดประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 25 (25th Amendment / เกี่ยวข้องกับการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีและความทุพพลภาพ) นั้นเป็นปัญหาทางการเมือง
บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 25 บางตอนระบุไว้ว่า :
- เมื่อใดก็ตามที่รองประธานาธิบดีและเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายบริหารส่งคำประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรถึงประธานวุฒิสภาชั่วคราว (the President pro tempore of the Senate) และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ‘ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองได้’ จากนั้นรองประธานาธิบดีจะต้องเข้ารับอำนาจในฐานะรักษาการประธานาธิบดีทันที
- แต่เมื่อประธานาธิบดียื่นคำประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรถึงประธานวุฒิสภาชั่วคราว และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ‘ตัวเองไม่ได้ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ’ ประธานาธิบดีจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ดังเดิม
- เว้นแต่รองประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายบริหารจะส่งคำประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรถึงประธานวุฒิสภาชั่วคราว และประธานสภาผู้แทนราษฎรฉบับที่ 2 ว่า ‘ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองได้’
- จากนั้นรัฐสภาจะทำการประชุมเพื่อตัดสินเรื่องนี้ภายใน 21 วัน หากมติเห็นชอบออกมาเป็น 2 ใน 3 ของทั้งสองสภาว่า ‘ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองได้’ รองประธานาธิบดีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีต่อไป
- ในทางตรงกันข้าม หากมติออกมาไม่ถึง 2 ใน 3 ข้อกล่าวหาที่ว่า ‘ประธานาธิบดีไร้ความสามารถ’ ก็จะตกไป และประธานาธิบดีก็จะกลับมาดำรงตำแหน่งตามเดิม
ครั้งหนึ่งคณะรัฐมนตรีของทรัมป์บางคนเคยคิดที่จะอ้างบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 25 เพื่อโค่นล้มเขา แต่ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีในเวลานั้นไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ยังมีเคสของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่งเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ท่ามกลางการถกเถียงกันตั้งแต่นั้นมาว่าผลกระทบจากโรคนี้อาจเริ่มมีขึ้นในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาวหรือไม่?
แต่เรแกนวัย 73 ปีในขณะนั้นก็คลายความกังวลเกี่ยวกับอายุของเขาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหม่ในปี 1984 ด้วยอารมณ์ขันและพูดติดตลกระหว่างดีเบตแข่งกับ วอลเตอร์ เอฟ. มอนเดล แคนดิเดตจากเดโมแครตว่า
“ผมจะไม่ทำให้อายุเป็นปัญหาในการหาเสียงครั้งนี้ ผมจะไม่แสวงหาประโยชน์จากความความเยาว์วัยและความไม่มีประสบการณ์ของคู่ต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง”
โรนัลด์ เรแกน กล่าว
ในเวลานั้น แม้แต่มอนเดลเองก็ยังหัวเราะและกล่าวในภายหลังว่า ‘เขารู้ในขณะนั้นว่าเขาแพ้แล้ว’
ข้อจำกัดด้านอายุกับประสิทธิภาพการทำงานกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง!
ในระยะหลังนี้ การอภิปรายต่อสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นอายุแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่พูดถึงเคสของผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ยังเหมารวมไปถึงเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารวัยสูงอายุอยู่ในตำแหน่งนานขึ้น แถมอาการเจ็บป่วยของเจ้าหน้าที่ในรัฐสภายังส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย
ยกตัวอย่างเช่น :
- ไดแอน เฟนชไตน์ สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งด้วยวัย 90 ปี
- มิตช์ แมคคอนเนลล์ สมาชิกวุฒิสภาวัย 82 ปี และชัค เกรสลีย์ สมาชิกวุฒิสภาวัย 90 ปีที่ปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่
และนั่นมันส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้กำหนดอายุหรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้คนบางส่วนโต้แย้งว่าข้อจำกัดดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่กล้าที่จะสนับสนุนผู้สมัครที่มีอายุมากซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน และเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยในการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องอายุของประธานาธิบดี และข้อจำกัดด้านอายุนั้นจะยังคงเป็นที่พูดถึงต่อไป...
ตามผลสำรวจของสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พบว่า พลเมืองที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน 82% และพลเมืองที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต 76% สนับสนุนการกำหนดอายุสูงสุดสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่วนผลสำรวจของสำนักข่าว CBS News เมื่อช่วงต้นปี 2024 พบว่า ชาวอเมริกัน 3 ใน 4 สนับสนุนการกำหนดอายุสูงสุด
ทั้งไบเดนและทรัมป์ต่างก็ไม่สามารถยุติความกังวลเรื่องอายุที่มากขึ้นของพวกเขาได้ แต่ฝ่ายที่ดูจะเสียเปรียบในเกมการเมืองครั้งนี้เห็นทีจะเป็นไบเดนเกี่ยวกับท่าทีของเขาที่ดูเฉื่อยชา เหม่อลอย พูดซ้ำไปซ้ำมา ไหนจะประเด็นเรื่องความจำของเขาที่เริ่มไม่ดีด้วย แถมดีเบตครั้งแรกก็ทำได้ไม่ดี มันจึงยิ่งทำให้คะแนนนิยมของเขาเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนมีกระแสเรียกร้องให้พรรคเดโมแครตเปลี่ยนตัวแคนดิเดตคนใหม่
แต่ไบเดนและพันธมิตรของเขาพยายามจะทำให้ประเด็นเรื่องอายุเยอะเป็นไปในแง่บวก ประมาณว่าถึงจะอายุเยอะแต่มากประสบการณ์
แล้วเรื่องอายุมีความสำคัญแค่ไหนในทางการเมือง? มันเป็นเรื่องซับซ้อน...

“อายุของผู้นำอาจส่งผลต่อประเด็นต่างๆ ที่พวกเขามุ่งเน้น...การควบคุมปืน การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เป็นประเด็นบางส่วนที่ผู้นำอายุเยอะในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญน้อยกว่า”
แดเนียล สต็อกเมอร์ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออตตาวา กล่าว
ตามผลการศึกษาวิจัยของสถาบันเบนเนตต์เพื่อนโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 2020 ระบุว่า คนหนุ่มสาวทั่วโลกไม่พอใจกับระบบประชาธิปไตยมากขึ้น
“ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีมีแนวโน้มที่จะมีอายุเยอะเนื่องจากวิธีการทำงานของระบบการเมืองของสหรัฐฯ...ก็เพราะระบบสองพรรคของสหรัฐฯ ไงล่ะ ผมหมายความว่าคุณต้องทำงานภายในพรรคเพื่อก้าวหน้าไปถึงจุดที่สามารถได้รับการเสนอชื่อได้”
เควิน มังเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต กล่าว
มังเกอร์ตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ได้รับเลือกเมื่ออายุ 47 ปี ความเยาว์วัยของเขาและช่วงเวลาสั้นๆ ในวงการการเมืองระดับชาติทำให้ความสำเร็จของเขาเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ นอกจากนี้ ตามการสำรวจของสำนักวิจัยพิวเมื่อปี 2008 ระบุว่า “สิ่งนี้ยังผลักดันให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นเยาว์เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียงอย่างน่าทึ่ง”
อย่างไรก็ดี การพูดคุยเกี่ยวกับอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเมืองของสหรัฐฯ อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมาทรัมป์ได้ยกประเด็นอายุของไบเดนมาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมเขายังเรียกไบเดนว่า ‘โจผู้ง่วงนอน’
“ชายคนนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมยังมีชีวิตอยู่” ทรัมป์กล่าวขณะหาเสียงในช่วงฤดูร้อนปี 2020 แต่ในวันเกิดปีที่ 78 ของเขาในปีนี้ (ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งผู้นำครั้งแรก) ทรัมป์ก็กลับลำด้วยการโพสต์บนแพลตฟอร์ม ‘Truth Social’ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ว่า “โจ ไบเดน ยังไม่แก่เกินไปที่จะเป็นประธานาธิบดี ไม่ใกล้เคียงเลยด้วยซ้ำ…”
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2024 ไบเดนเองก็ได้โพสต์อวยพรวันเกิดครบรอบ 78 ปีของทรัมป์บนแพลตฟอร์ม X พร้อมทิ้งท้ายว่า “...อายุเป็นเพียงตัวเลข”
ถึงกระนั้นสต็อกเมอร์ยังกล่าวอีกว่า “หน่วยงานทางการเมืองควรเป็นตัวแทนของประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ผู้คนในวัยเดียวกันอาจไม่ได้มีอุดมการณ์หรือความโน้มเอียงทางการเมืองแบบเดียวกันเสมอไป แต่พวกเขาก็มีประวัติศาสตร์เดียวกันและเหตุการณ์โลกเดียวกัน”
“มุมมองของคุณต่อโลกนั้นแตกต่างจากมุมมองที่ปู่ย่าตายายของคุณมีต่อโลก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงควรนำเสนอแนวคิดที่แตกต่างกันเหล่านี้”
สต็อกเมอร์กล่าว
ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ เริ่มใกล้เข้ามาทุกที การที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างแคนดิเดตผู้มีอายุ 80 กว่าปีและ 70 กว่าปีอาจถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์อเมริกา แต่มันก็อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายก็ได้...
คงต้องรอดูต่อไปว่าพฤศจิกายนนี้ พลเมืองอเมริกันจะเลือกฝากอนาคตประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้าไว้กับใคร แต่ไม่ว่าใครจะได้เป็น ทั้ง 2 คนก็จะถูกจารึกเป็นตำนานอยู่แล้วในฐานะผู้นำที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นสุดวาระ