ความตึงเครียดที่ยืดเยื้อระหว่างอินเดียและปากีสถานที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในวันพุธ (7 พ.ค.) หลังจากอินเดียเปิดฉากโจมตีอย่างรุนแรงในดินแดนของปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย ในเวลาต่อมา ปากีสถานเผยว่าได้เริ่มตอบโต้กลับแล้ว
อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีพลเรือนในแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย แต่ทางการปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ หลังจากนั้นทั้งสองประเทศต่างก็ยิงปะทะกันในพื้นที่แคชเมียร์ ขับไล่พลเมืองของกันและกัน และสั่งปิดพรมแดน
นับตั้งแต่เหตุโจมตีในเดือนเมษายน ทหารของทั้งสองฝ่ายได้ยิงปะทะกันข้ามเส้นควบคุม ซึ่งเป็นพรมแดนโดยพฤตินัยในแคชเมียร์ที่มีข้อพิพาท และเป็นเขตที่มีการเสริมกำลังอย่างแน่นหนาในเทือกเขาหิมาลัย
ทั้งอินเดียและปากีสถานเคยขัดแย้งกันหลายครั้ง ตั้งแต่การปะทะขนาดเล็กไปจนถึงสงครามเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่การแบ่งแยกประเทศในปี 1947
ไทม์ไลน์ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย VS ปากีสถาน...
-1947 : สงครามครั้งแรกในแคชเมียร์-
การปกครองของอังกฤษที่กินเวลานาน 2 ศตวรรษสิ้นสุดลงในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 โดยอนุทวีปนี้ถูกแบ่งออกเป็นอินเดียที่ปกครองโดยชาวฮินดูเป็นส่วนใหญ่ และปากีสถานที่ปกครองโดยชาวอิสลามเป็นส่วนใหญ่
การแบ่งประเทศที่ขาดการเตรียมการอย่างเหมาะสมได้นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งอาจคร่าชีวิตผู้คนไปกว่าล้านคน และทำให้ผู้คนอีก 15 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน
เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์ลังเลว่าจะเข้าร่วมกับอินเดียหรือปากีสถานดี หลังจากการปราบปรามการลุกฮือต่อต้านการปกครองของพระองค์ กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถานก็เข้าโจมตี ทำให้เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์ไปขอความช่วยเหลือจากอินเดีย นำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างสองประเทศ
กระทั่งในเดือนมกราคม 1949 สหประชาชาติ (UN) ก็กำหนดเส้นหยุดยิงยาว 770 กิโลเมตร และแบ่งแคชเมียร์ออกเป็นสองส่วน
-1965 : สงครามครั้งที่ 2 ในแคชเมียร์-
ปากีสถานเปิดฉากสงครามครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 1965 ด้วยการบุกแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนก่อนจะมีการเจรจาหยุดยิงในเดือนกันยายนโดยมีสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ เป็นคนกลาง
การเจรจาเกิดขึ้นที่เมืองทาชเคนต์ดำเนินไปจนถึงเดือนมกราคม 1966 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงคืนดินแดนที่ยึดได้ระหว่างสงครามและถอนฐานทหารกลับ
-1971 : สงครามเหนือปากีสถานตะวันออก-
ในปี 1971 ปากีสถานส่งทหารไปปราบปรามขบวนการเรียกร้องเอกราชในพื้นที่ (ที่ปัจจุบันคือบังกลาเทศ) ซึ่งปากีสถานปกครองมาตั้งแต่ปี 1947 ในชื่อ ‘ปากีสถานตะวันออก’
ขณะเดียวกัน ทางอินเดียก็เข้าแทรกแซงสงครามเพื่อเอกราชของปากีสถานตะวันออกส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3 ล้านคนจากความขัดแย้งที่กินเวลานานตลอด 9 เดือนนี้ แต่สุดท้ายจบลงด้วยการที่ดินแดนดังกล่าวแยกตัวออกมาเป็นประเทศใหม่นั่นก็คือ ‘บังกลาเทศ’
-1972 : ลงนามสันติภาพ (?)-
