เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มี ‘โกง’ กันไหม?

24 ต.ค. 2567 - 10:03

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว เมื่อพูดถึงฤดูการเลือกตั้งทีไร 2 คำนี้เป็นต้องโผล่มาทุกที ทุจริต VS โปร่งใส

  • แต่คำว่า ‘ทุจริต’ การเลือกตั้งมีในพจนานุกรมของอเมริกาไหม? เขาโกงการเลือกตั้งกันได้หรือเปล่า?

how-we-know-voter-fraud-is-very-rare-in-us-elections-SPACEBAR-Hero.jpg

นับถอยหลังอีกแค่ 1 สัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น การเลือกตั้งผู้นำครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกต่างจับตามองในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ใกล้เข้ามาขึ้นทุกทีแล้ว อีกไม่กี่วันสหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของประเทศ ผู้ที่จะมากำหนดทิศทางนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อโลก 

แต่เคยสงสัยไหมว่าเลือกตั้งใหญ่ระดับนี้จะมี ‘การโกง’ เกิดขึ้นไหม? เพราะขนาดคนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังกังวลเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งในปีนี้เลย 

ผลสำรวจใหม่ของโพลหลายสำนักระบุว่า ความกังวลส่วนใหญ่เริ่มมาจากพรรครีพับลิกัน หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และพันธมิตรภายในพรรคแสดงความสงสัยเกี่ยวกับความชอบธรรมของการเลือกตั้งสหรัฐฯ มานานหลายปี 

แต่การโกงเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ‘ยาก’

หากถามว่า ‘การโกง’ เลือกตั้งสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นได้ไหม? คำตอบก็คือ มันเกิดขึ้นได้ ‘น้อย’ และ ‘ยากมาก’ นั่นก็เพราะระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ได้รับการออกแบบให้มีมาตรการป้องกันหลายชั้นสามารถตรวจจับได้ ใครก็ตามที่คิดจะโกง เช่น : 

  • ลงคะแนนเสียงหลายใบ 
  • ลงคะแนนให้คนอื่น หรือลงคะแนนในนามของญาติที่ตายไปแล้ว 
  • การปลอมแปลงบัตรลงคะแนน 
  • การโกหกที่อยู่เพื่อลงคะแนนเสียงที่อื่น  

ไม่ว่าใครที่ทำการทุจริตก็มักจะถูกจับได้ รวมถึงถูกดำเนินคดีมีโทษปรับมหาศาลและจำคุก แต่ถ้าพลเมืองที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งก็อาจถูกเนรเทศ

“การวิจัยอย่างต่อเนื่องพบว่า การทุจริตเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นได้ ‘ยากมาก’ และแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในระดับที่ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งเลย”

อลิซ แคลปแมน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสิทธิการออกเสียงแห่งสถาบันกฎหมาย ‘Brennan Center for Justice’ กล่าว

การเลือกตั้งของอเมริกามีการกระจายอำนาจ และมีเขตอำนาจศาลที่เป็นอิสระหลายพันแห่ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการโกงเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่ทำให้พลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือการเลือกตั้งอื่นๆ ได้ 

มาตรการป้องกัน ‘การทุจริต’ เลือกตั้ง...

-สำหรับการลงคะแนนเสียงด้วยตัวเอง- 

รัฐส่วนใหญ่จะกำหนดให้ผู้ลงคะแนนต้องแสดงบัตรประจำตัวที่หน่วยเลือกตั้ง ขณะที่รัฐ อื่นๆ จะกำหนดให้ผู้ลงคะแนนต้องยืนยันตัวตนด้วยวิธีอื่น เช่น แจ้งชื่อและที่อยู่ หรือลงนามในสมุดลงคะแนน 

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนไหนที่พยายามลงคะแนนเสียงในนามของเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวที่เพิ่งเสียชีวิตอาจถูกจับกุมได้ เพราะเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งจะอัปเดตรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากบันทึกการเสียชีวิตและใบมรณบัตร 

-การลงคะแนนเสียงล่วงหน้า- 

รัฐต่างๆ จะมีขั้นตอนการตรวจสอบบัตรลงคะแนนที่แตกต่างกัน ทุกๆ รัฐจะกำหนดให้ต้องมีลายเซ็นของผู้ลงคะแนน ขณะที่หลายรัฐก็มักจะมีมาตรการป้องกันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น : 

  • การให้ทีมงานที่มาจากทั้งสองพรรคเปรียบเทียบลายเซ็นกับลายเซ็นอื่นๆ ในเอกสาร และกำหนดให้มีการรับรองลายเซ็น หรือกำหนดให้มีพยานลงนาม 
  • นั่นหมายความว่าถึงแม้ว่าบัตรลงคะแนนจะถูกส่งไปยังที่อยู่เดิมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างผิดพลาดและผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันได้ส่งไปทางไปรษณีย์ก็ตาม ก็ยังจะมีการตรวจสอบเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งทราบถึงการกระทำที่ไม่สุจริต 

นอกจากนี้ หลายรัฐยังเสนอให้มีเครื่องมือติดตามบัตรลงคะแนนแบบออนไลน์หรือแบบข้อความ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เพิ่มการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ช่วยให้ผู้ลงคะแนนรู้ว่าบัตรลงคะแนนของตัวเองถูกส่งออก ส่งคืน และนับคะแนนเมื่อใด 

กฎหมายรัฐบาลกลางกำหนดให้ต้องมีการดูแลรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่หลากหลายวิธี ตั้งแต่การตรวจสอบฐานข้อมูลของรัฐและของรัฐบาลกลาง ไปจนถึงการร่วมมือกับรัฐอื่นๆ เพื่อติดตามผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ย้ายที่อยู่ 

-กล่องลงคะแนนเสียงก็มีมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยเช่นกัน-

“กล่องเหล่านี้มักได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาขโมยบัตรลงคะแนน และมีกล้องวงจรปิดคอยเฝ้าติดตาม ยึดติดกับพื้น และสร้างด้วยวัสดุทนไฟ ดังนั้นหากมีใครจุดไฟ บัตรลงคะแนนที่อยู่ข้างในก็จะไม่ถูกทำลาย” แทมมี แพทริก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการจากสมาคมเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งแห่งชาติ กล่าว

“รัฐต่างๆ มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากในการตรวจจับการทุจริตเลือกตั้ง และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าการโกงเลือกตั้งมีโทษร้ายแรง”

แคลปแมน กล่าว

ทว่าการทุจริตการเลือกตัั้งแทบจะ ‘ไม่ได้ส่งผลกระทบ’ ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี

how-we-know-voter-fraud-is-very-rare-in-us-elections-SPACEBAR-Photo01.jpg

หากจะบอกว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่เคยมีเหตุทุจริตเกิดขึ้นเลยก็คงจะไม่ใช่ เพราะมันเคยเกิดขึ้น แต่มันแทบไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งเลยต่างหาก 

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มีการลงคะแนนเสียงมากกว่าหลายล้านเสียง จึงแทบจะรับประกันได้เลยว่ามีคนพยายามโกงระบบการเลือกตั้งอยู่บ้าง อีกทั้งยังมีเคสที่จะพยายามแอบแฝงอีกมากมาย เช่นโครงการซื้อเสียงปี 2006 ในรัฐเคนตักกี 

“ในกรณีนั้น ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้ร้องเรียนจนเกิดการสอบสวนขึ้น จากนั้น ผู้เข้าร่วมขบวนการก็ยอมรับในสิ่งที่พวกเขาทำ...ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งที่จะต้องเฝ้าระวังและปรับปรุงความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้สึกมั่นใจ” เทรย์ เกรย์สัน อดีตเลขาธิการรัฐเคนตักกี้และประธานคณะที่ปรึกษาโครงการ ‘Secure Elections’ จากพรรครีพับลิกัน กล่าว 

การทำให้โครงการซื้อเสียงประสบความสำเร็จในระดับที่ใหญ่กว่านั้นเป็นเรื่อง ‘ยาก’ เพราะผู้ฉ้อโกงจะต้องหาทางจัดการกับรายละเอียดที่ซับซ้อนในระบบการเลือกตั้งของแต่ละมณฑล นอกจากนี้ พวกเขายังต้องปิดปากผู้คนจำนวนมากไม่ให้พูดถึงกลโกงดังกล่าวที่อาจถูกเจ้าหน้าที่หรือผู้สังเกตการณ์จับได้ทุกเมื่อ

ถึงโกงได้ก็ไม่กระทบผลการเลือกตั้ง...

แม้แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ระหว่าง โจ ไบเดน และทรัมป์ ซึ่งมีการพูดถึงบนโลกออนไลน์ถึงประเด็นที่มีรายชื่อผู้เสียชีวิตไปลงคะแนนเสียง การลงคะแนนซ้ำ หรือการทำลายกองบัตรลงคะแนนข้างถนน 

สำนักข่าว AP ได้ทำการสืบสวนการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นทุกกรณีใน 6 รัฐซึ่งเป็นสมรภูมิเลือกตั้งที่ทรัมป์ออกมาโต้แย้ง แล้วพบว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงไม่ถึง 475 คนจากจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมดหลายล้านคน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะพลิกผลการเลือกตั้งให้ชนะไบเดนจากพรรคเดโมแครตที่ได้คะแนนเสียงรวมกันทั้ง 6 รัฐที่ 311,257 คะแนน

“กระบวนการเลือกตั้งแบบกระจายอำนาจนี้เองที่เป็นตัวยับยั้งกลโกง...ระบบการเลือกตั้งของคุณอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่หากคุณกำลังมองหาระบบการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ ระบบเลือกตั้งในอเมริกาน่าจะสร้างความมั่นใจให้คุณได้”

เกรย์สัน กล่าว

Photo by SAUL LOEB / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์