แอปฯ ล่าเหรียญ Jagat เปลี่ยนกฎใหม่หลังคนแห่เล่นจนสร้างความวุ่นวาย

23 ม.ค. 2568 - 06:02

  •   แอปฯ Jagat ประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับการเล่นเกม ล่าขุมทรัพย์ตามเก็บเหรียญ

  • คนทุกวัยและทุกกลุ่มออกค้นหาสถานที่ซ่อนเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นกำแพง ต้นไม้ รั้วสวนสาธารณะ หรือแม้แต่รางน้ำ จนสร้างความเดือดร้อนและทรัพย์สินเสียหาย

  • ภายใต้กฎใหม่นี้ผู้เล่นต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมบริการชุมชนเพื่อปลดล็อกคำใบ้ใหม่ในการตามล่าเหรียญ

indonesia-gaming-jagat-shifts-to-public-good-amid-vandalism-backlash-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจากมีรายงานว่าผู้เล่นสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไปทั่วอินโดนีเซีย แอปพลิเคชัน Jagat ที่กำลังเป็นไวรัลทั้งในบ้านเราและในอินโดนีเซีย ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับการเล่นเกม ล่าขุมทรัพย์ตามเก็บเหรียญ 

เป้าหมายแรกเริ่มของแอปฯ ในการช่วยให้ผู้ใช้งานได้เชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัว ถูกบดบังด้วยความคลั่งไคล้ฟีเจอร์ใหม่ นั่นคือการตามล่าเหรียญ ซึ่งผู้เล่นใช้โทรศัพท์เพื่อติดตามเหรียญขนาดเท่าฝาขวดที่ซ่อนอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน 

แต่ละเหรียญ ซึ่งมีทั้งเหรียญทองแดง เงิน และเหรียญทองมีมูลค่าต่างกันตั้งแต่ 18 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึง 6,105 ดอลลาร์สหรัฐ  

กระแสดังกล่าวทำให้คนทุกวัยและทุกกลุ่มออกค้นหาสถานที่ซ่อนเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นกำแพง ต้นไม้ รั้วสวนสาธารณะ หรือแม้แต่รางน้ำ แม้ว่า Jagat จะยืนยันแล้วว่าเหรียญไม่ได้อยู่ในน้ำ ใต้ดิน หลังก้อนอิฐ หรือในพื้นที่ต้องห้าม บวกกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้นถึงวันละ 200,000 คนใน Google Play จนขณะนี้มีผู้ใช้งานรวมเกิน 5 ล้านคน

ในเวลาต่อมาจึงมีการร้องเรียนตามมา ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายในที่สาธารณะ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยในแหล่งรวมเหรียญที่สำคัญ เช่น จาการ์ตา บันดุง และสุราบายา อาทิ ต้นไม้ถูกเหยียบย่ำ บล็อกปูพื้นถูกรื้อออก 

กระทรวงการสื่อสารและดิจิทัลของอินโดนีเซียจึงเรียก แบร์รี บีแกน ผู้ร่วมก่อตั้ง Jagat เข้าชี้แจง โดยบีแกนกล่าวว่า “จากการหารือกับกระทรวง เราจะเปลี่ยนฟีเจอร์การล่าเหรียญเป็น Misi Jagat (ภารกิจ Jagat) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อพื้นที่สาธารณะ”

ภายใต้กฎใหม่นี้ ผู้เล่นต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมบริการชุมชน เช่น เก็บขยะ ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ หรือสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และยังต้องถ่ายคลิปการทำความดีเหล่านี้ลงใน TikTok โดยใช้แฮชแท็ก #MisiJagat และ #GenerasiPeduli เพื่อเป็นการยืนยันว่าทำจริง เพื่อปลดล็อกคำใบ้ใหม่ในการตามหาเหรียญ 

นอกจากนี้ Jagat ยังระงับการล่าเหรียญ 3 วันเพื่อนำเหรียญออกจากพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย รวมถึงเปิดช่องทางการร้องเรียนให้สาธารณชนแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์ม

“เราเชื่อว่ากฎใหม่นี้จะช่วยนปรับปรุงสถานที่สาธารณะ ในขณะที่ผู้ใช้ก็มีส่วนร่วมกับการกระทำเชิงบวก”

แบร์รี บีแกน ผู้ร่วมก่อตั้ง Jagat

ผู้เล่นที่ไม่ระมัดระวังหรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินจะถูกแบนถาวร

หลังประกาศกฎใหม่ก็มีหลายปฏิกิริยาตอบรับ โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนพากันแสดงความคิดเห็นและแนะนำผ่านโซเชียลมีเดีย บางคนติติงพื้นที่ที่จำกัด ผู้ใช้คนหนึ่งบอกว่า “ทำที่จังหวัดอื่นด้วย ไม่ใช่ทำแต่ในจาการ์ตา บันดุง สุราบายา กับบาหลี” คนอื่นโดยเฉพาะคนที่จ่ายเงินตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการซับสไครบ์ของพวกเขาหลังเปลี่ยนกฎใหม่ 

ขณะที่ อังกา รากา ปราโบโว โฆษกกระทรวงการสื่อสารและดิจิทัลเผยว่า “หากผู้พัฒนาแพลตฟอร์มฝ่าฝืนกฎ เราจะดำเนินการทันที”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์