โลกส่งสัญญาณอะไร? เมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้นจนพายุรุนแรงทะลุขีดความรุนแรงสูงสุด

3 ก.ค. 2567 - 09:29

  • พายุเฮอริเคนเบริล (Hurricane Beryl) ที่พัดถล่มพื้นที่ทางตะวันออกของแคริบเบียนได้ทวีความรุนแรงเป็นพายุระดับ 5 ซึ่งเป็นลูกแรกของปี 2024

  • พายุทวีความรุนแรงไปเป็นระดับ 5 อย่างรวดเร็วที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ เคยบันทึกไว้

  • นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้พายุรุนแรงขึ้นไหม?

hurricanes-are-intensifying-rapidly-this-is-what-it-could-mean-SPACEBAR-Hero.png

พายุเฮอริเคนเบริล (Hurricane Beryl) ที่พัดถล่มพื้นที่ทางตะวันออกของแคริบเบียนได้ทวีความรุนแรงเป็นพายุระดับ 5 ซึ่งเป็นลูกแรกของปี 2024 เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย และคาดว่าในวันพุธ (3 ก.ค.) พายุจะพัดเข้าจาเมกาซึ่งอาจทำให้คลื่นสูงกว่าปกติอยู่ที่ 1.5-2.4 เมตร และเกิดน้ำท่วมได้ ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูพายุเฮอริเคนที่รุนแรง 

เฮอริเคนเบริลทวีความรุนแรงไปเป็นพายุระดับ 5 อย่างรวดเร็วที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ เคยบันทึกไว้ และนั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

พายุลูกนี้มีลักษณะพิเศษหลายประการ : 

  • ทวีความรุนแรงขึ้นจากพายุดีเปรสชันเขตร้อนเป็นพายุเฮอริเคนที่รุนแรงระดับ 3 ขึ้นไปภายในเวลาเพียง 42 ชั่วโมง 
  • และถูกจัดให้เป็นพายุระดับ 4 ภายใน 48 ชั่วโมง 
  • ก่อนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 ขณะมุ่งหน้าสู่จาเมกา

“การที่พายุมีความรุนแรงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ในช่วงต้นฤดูกาลในบริเวณนี้ของมหาสมุทรแอตแลนติกถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก”

อเล็กซ์ ดาซิลวา นักพยากรณ์พายุเฮอริเคนชั้นนำของบริษัทสื่อแอคคิวเวเทอร์ (AccuWeather) บอกกับสำนักข่าว BBC News

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเกรงว่านี่อาจเป็นสัญญาณที่ ‘น่าตกใจ’ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อฤดูพายุดำเนินต่อไป

hurricanes-are-intensifying-rapidly-this-is-what-it-could-mean-SPACEBAR-Photo01.png
Photo: Photo by JOE RAEDLE / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP

ตามข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า การมาเยือนของพายุเฮอริเคนที่มีความรุนแรงดังกล่าวในเดือนมิถุนายนนั้นเกิดจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงผิดปกติ โดยความร้อนของทะเลรอบๆ แคริบเบียนนั้นใกล้เคียงกับระดับที่พบเห็นในช่วงกลางเดือนกันยายนมากกว่าช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นทุบสถิติมาเป็นเวลา 1 ปีกว่า 

พายุเฮอริเคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุดทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการคาดการณ์และเตรียมตัวรับมือ 

ในปี 2023 พายุเฮอริเคนลี (Hurricane Lee) ได้พัดพาคลื่นลูกใหญ่และลมกระโชกแรงเข้าถล่มหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญพบว่าพายุลูกนี้เปลี่ยนแปลงและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึงจนกลายเป็นพายุที่มีความรุนแรงสูงสุดระดับ 5 และด้วยระดับความรุนแรงของพายุเฮอริเคนที่อันตรายนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากมหาสมุทรทั่วโลกเริ่มอุ่นขึ้น 

พายุเฮอริเคนที่พัดแรงถึง 258 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2023 เป็นพายุระดับ 1 แต่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 5 โดยเพิ่มความเร็วขึ้นอีก 137 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งนักอุตุนิยมวิทยาบอกว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์ที่หายาก’ ตามข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ได้นิยามการทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วอยู่ที่ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงเวลาหนึ่งวัน ซึ่งเฮอริเคนลีเกินจากที่กำหนดไว้มาก 

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มหาสมุทรแอตแลนติกเคยเผชิญหน้ากับพายุเฮอริเคนเพียง 2 ลูกเท่านั้นที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ได้แก่ 

  • เฮอริเคนเฟลิกซ์ (Hurricane Felix) ในปี 2007 
  • เฮอริเคนวิลมา (Hurricane Wilma) ในปี 2005

และมีเพียง 4.5% ของพายุในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ได้รับการตั้งชื่อเท่านั้นที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นพายุระดับ 5 ในทศวรรษที่ผ่านมา 

ในปี 2023 นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศบางคนถึงกับตกตะลึง ไม่ใช่แค่ความรุนแรงอย่างกะทันหันของเฮอริเคนลี และอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังรวมถึงช่วงที่ความรุนแรงของพายุเฮอริเคนโจวา (Hurricane Jova) พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพายุระดับ 5 ขณะที่มันเคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกในเวลาเดียวกันกับที่เฮอริเคนลีกำลังก่อตัวขึ้น พายุใหญ่ 2 ลูกนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อฤดูเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐฯ ถึงจุดสูงสุดในวันที่ 10 กันยายน 2023 

“พายุเฮอริเคนขนาดใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากเป็นเพียงวิธีที่พวกมันก่อตัว แต่ก็น่าแปลกใจเป็นพิเศษที่เฮอริเคนทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ” ฮิว วิลลัฟบี ศาสตราจารย์วิจัยที่ศูนย์วิจัยพายุเฮอริเคนแห่งชาติของมหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดากล่าว 

วิลลัฟบีเสริมอีกว่า “สิ่งที่เราต้องกังวลคือพายุที่กลายเป็นเฮอริเคนที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นและสร้างความเสียหายมากขึ้น”

hurricanes-are-intensifying-rapidly-this-is-what-it-could-mean-SPACEBAR-Photo02.png
Photo: Photo by OMAR TORRES / AFP / ความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแพทริเซียบริเวณเมืองบาร์รา เดอ นาวิดัด รัฐฮาลิสโกในเม็กซิโกเมื่อปี 2015

นอกจากนี้ยังมีพายุเฮอริเคนแพทริเซีย (Hurricane Patricia) ซึ่งพัดถล่มในปี 2015 ถือเป็นพายุเฮอริเคนที่พัดขึ้นฝั่งในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ แถมยังเป็นพายุที่มีความเร็วลมแรงที่สุดด้วยอยู่ที่ 345 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่ามีผู้เสียชีวิตเป็น 0 

แล้วก็มีพายุเฮอริเคนมารีอา (Hurricane Maria) ซึ่งเป็นพายุระดับ 5 ก็ได้พัดถล่มทะเลแคริบเบียนตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2017 คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 4,600 รายในเปอร์โตริโกเพียงแห่งเดียว ส่งผลให้ไฟฟ้าดับ ถนนชำรุด และบริการน้ำประปาขัดข้อง นับเป็นพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มประเทศนี้ในรอบศตวรรษ 

ส่วนพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกคือ พายุเฮอริเคนอัลเลน (Hurricane Allen) ในปี 1980 คร่าชีวิตเกือบ 300 รายในเฮติ และมีความเร็วลมถึง 306 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

อย่างไรก็ดี ความเสียหายทางเศรษฐกิจและภัยพิบัติมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่เกิดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น

และเป็นพายุเฮอริเคนแคทรีนา (Hurricane Katrina) ที่ยังคงเป็นพายุเฮอริเคนที่สร้างความเสียหายสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในปี 2005 ซึ่งทำลายบ้านเรือนไปกว่า 800,000 หลัง เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรัฐลุยเซียนา และคาดว่าทำให้สหรัฐฯ สูญเสียเงิน 193,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.1 ล้านล้านบาท)

แม้ว่ามหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือจะมีพายุเฮอริเคนพัดผ่านเป็นจำนวนมาก แต่แอ่งพายุหมุนเขตร้อนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งพบว่าบริเวณนี้มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่อบอุ่นกว่า และนั่นแหละที่เป็นสิ่งที่พายุหมุนต้องการเพื่อให้เคลื่อนตัวได้ดี  

พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาทั่วโลก ซึ่งวัดจากความกดอากาศที่ศูนย์กลางของพายุ คือ ไต้ฝุ่นทิป (Typhoon Tip) ในปี 1979 มีความเร็วลมที่ 306 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คร่าชีวิตผู้คนไป 99 ราย ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น 

ถึงกระนั้น แม้ว่านักวิทยาศาสตร์บางคนจะบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะเชื่อมโยงอุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นกับการเพิ่มขึ้นของพายุเฮอริเคนและพายุไซโคลน (ประเภทพายุขึ้นอยู่กับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์) แต่ระดับน้ำที่อุ่นขึ้นก็ทำให้ความเร็วลมแรงขึ้น ทำให้พายุเหล่านี้อันตรายมากขึ้นหากพัดขึ้นฝั่ง

“ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าพายุที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถือเป็นแนวโน้มหรือไม่...อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่อุ่นขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ไปเพิ่มความรุนแรงของพายุเฮอริเคน เราคาดว่าจะมีพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น และกำลังพบเห็นอยู่ในขณะนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พายุเฮอริเคนมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในสภาพภูมิอากาศปัจจุบันมากกว่าในปีที่ผ่านมา”

จอร์แดน เกิร์ธ นักอุตุนิยมวิทยาวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอวกาศในวิสคอนซินกล่าว

แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลทำให้พายุเฮอริเคนรุนแรงขึ้นหรือไม่?

hurricanes-are-intensifying-rapidly-this-is-what-it-could-mean-SPACEBAR-Photo03.png
Photo: Photo by Francesco SPOTORNO / AFP

การประเมินอิทธิพลที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพายุหมุนเขตร้อนแต่ละลูกเป็นเรื่องท้าทาย พายุเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะที่และเกิดขึ้นไม่นาน และอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากในทุกกรณี 

แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อพายุเหล่านี้ในหลายกรณี 

  • ประการแรก น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นหมายถึงพายุจะทรงพลังมากขึ้นส่งผลให้ลมมีความเร็วมากขึ้น การคาดการณ์ว่าจะมีพายุเฮอริเคนใหญ่ในมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่าง 4-7 ลูกในปี 2024 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแอตแลนติกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวเป็นสาเหตุหลัก 
  • ประการที่สอง บรรยากาศที่อบอุ่นสามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้มากขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากขึ้น ยกตัวอย่างพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ (Hurricane Harvey) ในปี 2017 ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงทำให้เกิดฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง และความจริงที่ว่าน้ำทะเลอุ่นได้กินพื้นที่มากขึ้นก็มีส่วนเช่นกัน นั่นหมายความว่าคลื่นพายุที่ซัดเข้าชายฝั่งเกิดขึ้นทับซ้อนกับระดับน้ำทะเลที่สูงอยู่แล้ว จึงทำให้น้ำท่วมชายฝั่งรุนแรงขึ้น 

ตัวอย่างเช่น มีการประมาณการว่าความสูงของน้ำท่วมจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาในปี 2005 ซึ่งเป็นหนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ สูงกว่าระดับที่ควรจะเป็นถึง 15-60% เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดพายุเฮอริเคนกัลเวสตัน (Galveston hurricane) ในปี 1900

“มนุษย์มีส่วนทำให้ปริมาณน้ำฝนที่เกี่ยวข้องกับพายุหมุนเขตร้อนเพิ่มขึ้น และมนุษย์มีส่วนทำให้พายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น”

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) สรุป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์