อินเดียและปากีสถานลงนามในข้อตกลงสันติภาพ โดยเปลี่ยนชื่อเส้นหยุดยิงในแคชเมียร์เป็น ‘เส้นควบคุม’ (Line of Control) ทั้งสองฝ่ายต่างเสริมกำลังทหารตามแนวชายแดน ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแนวป้อมปราการทางทหารที่แน่นหนา
-1989-1990 : เหตุจราจลในดินแดนแคชเมียร์-
ปี 1989 เกิดการลุกฮือในแคชเมียร์จากความไม่พอใจต่อการปกครองของอินเดีย เป็นเหตุให้ทั้ง ทหาร กบฏ และพลเรือนเสียชีวิตนับหมื่นในทศวรรษต่อมา ซึ่งอินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าให้ทุนสนับสนุนกลุ่มกบฏและช่วยฝึกอาวุธ
-1999 : สงครามที่คาร์กิล-
กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถานเข้ายึดฐานทัพอินเดียในภูเขาคาร์กิล (Kargil) ด้วยการแทรกซึมเข้าไปในแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง นับเป็นการปะทะกันครั้งแรกนับตั้งแต่ทั้งสองประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามหายนะ อีกทั้งทั้ง 2 ฝ่ายยังสูญเสียทหารไปหลายร้อยชีวิต
การสู้รบกินเวลานาน 10 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 คน จนทั่วโลกวิตกว่าความขัดแย้งอาจลุกลามเป็นสงครามนิวเคลียร์ แต่ท้ายที่สุด ปากีสถานต้องยอมถอย หลังจากถูกสหรัฐฯ กดดันอย่างหนัก และเข้ามาไกล่เกลี่ยจนยุติการสู้รบได้
-2016 : การโจมตีภูมิภาคอูรี-
กลุ่มก่อการร้ายแอบเข้าไปในฐานทัพทหารในแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง ทำให้ทหารเสียชีวิตอย่างน้อย 18 นาย อินเดียตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังพิเศษเข้าไปในดินแดนที่ปากีสถานยึดครอง และต่อมาอ้างว่าได้สังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกบฏหลายรายด้วย ‘การโจมตีแบบเจาะจง’ (มุ่งไปที่เป้าหมายทางทหารเท่านั้น / (surgical strikes)
ขณะที่ปากีสถานปฏิเสธว่าไม่มีการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์นี้นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงที่ชายแดนต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้ทั้งผู้สู้รบและพลเรือนจากทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต
-2019 : การโจมตีที่เมืองปูลวามา-
ทั้งสองฝ่ายเกือบจะทำสงครามกันอีกครั้ง หลังจากกลุ่มกบฏชาวแคชเมียร์ใช้รถยนต์บรรทุกวัตถุระเบิดพุ่งชนรถบัสที่บรรทุกทหารอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย อินเดียจึงโจมตีทางอากาศในดินแดนของปากีสถานและอ้างว่าโจมตีศูนย์ฝึกของกลุ่มก่อการร้าย
ต่อมาปากีสถานได้ยิงเครื่องบินรบของอินเดียตกและจับนักบินไว้ได้ แต่สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายลงหลังจากนักบินอินเดียได้รับการปล่อยตัวในอีกไม่กี่วันต่อมา
-2025 : อินเดีย-ปากีสถาน เปิดฉากโจมตีกันอีกครั้ง-
กลุ่มติดอาวุธโจมตีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียในเมืองตากอากาศปาฮาลกัมของภูมิภาคแคชเมียร์ ทำให้ชาย 26 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูเสียชีวิต อินเดียกล่าวโทษปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ปากีสถานปฏิเสธ
ด้านอินเดียประกาศว่าจะตามล่าผู้ก่อเหตุจนสุดขอบโลก ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายยกเลิกวีซ่าสำหรับพลเมืองของกันและกัน เรียกตัวนักการทูตกลับประเทศ ปิดจุดผ่านแดนทางบกเพียงแห่งเดียว และปิดน่านฟ้าระหว่างกัน รวมไปถึงการระงับสนธิสัญญาแบ่งปันแม่น้ำ จนกระทั่งอินเดียเปิดฉากโจมตีปากีสถานในเช้าวันพุธ (7 พ.ค.)
(Photo by Sajjad HUSSAIN / AFP)