บรรยากาศเจรจาระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนเมื่อคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ค่อนข้างดุเดือดถึงขนาดที่พวกเขาทั้งคู่ ‘ไม่ได้ลงนามข้อตกลงแร่แรร์เอิร์ธ’ ตามที่คุยกันไว้เมื่อวันอังคาร (25 ก.พ.) จนท้ายที่สุดก็จบด้วยการที่เซเลนสกีออกจากทำเนียบขาวกะทันหัน
“มันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากจริงๆ...การโต้เถียงกันในห้องทำงานของทรัมป์นั้น ‘ไม่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย’” เซเลนสกี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Fox News เขาหวังว่าทรัมป์จะสนับสนุนยูเครนมากกว่านี้แทนที่จะพยายามทำหน้าที่เป็นคนกลาง เขาย้ำว่ารัสเซียเป็นฝ่ายเริ่มความขัดแย้งก่อน “ผมอยากให้เขา (ทรัมป์) อยู่เคียงข้างเรามากกว่านี้จริงๆ” เซเลนสกี กล่าว
ขณะที่ทรัมป์บอกว่า “เขากลับมาใหม่ได้เมื่อเขาพร้อมสำหรับสันติภาพ”
ระหว่างการเจรจาของทั้งคู่มีชนวนความขัดแย้งสำคัญหลายจุด และนี่คือ 4 จุดที่มีความรุนแรงที่สุด แถมยังพ่วงด้วยประเด็นทางการเมือง รวมถึงความรู้สึกเบื้องลึกของทรัมป์และเซเลนสกีอีกด้วย
1. อารมณ์ฉุนเฉียวปะทุขึ้นระหว่างเซเลนสกี VS เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

แม้ว่าจะมีการพูดคุยอย่างเป็นกันเองและมีพิธีการเป็นทางการนานครึ่งชั่วโมงในช่วงเริ่มต้น แต่ความตึงเครียดเริ่มปะทุขึ้นในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) เมื่อแวนซ์กล่าวว่า “เส้นทางสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอาจเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการทูต นั่นคือสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังทำ”
เซเลนสกีแย้งขึ้นมาโดยอ้างอิงถึงการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียเมื่อ 3 ปีก่อน รวมถึงการหยุดยิงที่ล้มเหลวในปี 2019 เขากล่าวถึง วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียว่า “ไม่มีใครหยุดเขาได้ คุณกำลังพูดถึงการทูตประเภทไหน เจดี, คุณหมายถึงอะไร”
การเจรจาเริ่มตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด โดยแวนซ์ตอบว่า “ประเภทที่จะยุติการทำลายล้างประเทศของคุณ” จากนั้นแวนซ์ก็กล่าวหาเซเลนสกีว่า ‘ไม่เคารพกัน’
อย่างไรก็ดี การที่แวนซ์ปกป้องแนวทางของทรัมป์ในการยุติสงครามด้วยการเปิดการสื่อสารกับปูตินและผลักดันให้มีการหยุดยิงโดยเร็วเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความตึงเครียดระหว่างเขากับผู้นำยูเครนทวีความรุนแรงมากขึ้น
2. “จงทำให้รัสเซียพอใจ แล้วสงครามจะมาเยือนคุณเอง”
เซเลนสกี

หลังจากที่แวนซ์ท้าทายเซเลนสกีด้วยการพูดถึงปัญหากองทัพและการเกณฑ์ทหาร เซเลนสกีก็ตอบกลับว่า “ในช่วงสงคราม ทุกคนต่างก็มีปัญหา แม้แต่ตัวคุณเอง แต่คุณมีมหาสมุทรที่สวยงาม คุณอาจไม่ได้รู้สึกตอนนี้ แต่คุณจะรู้สึกในอนาคต” ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้ทรัมป์ไม่พอใจจนนำไปสู่การโต้เถียงอย่างดุเดือด
เซเลนสกีแสดงความคิดเห็นว่าทรัมป์ไม่สามารถเข้าใจถึงอันตรายทางศีลธรรมในการจัดการกับผู้รุกรานสงครามได้ ขณะที่ทรัมป์มองว่าสงครามเป็นความขัดแย้งแบบสองขั้วระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายควรแบกรับภาระ หรือรับโทษของตัวเองในการสู้รบ
แต่เซเลนสกีพยายามเตือนถึงผลที่ตามมาอันเลวร้ายจากการคิดแบบนี้ เขาพูดกับทรัมป์ว่า “จงทำให้รัสเซียพอใจ แล้วสงครามจะมาเยือนคุณเอง”
ประโยคนี้จุดชนวนให้ทรัมป์ตอบโต้อย่างรุนแรงที่สุด “อย่ามาบอกเราว่าเราจะรู้สึกอย่างไร คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งการเรื่องนั้นได้” ทรัมป์กล่าวด้วยเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ “ตอนนี้คุณไม่มีไพ่ในมือ คุณกำลังพนันกับชีวิตคนนับล้าน” ทรัมป์ กล่าว
3. “คุณไม่ได้โดดเดี่ยว เราให้เงินคุณไป 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสมัยประธานาธิบดีโง่ๆ คนนั้น...”
ทรัมป์
ในช่วงหนึ่งของการสนทนา เซเลนสกีกล่าวว่า “ตั้งแต่สงครามเริ่มต้น เราอยู่โดดเดี่ยว และเรารู้สึกขอบคุณ” ประโยคนี้ทำให้ทรัมป์โกรธอย่างมาก ซึ่งเขาเคยมองว่าสงครามครั้งนี้เป็นการสูบเงินภาษีของประชาชนชาวอเมริกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“คุณไม่ได้โดดเดี่ยว เราให้เงินคุณไป 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสมัยประธานาธิบดีโง่ๆ คนนั้น (ไบเดน)” ทรัมป์ อ้างถึง โจ ไบเดน
จากนั้นแวนซ์ก็ถามเซเลนสกีว่าได้ขอบคุณสหรัฐฯ แล้วหรือยัง? แล้วกล่าวหาเซเลนสกีว่าหาเสียงให้กับฝ่ายค้านอย่างพรรคเดโมแครตระหว่างการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการอ้างถึงเหตุการณ์ที่เซเลนสกีไปเยือนโรงงานผลิตอาวุธในเมืองสแครนตัน รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ โจ ไบเดน เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ชาวอเมริกันจะมุ่งหน้าไปลงคะแนนเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน
เหตุการณ์เยือนดังกล่าวทำให้พรรครีพับลิกันรู้สึกไม่พอใจ โดยกล่าวหาว่าเซเลนสกีได้เปลี่ยนการเยือนครั้งนั้นให้กลายเป็นกิจกรรมรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในนามของ กมลา แฮร์ริส ในรัฐสมรภูมิ
นี่คือความขัดแย้งอันขมขื่นของการเมืองภายในที่แบ่งแยกกันของอเมริกาซึ่งหลั่งไหลเข้ามาในช่วงเวลาสำคัญ “ได้โปรดเถอะ ถ้าคุณคิดว่าจะพูดแค่เรื่องสงครามออกมาด้วยเสียงดังๆ” เซเลนสกี พูด แต่ทรัมป์กลับขัดจังหวะเขา และโต้กลับด้วยความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดว่า “ประเทศของคุณกำลังประสบปัญหาใหญ่ คุณไม่ได้ชนะ คุณยังมีโอกาสที่ดีที่จะออกจากสงครามแบบที่สถานการณ์ยังโอเคอยู่ เพราะพวกเรา”
4. “แค่พูดคำว่า ‘ขอบคุณ’” - แวนซ์

“การทำข้อตกลงแบบนี้จะเป็นเรื่องยากมาก มันจะเป็นข้อตกลงที่ยากจะทำได้ เพราะทัศนคติจะต้องเปลี่ยน” ทรัมป์ กล่าว ทั้งทรัมป์ และแวนซ์ต่างตำหนิเซเลนสกี “แค่พูดคำว่า ‘ขอบคุณ’” แวนซ์ กล่าว
เซเลนสกีบอกว่า เขาใช้เวลา 3 ปีในการปกป้องประเทศของเขาจากการรุกราน ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสังคมและผู้นำทางการเมืองเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งปูตินพยายามที่จะแยกออกจากกัน
แต่จากภาพที่กล้องหลักจับภาพได้ มีภาพอีกภาพหนึ่งในห้องนั้นนั่นก็คือ ภาพของ โอกซานา มาร์กาโรวา เอกอัครราชทูตของยูเครนประจำกรุงวอชิงตันที่กำลังทำท่ากุมขมับระหว่างที่การโต้เถียงทวีความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นภาพสรุปจุดยืนทางการทูตของเซเลนสกี อีกทั้งการยืนหยัดโต้เถียงกับทรัมป์ยังอาจหมายถึง ‘การพ่ายแพ้ต่อปูติน’ ในที่สุด
(Photo by SAUL LOEB / AFP)