1 เดือนผ่านไปสำหรับสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่มีแนวโน้มแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน เมื่อกองกำลังอิสราเอลไม่สนใจเสียงเรียกร้องให้หยุดยิงจากนานาชาติ ทั้งยังเดินหน้าบุกเข้าใจกลางกาซาซิตี้แล้ว ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นบุกไปที่ตัวอุโมงค์ลับใต้ดินของฮามาสมากขึ้นด้วย
แม้จะดูเหมือนได้เปรียบ ทว่าการบุกเครือข่ายอุโมงค์ขนาดยาวกว่า 100 กิโลเมตรครั้งนี้ดูจะเป็นงานหินของอิสราเอล เพราะการต่อสู้ในอุโมงค์นั้นมีลักษณะคล้ายกับการต่อสู้ในน้ำ เนื่องจากระบบเฝ้าระวังและนำทางจะไม่ทำงานเมื่อลงไปใต้ดิน ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิตมากขึ้นขณะที่เข้าบุกโจมตีในอุโมงค์ใต้ดินอันน่าสะพรึงกลัว
แต่คำถามก็คือ นอกจากระเบิดฟองน้ำ (sponge bomb) ที่จะใช้ปิดตายอุโมงค์ฮามาสนี้แล้ว
‘กองกำลังอิสราเอลจะปฏิบัติการสู้รบในอุโมงค์ยังไงอีกบ้าง?’ ต่อไปนี้เป็นปฏิบัติการที่อิสราเอลอาจนำมาใช้ในการจัดการกับอุโมงค์ฮามาส
(อาจ) ใช้แนวคิดขุดอุโมงค์ตอบโต้ฮามาส

การขุดอุโมงค์เพื่อจุดประสงค์ทางทหารเป็นแนวคิดตั้งแต่สมัยที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ครั้งแรกและขุดต่อเรื่อยมา จนกระทั่งมีการประดิษฐ์ดินปืน อุโมงค์ต่างๆ จึงถูกใช้เพื่อเป็นทางลับเข้าไปในปราสาทที่ได้รับการป้องกันหรือออกจากเมืองที่ถูกปิดล้อม ซึ่งตัวดินปืนนี่แหละที่ทำให้ผู้ขุดอุโมงค์สามารถจุดชนวนระเบิดขนาดใหญ่ภายใต้ตำแหน่งของศัตรูได้
แต่แนวคิดนี้สิ้นสุดลงในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออังกฤษและเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันตก รวมถึงอิตาลีและออสเตรีย-ฮังการีในเทือกเขาแอลป์ต่างก็ขุดอุโมงค์สู้กลับ โดยระเบิดมากกว่า 1,000 ตันในคราวเดียวสำหรับการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด
แม้ว่าการขุดอุโมงค์จะลดลงในหมู่กองทัพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็พบว่ามันถูกนำมาใช้ในการทำสงครามแบบอสมมาตร (asymmetrical warfare / สงครามที่คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายมีกำลังไม่เท่ากัน) ยกตัวอย่างเช่น จีนใช้อุโมงค์เพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1930
ขณะที่ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตระหนักได้ถึงประสิทธิภาพของกองกำลังตัวเอง จึงเริ่มขุดตอบโต้โดยใช้เทคนิคการป้องกันสมัยใหม่ขุดเป็นอุโมงค์อย่างกว้างขวางเพื่อปกป้องหมู่เกาะแปซิฟิกที่ถูกยึดครองจากการรุกรานของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้นาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตรมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
แน่นอนว่าต้องใช้กองกำลังที่ชำนาญรบใต้ดินเป็นพิเศษ
ทุกประเทศหรือกองทัพที่ต้องต่อสู้กับศัตรูโดยใช้อุโมงค์จะตระหนักได้อย่างรวดเร็วว่าทหารประจำการนั้นแทบจะไร้ประโยชน์สำหรับงานนี้ เพราะพวกเขาไม่ใช่นักขุดที่ได้รับการฝึกฝนมา ประกอบกับทหารหลายคนรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มืดมิด ชื้นและมีอากาศไม่ดี จนกระทั่งในปี 1914 อังกฤษจึงเริ่มจ้างคนงานเหมืองและฝึกอบรมพวกเขาให้ทำหน้าที่ทางทหาร
จากนั้นอังกฤษจึงสร้างกองทหารไก่แจ้พิเศษ (Bantam troops) ขึ้นมาซึ่งประกอบด้วยทหารที่มีรูปร่างเตี้ยสูงไม่เกิน 160 ซม. ซึ่งก็พบว่าพวกเขาทำหน้าที่ในอุโมงค์ใต้ดินได้ดีกว่ากองทหารทั่วไป
ในช่วงปี 2000-2005 ที่เกิด ‘Intifada’ (การลุกฮือ) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสขับไล่อิสราเอลออกจากพื้นที่ตัวเอง (เวสต์แบงก์และกาซา) เพื่อสร้างรัฐปาเลสไตน์แท้ๆ ขณะที่อิสราเอลเองก็ค้นพบและศึกษาอุโมงค์ฮามาสเป็นครั้งแรกจึงตระหนักได้ว่าอันตรายจากสงครามใต้ดินจะเพิ่มขึ้น พวกเขาจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างหน่วยรบที่เหมาะกับบทบาทนี้นั่นก็คือ ‘วิศวกรการรบ หรือหน่วยทหารจู่โจม’ ที่รู้จักกันในชื่อ ‘ยาฮาลอม’ (Yahalom)
อย่างไรก็ดี ในปี 2004 กองกำลังพังพอน หรือวีเซิล (Weasels / ซามูร์) หน่วยคอมมานโดสงครามอุโมงค์หน่วยแรกของอิสราเอลได้ปรากฏตัวขึ้น ซึ่งได้รับการฝึกเทคนิคโจมตีนอกเครื่องแบบโดยหน่วยคอมมานโดซาเยเรต มัตคาล (Sayeret Matkal) และแน่นอนว่ากองกำลังวีเซิลจะเป็นกองทหารอิสราเอลกลุ่มแรกที่บุกโจมตีอุโมงค์ฮามาส
ใช้หุ่นยนต์ และสุนัขดมกลิ่นช่วย
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเผยว่า กองกำลังภาคพื้นดินอิสราเอลพยายามรวบรวมข่าวกรองเครือข่ายอุโมงค์เพิ่มเติม โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปข้างใน ด้วยการใช้หุ่นยนต์ภาคพื้นดินไร้คนขับ ‘IRIS’ ขนาดเล็กลงไปก่อนเพื่อสำรวจอุโมงค์โดยมีเซ็นเซอร์พิเศษตรวจจับวัตถุและผู้คน นอกจากนี้ยังใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อค้นหาทางเข้าอุโมงค์ สำรวจพื้นที่ภายในอุโมงค์ รวมถึงโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮามาสด้วยการกัดแขน
ชาลอม เบน ฮานัน อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงหน่วยรักษาความปลอดภัยชินเบต (Shin Bet security service) เผยว่า “ปฏิบัติการในเครือข่ายอุโมงค์อาจจะต้องดำเนินการอย่างช้าๆ เนื่องจากเราเชื่อว่ามีตัวประกันชาวอิสราเอลอยู่ที่นั่น”
“การต่อสู้ในอุโมงค์จะเป็นความท้าทายทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากต้องปฏิบัติการด้วยระยะการมองเห็นที่สั้นมาก…การระบุและติดตามทั้งศัตรู รวมถึงกองกำลังฝ่ายเดียวกันเป็นเรื่องยาก ประกอบกับกองกำลังก็แยกออกจากกันได้ง่าย การเคลื่อนไหวก็อยู่ในวงแคบและมีข้อจำกัดสูง”
— พลจัตวาเบน แบร์รี ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามแห่งสถาบันคลังสมองระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (IISS think tank)
ทว่ากลยุทธ์การปิดล้อมฉนวนกาซาของอิสราเอลอาจบังคับต้อนให้กลุ่มฮามาสออกจากอุโมงค์กลับขึ้นสู่ด้านบน เนื่องจากเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟที่ให้แสงสว่างและอากาศในใต้ดินอาจหมดลงก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม